ผ่อนคลายจิตใจที่เหนื่อยล้า ด้วยการอาบป่า Forest Bathing

  • ศาสตร์การอาบป่า เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1980 ประเทศญี่ปุ่น เมื่อผู้คนเกิดความเครียดจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง ส่งผลให้รัฐบาลผลักดันให้คนเดินทางออกจากบ้านและสัมผัสธรรมชาติมากขึ้น เพื่อบำบัดจิตใจ คลายความทุกข์ให้เบาลง
  • การอาบป่า (Forest Bathing) มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ‘ชินริน-โยกุ’ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาเชิงป้องกันที่ได้รับความนิยมทั่วโลก จากผลการวิจัยของอาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยนิปปอน พบว่า ‘สารไฟทอนไซด์’ และ ‘ไมโครไบโอม’ ในป่าช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เพชฌฆาต (Natural Killer Cell) ทำหน้าที่กำจัดเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการคลายความเครียด ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าอีกด้วย
  • สำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นอาบป่า ควรเปิดใจใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ค่อย ๆ ซึมซับบรรยากาศของป่าอย่างช้า ๆ และวางแผนการอาบป่าให้เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งในด้านร่างกาย ค่าใช้จ่าย รวมถึงระยะเวลา เพื่อไม่ให้รู้สึกกดดัน จนไม่ผ่อนคลายอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ทำให้จิตใจไม่สงบ ลองหลบความวุ่นวาย ปล่อยกายให้ธรรมชาติบำบัดด้วยการอาบป่า ศาสตร์แห่งการเยียวยาที่จะปลดเปลื้องความเหนื่อยล้า บรรเทาอาการว้าวุ่นด้วยสายลม แสงแดด และผืนหญ้าเขียวขจี เพื่อให้ร่างกายฟื้นคืนพลัง พร้อมกลับมาต่อสู้กับวิถีชีวิตแสนเร่งรีบต่อไป

ถ้าทุกคนพร้อมแล้วลองหลับตา เงี่ยหูฟังเสียงธารน้ำไหล คลอไปกับเสียงของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ค่อย ๆ สูดลมหายใจ ดมกลิ่นอายดิน และเปิดผัสสะทั้ง 5 เพื่อโอบรับของขวัญจากธรรมชาติกัน…

รู้จักศาสตร์การอาบป่า หนทางเยียวยาด้วยธรรมชาติ

โรเบิร์ต ฟาริส (Robert Faris) และ เอช. วอร์เรน ดันแฮม (H. Warren Dunham) นักสังคมศาสตร์ ตั้งข้อสงสัยถึงการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมอันวุ่นวายในเมืองหลวง โดยเริ่มศึกษาจากย่านสลัมในชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ข้อสรุปว่า ผู้คนที่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเภทสูงกว่าเขตอื่น งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ‘สังคมเมือง’ มีผลต่อสุขภาพกายและใจของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหานี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น สวนสาธารณะจึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นจุดผ่อนคลายสำหรับคนเมือง แต่จะดีกว่าไหม… ถ้าเราได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติ ดื่มด่ำกับบรรยากาศร่มเย็นได้เต็มที่

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1980 ยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเต็มที่ เทคโนโลยีพัฒนาจนเต็มพิกัด พื้นที่สีเขียวถูกแทนที่ด้วยสิ่งก่อสร้าง แถมการจราจรก็แน่นขนัด ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็ติดขัดไปหมด ส่งผลให้ผู้คนเกิดความเครียด เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไปโดยไม่ทันตั้งตัว รัฐบาลจึงส่งเสริมให้ประชาชนออกไปสัมผัสธรรมชาติ เพื่อบำบัดจิตใจให้สงบ ‘ศาสตร์การอาบป่า’ จึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา

การอาบป่า (Forest Bathing) หรือ ‘ชินริน-โยกุ’ คือ การโอบรับธรรมชาติด้วยผัสสะทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ปาก และสัมผัส ซึ่งการอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ อ้างอิงจากงานวิจัยของ ควิง ลี่ (Qing Li) อาจารย์มหาวิทยาแพทย์นิปปอน โดยสังเกตจากเซลล์ภูมิคุ้มของผู้ร่วมการทดลอง ระหว่างก่อนและหลังจากเข้าป่า พบว่า หลังจากอาบป่าแล้ว เซลล์พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงสภาวะจิตใจที่มั่นคงขึ้นด้วย ส่งผลให้ฮอร์โมนความเครียด และระดับความดันเลือดลดลง การอาบป่าจึงกลายเป็นหนทางใหม่ในการรักษาเชิงป้องกัน (Preventative Healthcare) ที่นิยมใช้ทั่วโลก

