
“ไม่บอกว่าเป็นเพศอะไร
เพราะไปไกลเกินกว่าที่จะเป็นแค่ LGBTQ”
- เพศในปัจจุบันนั้นมีมากกว่า LGBT สังคมจึงกำหนดให้คำว่า Queer เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่ไม่จำกัดตนว่าเป็นเพศอะไร แต่ถึงแม้จะมีคำเรียกนี้ ก็ไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่าตัวเองคือเควียร์
- คนส่วนใหญ่คิดว่า Queer คือพวกที่มีรสนิยมแปลกประหลาด และการที่ไม่บอกว่าตนเองเป็นเพศอะไรอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะอย่างน้อยก็มีที่ยืนในสังคมได้หลาย ๆ ที่
- และรสนิยมทางเพศนั้นมีหลากหลาย ลื่นไหลไปได้เรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับที่เสมอไป

ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเพศนั้นมีความหลากหลาย นอกจากเพศหญิงและเพศชายที่เราได้รับมาแต่กำเนิดแล้ว ยังมีเพศอื่น ๆ ที่เราต่างก็คุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นตุ๊ด เกย์ กะเทย หรือเลสเบี้ยน โดยปกติเรารู้กันดีว่าเราจะใช้คำเหล่านี้เรียกแทนเพศแบบไหน แต่ปัจจุบันเราพบว่ามีเพศอื่น ๆ อีกมากมายจนไม่รู้ว่าต้องเรียกเพศอะไร เพราะบางคนก็มีรสนิยมชอบหลายแบบและเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ ทำให้ยังไม่มั่นใจกับเพศของตนและไม่สามารถบอกได้ หรือแม้แต่บางคนที่มั่นใจและระบุแล้วว่าตนเองเป็นเพศ ๆ นั้น ผ่านไป 2-3 ปี อาจมีรสนิยมเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง กลายเป็นว่า ‘ไม่รู้ตนเองเป็นเพศไหนกันแน่ หรือสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันเรียกว่าเพศอะไร’ สุดท้ายจึงเลือกที่จะไม่บอกเพศเสียดีกว่า
“หรืออาจจะต้องบอกว่าเป็น Queer ?”

เราเริ่มเห็นแล้วว่าปัจจุบันมีการเพิ่มตัว Q มาต่อท้ายคำว่า “LGBT” เป็น “LGBTQ” ซึ่ง Q นั้นย่อมาจาก Queer (เควียร์) คือ ‘คนที่ไม่จำกัดตนเองว่าเป็นเพศอะไร’ ดูไปดูมาคำนี้เหมือนจะใช้ได้นะ แต่กลับกลายเป็นว่าหลายคนเลือกที่จะไม่บอกว่าตัวเองเป็นเควียร์มากกว่า เพราะอะไรน่ะเหรอ ?
Queer = แปลก
เหตุผลเพราะบางคนพอได้ยินคำว่า Queer ปุ๊บ ก็มักจะมองว่าเป็นคนที่มีรสนิยมไม่คงที่และแปลกประหลาด เช่น เป็นผู้ชายแต่ทาเล็บ ไว้ผมยาวแบบผู้หญิง หรือมีสไตล์การแต่งตัวแนว Gothic แทบไม่มีใครมองเควียร์ในความหมายแบบที่นิยามเอาไว้ ทำให้คำว่า “Queer” ถูกมองในแง่ลบ ขณะเดียวกันยังถูกมองว่าเป็นคำเหยียดสำหรับคนบางกลุ่ม แม้ว่าปัจจุบันจะมีความหมายในทางบวกแล้วก็ตาม ดังนั้น การที่จะบอกว่าตัวเองเป็นเควียร์อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครบางคน

ไม่บอกว่าเป็นเพศอะไร อาจจะดีกว่าบอกว่าเป็น “Queer”
เพราะสังคมไม่ได้อ้าแขนกว้างพอที่จะยอมรับมันได้จริง ๆ
จากการศึกษาและสัมภาษณ์เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เหตุผลที่เลือกจะไม่บอกว่าเป็นเพศอะไร เพราะสมัยที่เพศทางเลือกยังไม่ถูกยอมรับ พวกเขาถูกผลักให้กลายเป็นอื่น ทำให้รู้สึกแตกต่าง บางคนมองว่าเพศเหล่านี้มีจิตที่ไม่ปกติ และในบางประเทศถึงกับทำร้ายร่างกาย สร้างความเจ็บปวดให้กับพวกเขาอย่างมาก ซึ่งความเจ็บปวดที่ทรมานที่สุดก็คงเป็นการที่คนในครอบครัวไม่สามารถยอมรับได้ จนต้องเก็บไว้เป็นความลับ ทำให้อึดอัดที่จะทำสิ่งที่ตัวเองชอบ
แต่เมื่อเพศทางเลือกถูกยอมรับมากขึ้น ก็ทำให้บางคนกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนว่าเป็นเพศอะไรใน LGBT พอไม่ได้เป็นตามที่ได้จำแนก กลับกลายเป็นว่าฉันแปลกประหลาด เพียงเพราะรสนิยมของฉันแปรเปลี่ยนไปมา และยิ่งทำให้การยอมรับจากคนในสังคมเกิดยากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น
“ฉันไม่บอกดีกว่าว่าเป็นเพศอะไร และการนิ่งเฉยอาจทำให้ฉันมีที่ยืนในสังคมมากกว่าที่ต้องพูดออกมา”
‘เพราะเพศของเราทุกคนลื่นไหลไปได้ไกลกว่าที่เราคิด
และบางครั้งก็ไปไกลเกินกว่าที่จะถูกยอมรับได้’

สุดท้ายแล้ว มันไม่ผิดที่เขาจะไม่บอก และเราก็ไม่ผิดที่อยากรู้ เพียงแต่เรื่องเพศเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน และบางครั้งตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะบอกเรายังไง บางคนอาจมีเหตุผลส่วนตัวที่ไม่สามารถพูดออกมาได้ และนั่นอาจเป็นวิธีเซฟความรู้สึกของเขาได้ดีที่สุด