Search
Close this search box.
Craftivist Collective

Craftivist Collective
กลุ่มประท้วงที่ปักผ้าเพื่อหวังเปลี่ยนสังคม

  • ‘Craftivist Collective’ คือกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใช้วิธีปักผ้าเป็นข้อความให้ผู้คนตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาสังคม การเมือง สิทธิมนุษยชน ฯลฯ
  • โปรเจคนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2009 โดยซาราห์ คอร์เบตต์ (Sarah Corbett) หญิงสาวผู้ชื่นชอบงานปักผ้าที่มีโอกาสคลุกคลีกับเวทีประท้วงตั้งแต่เด็ก จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า “ความรุนแรงสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้จริงหรือ”
  • ทำให้เกิดการรวมตัวของคนรักงานปักทั่วโลกที่ใช้เข็มกับด้ายเป็นสื่อกลาง ปัจจุบัน Craftivist Collective ได้ร่วมงานกับทั้งองค์กรการกุศล ภาครัฐ สถานศึกษา และภาคเอกชนจากทั่วทุกมุมโลก

กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงและเวทีแสดงออกทางการเมืองในภาพจำของคุณเป็นอย่างไร ? บางคนอาจจินตนาการถึงเสียงโห่ร้องเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจ มองเห็นป้ายไวนิลที่ขีดเขียนข้อความแสดงจุดยืนของฝ่ายตนเองและโจมตีฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงการใช้ถ้อยคำต่อว่าหยาบคาย หรือการชุมนุมประท้วงที่ใช้กำลังต่อสู้ (ซึ่งภาพสุดท้ายนี้คือเหตุการณ์ที่เราไม่อยากจะเห็นมันที่สุด)

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมล่ะว่ามนุษย์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์สังคมนั้นย่อมหลีกเลี่ยง ‘ความแตกต่าง’ ไม่ได้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วเราสามารถเห็นต่างได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือเกิดความแตกแยกแม้แต่น้อย

รู้จักการประท้วงอย่างสันติ Craftivist Collective

Craftivist Collective คือกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่เลือกใช้เพียงแค่ ‘เข็ม ด้าย และผืนผ้า’ มาเป็นอาวุธในการแสดงจุดยืนทางสังคม Craftivist Collective ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดย ซาราห์ คอร์เบตต์ (Sarah Corbett) หญิงสาวที่คลุกคลีอยู่กับเวทีประท้วงและกลุ่มผู้เคลื่อนไหวสังคมตั้งแต่เด็ก เธอเลือกแสดงจุดยืนเพื่อต้องการเห็น ‘ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง’ ด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไมการประท้วงต้องกระทำในรูปแบบรุนแรงเสมอ”

ความสงสัยใคร่รู้นี้เอง จึงนำมาสู่การรวมกลุ่มระหว่างเหล่านักปักผ้าทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ที่ร่วมกันใช้สองมือและฝีเข็มผนึกกำลังปักข้อความที่ต้องการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ต่อมาเมื่อเกิดกระแสในวงกว้างจึงได้ร่วมมือกับหลากหลายองค์กรการกุศล มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนต่างๆ เพื่อใช้งานปักผ้าเป็นพื้นที่แสดงข้อความกระตุ้นให้สังคมเกิดการตระหนักรู้ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ ต่อไป

เสียงที่ Craftivist Collective ต้องการส่งไปให้ถึง

เป้าหมายของ Craftivist Collective ไม่ใช่การรับรู้ขององค์กรขนาดใหญ่ แต่ต้องการให้ข้อความบนผ้าปักนั้นได้สื่อสารไปยังกลุ่มคนเล็กๆ โดยทุกคนมีโอกาสได้เห็นข้อความรณรงค์จากโครงการ รวมทั้งสามารถหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาบันทึกภาพและโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และเป็นกระบอกเสียงให้แก่ Craftivist Collective ได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนเสน่ห์ของการประท้วงด้วยงานฝีมือก็คือ ผู้คนที่รับสารไม่มีทางผละหนีสิ่งที่ผู้ประท้วงต้องการสื่อ อธิบายง่ายๆ เลยก็คือ หากเป็นเวทีประท้วงที่มีการชุมนุมแบบตะโกนใช้เสียงดัง เป็นธรรมชาติที่ผู้ฟังอาจจะค่อยๆ เขยิบถอยหลังหากข้อความตรงหน้านั้นรุนแรงเกินไป แต่ในทางกลับกันผืนผ้าที่ปักข้อความชวนฉุกคิดนี้ สามารถทำให้ผู้คนหยุดมองและเขยิบเข้าใกล้ทั้งยังใช้เวลาอยู่กับงานปักนั้นนานขึ้นกว่าเดิม

Craftivist Collective กับการ ‘ปักเพื่อเปลี่ยน’

พลังจากงานปักที่ขับเคลื่อนสังคมนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ในประเทศอังกฤษเท่านั้น เพราะ Craftivist Collective ยังเป็นกระบอกเสียงให้แก่เหล่าผู้หญิงที่ประเทศชิลี ผู้ได้รับผลกระทบจากผู้นำเผด็จการ อูกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) นอกจากนี้งานฝีมือผ้าปักจากผู้หญิงเหล่านี้ยังสนับสนุนให้ประชาชนระดับรากหญ้าได้ออกมาแสดงความเห็นและบันทึกความโศกเศร้าจากการเสียชีวิตและหายตัวไปของบุคคลที่พวกเธอรัก

‘Hankie for Hope โครงการที่ต่อต้านความอยุติธรรมของนักโทษประหารชีวิต ด้วยการร่วมมือกันปักชื่อนักโทษที่เสียชีวิตบนผ้าเช็ดหน้า จากนั้นจึงเย็บต่อกันจนเป็นผ้าผืนใหญ่เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการสื่อสารอย่างมีมนุษยธรรม และไม่มีทางนิ่งเฉยต่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกกล่าวโทษโดยรัฐ

ทางด้านแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง ‘Marks and Spencer’s’ ก็ร่วมจัดแคมเปญโดยใช้งานปักผ้ารณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานให้เหมาะสมตามค่าครองชีพ

‘Fashion Revolution’  แคมเปญที่ใช้ผ้าปักข้อความเตือนใจ และแอบนำไปหย่อนไว้ในกระเป๋าเครื่องแต่งกายของแบรนด์เสื้อผ้าทั่วโลก เพื่อต้องการใช้นักชอปนึกถึงช่างเย็บเสื้อผ้าที่อาจอยู่ในประเทศยากจน ให้พวกเขาได้เงินคุ้มค่าเหนื่อย รวมถึงยังมีการรณรงค์ให้หันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า

บทเรียนที่ได้รับจากการประท้วงด้วยผ้าปัก

แนวคิดของ Craftivist Collective แสดงให้เห็นว่าเราสามารถขับเคลื่อนและยึดมั่นในอุดมการณ์ได้โดยไม่ต้องสร้างศัตรู แต่ควรเลือกที่จะสร้างสะพานโดยการใช้แก่นแท้ที่เรียกว่า Gentle protest มาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลง หากจะให้นำมาปรับมาใช้กับเมืองไทยนั้นก็คงต้องบอกว่า ถึงเวลาทบทวนบทสนทนาหรือวาทกรรมของนักการเมืองและกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางสังคมแล้วว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ?

แต่ที่ทราบคำตอบแล้วตอนนี้ก็คือ วิธีเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงและก้าวร้าวไม่ใช่สิ่งสวยงามอย่างแน่นอน เพราะความเมตตา เห็นอกเห็นใจและความรักต่างหาก ที่เป็นกลยุทธ์ในการสร้างข้อความแสดงความคิดเห็น ที่สามารถเปิดใจผู้คนและสังคมให้นำไปสู่ทิศทางที่ดียิ่งขึ้น

SHARE

RELATED POSTS