โอบกอดของขวัญจากธรรมชาติ ด้วยการอาบป่า

ศาสตร์อาบป่า คือการดื่มด่ำกับทิวทัศน์อย่างช้า ๆ พร้อมปล่อยกายใจให้ผ่อนคลาย เพียงแค่สัมผัสดิน สูดกลิ่นอายธรรมชาติก็สามารถเยียวยาวร่างกายได้แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจาก ‘สารไฟทอนไซด์ (Phytoncide)’ น้ำมันหอมระเหยที่พบได้ในป่า โดยต้นไม้จะปล่อยสารนี้เพื่อป้องกันตัวจากเชื้อรา แบคทีเรีย รวมถึงแมลงต่าง ๆ ที่จะเข้ามากัดกินใบไม้และลำต้น ซึ่งน้ำมันหอมระเหยนี้จะส่งผลดีต่อมนุษย์ การสูดดมไฟทอนไซด์จะช่วยเพิ่มการทำงานของเซลล์เพชฌฆาต (Natural Killer Cell) เซลล์ตัวสำคัญที่ทำหน้าที่กำจัดเชื้อไวรัส และเซลล์มะเร็ง ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต่อโรคร้าย รวมถึงมีสรรพคุณในการผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าด้วย

นอกจากสารไฟทอนไซด์แล้ว ระหว่างอาบป่าเรายังได้สัมผัสกับ ‘ไมโครไบโอม (Microbiome) จุลินทรีย์ในดินที่มีส่วนช่วยในการเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ ดังนั้น การจับดินหรือเล่นใบไม้ จึงเป็นกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกปลอดโปร่งสบายใจ สารไฟทอนไซด์และไมโครไบโอมจึงนับเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่เราจะได้รับเมื่อเดินทางเข้าไปอาบป่านั่นเอง

พักสมองแล้วเก็บของไปอาบป่า

หลังจากรู้ประโยชน์ของการอาบป่าแล้ว หลายคนคงอยากเก็บกระเป๋า ลองเข้าป่าให้ธรรมชาติบำบัดดูบ้าง วันนี้ Short Recap จึงรวบรวมจุดอาบป่าในประเทศไทย พร้อมวิธีเตรียมตัวเยียวยาจิตใจฉบับมือใหม่มาให้แล้ว!

คู่มือเตรียมตัวก่อนไปอาบป่า ฉบับมือใหม่ 101

  • เปิดผัสสะทั้ง 5 เพื่อเข้าถึงการอาบป่าแบบเต็มรูปแบบ

ก่อนจะเริ่มต้นอาบป่า เราควรเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยการปิดเทคโนโลยีกวนใจ เช่น โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาปลุก หรือเครื่องเล่นเกมซะก่อน จากนั้นค่อยเปิดผัสสะทั้ง 5 เพื่อให้ใจได้ผ่อนคลาย สามารถจดจ่อกับการอาบความสุขในป่าได้เต็มที่ โดยมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้

1. ใช้ตาพิจารณาธรรมชาติ มองความงดงามที่อยู่ใกล้ตัว

2. ฟังเสียงของป่าใหญ่ ทั้งเสียงนก เสียงไม้ และสรรพสิ่งรอบกาย

3. สูดกลิ่นความสดชื่น ทำร่างกายให้ตื่นตัวด้วยสารไฟทอนไซด์

4. ลิ้มรสวัตถุดิบสดใหม่ สนุกกับรสชาติที่หลากหลาย เรียนรู้ความมหัศจรรย์ของพันธุ์พืช

5. สัมผัสป่า ลองจับต้นไม้ ใบหญ้า ผืนดิน และธารน้ำ พร้อมโอบรับบรรยากาศที่ช่วยให้ใจผ่อนคลาย

  • กำหนดเป้าหมาย และวางแผนการอาบป่าให้เหมาะสม

สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยอาบป่า รวมถึงขาดประสบการณ์เทรกกิ้ง ควรเริ่มต้นจากการวางแผนให้เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งด้านสภาพร่างกาย ค่าใช้จ่าย และระยะเวลาเดินทาง โดยระหว่างอาบป่าไม่ควรเร่งรีบ หรือฝืนตัวเองมากเกินไป หากเหนื่อยก็หยุดพัก อย่าปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องกดดัน เพราะจุดประสงค์ของการอาบป่า คือช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่ใช่การดึงดันบรรลุเป้าหมายเพื่อชัยชนะ

  • การอาบป่าช่วยผ่อนคลาย แต่ไม่สามารถแก้โรคร้ายให้หายขาด

หนึ่งสิ่งที่ควรรู้ก่อนออกเดินทาง คือ การอาบป่าเป็นหนทางเยียวยาด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด แม้จะส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจ แต่ก็ไม่สามารถรักษาโรคร้ายให้หายขาดได้ การรับสารไฟทอนไซด์และไมโครไบโอมเป็นแค่ตัวช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เท่านั้น ถ้ามีอาการป่วยหนัก ต้องเข้ารับรักษาและปรึกษาแพทย์อย่างจริงจัง หลังจากนั้นค่อยเก็บกระเป๋า แล้วมาเยียวยาหัวใจในป่าใหญ่ก็ยังได้

ถ้าเตรียมกายพร้อม ใจพร้อม ของในกระเป๋าพร้อมแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ออกเดินทางสู่จุดอาบป่าได้เลย! มาดูสถานที่อาบป่าที่น่าสนใจในประเทศไทย เหมาะสำหรับเอนกาย พักผ่อนใจในวันที่เหนื่อยล้ากัน

5 จุดอาบป่าที่น่าสนใจในประเทศไทย

1. กลุ่มอาบป่า จังหวัดกาญจนบุรี

กลุ่มอาบป่าที่เริ่มขึ้นจากการอนุรักษ์ต้นไม้ ต่อยอดจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ได้รับความนิยม จากกิจกรรมการอาบป่าที่ทำให้ผู้คนได้ทบทวนใจตัวเอง พร้อมที่พักโฮมสเตย์ใกล้ธรรมชาติ ช่วยให้นักเดินทางได้สัมผัสบรรยากาศของป่าอย่างแท้จริง

ข้อมูลติดต่อ

Facebook: https://www.facebook.com/KanchanaburiForestBathing

E-mail: forest.bathing.kanchanaburi@gmail.com

2. อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช

สัมผัสประสบการณ์อาบป่า บนความสูง 1,835 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล พร้อมน้ำตกและจุดชมวิวสุดตระการตา หากใครไม่อยาก Backpack ไปเอง เพจเฟซบุ๊ก ‘ห้องเรียนธรรมชาติ’ เปิดทัวร์นำอาบป่าในราคาสบายกระเป๋า เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ต้องการเริ่มต้น

ข้อมูลติดต่อ

Facebook: https://www.facebook.com/lomfonnaturecamp

โทรศัพท์: 082-824-4615

3. อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เดินทางไปอาบป่า พร้อมสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดที่ ‘อุทยานแห่งชาติกุยบุรี’ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้นชื่อในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่นี่มีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย อาทิ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ทัวร์ส่องสัตว์ในอุทยาน และการอาบป่าท่ามกลางกลิ่นตอไม้จันทน์หอม ไม้หายากที่จะส่งกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ข้อมูลติดต่อ

Facebook: https://www.facebook.com/kuiburinp.thailand

โทรศัพท์: 081-776-2410

4. ผาเก็บตะวัน จังหวัดนครราชสีมา

ออกไปกางเต็นท์ เก็บตะวันท่ามกลางเมฆหมอก บนป่าลานที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย แถมอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ เหมาะสำหรับคนไม่มีเวลาที่อยากอาบป่าเพื่อผ่อนคลายแบบเร่งด่วน

ข้อมูลติดต่อ

Facebook: https://www.facebook.com/ThapLan.NP

โทรศัพท์: 092-550-0172

5. อาบป่ากับ ‘Forest Bathing with Mint Barefoot’ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่าไม้

เรียนรู้ศาสตร์การอาบป่ากับ ‘คุณมิ้นท์’ เจ้าของเพจ Forest Bathing with Mint Barefoot ผู้เชื่อว่าธรรมชาติสามารถบำบัดได้ถึงจิตวิญญาณ โดยเธอรับหน้าที่เป็นไกด์ พาลูกทัวร์ไปอาบป่าตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งแบ่งเป็นแบบส่วนตัว แบบกลุ่ม และแบบเวิร์กช็อปที่รับจำนวน 5 คนขึ้นไป หากสนใจสามารถติดต่อไปที่เพจ เพื่อเรียนรู้การอาบป่าเบื้องต้นกับเธอได้เลย

ข้อมูลติดต่อ

Facebook: https://www.facebook.com/Mintbarefoot

Website: https://linktr.ee/mintbarefoot

การอาบป่าถือเป็นหนทางแห่งการเยียวยาด้วยธรรมชาติบำบัด ในช่วงวันหยุดนี้ถ้าไม่รู้จะเดินทางไปไหน ลองให้ป่าเขา ธารน้ำใส และต้นไม้ใหญ่เป็นคำตอบ ดังคำกล่าวของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่ว่า “มองลึกเข้าไปในธรรมชาติ แล้วคุณจะเข้าใจทุกอย่างได้ดีขึ้น” เพราะมนุษย์นั้นจำเป็นต้องดำรงอยู่คู่กับธรรมชาติ หากขาดสมดุลไป ร่างกายและจิตใจเราก็คงจะไม่สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

SHARE

RELATED POSTS

คิดงานไม่ออกทำไงดี?10 วิธีจัดการสมองตันให้กลับมาไอเดียแล่นอีกครั้ง อาการคิดงานไม่ออกเกิดจากการใช้สมองที่มากเกินไป ทำให้สมองตัน…
การอยู่ตัวคนเดียวแม้จะเหงาแต่ก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป มาดูข้อดีของการอยู่คนเดียวบ้างดีกว่าว่าจะทำให้ชีวิตมีอิสระและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไรกัน…