เปิดโลกนักรังสีเทคนิค อาชีพใหม่มาแรงที่ตลาดต้องการ | Advertorial
- นักรังสีเทคนิค หรือ นักรังสีการแพทย์ คือผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจ วิเคราะห์ และรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสี โดยแบ่งเป็น 3 สายหลัก ได้แก่ รังสีวินิจฉัย, รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- อาชีพนักรังสีเทคนิคยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากอัตราการผลิตบัณฑิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้บัณฑิตมีงานรองรับทันที และมีการเติบโตในสายงานอย่างต่อเนื่อง
- โดยนักรังสีเทคนิคจำเป็นต้องเรียนจบสาขาวิชารังสีเทคนิค ซึ่งปัจจุบันมีหลายสถานบันชั้นนำในประเทศไทยที่เปิดสอน เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น
ในปัจจุบัน ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ในตลาดแรงงานยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยให้เพียงพอ โดยเฉพาะสายงานวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาชีพ ‘นักรังสีเทคนิค’ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่เพียงแต่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสเติบโตในสายอาชีพอย่างต่อเนื่อง
ทำความรู้จักนักรังสีเทคนิค
นักรังสีเทคนิค หรือ นักรังสีการแพทย์ คือผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการทางการแพทย์ในการตรวจ วิเคราะห์ และรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสี รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของตนเอง คนไข้ ญาติ และผู้ร่วมปฏิบัติงานจากอันตรายของรังสี โดยอาชีพรังสีเทคนิคสามารถแบ่งสายงานออกได้เป็น 3 สาย ได้แก่
1. รังสีวินิจฉัย (Radiation Diagnostic) ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยโรคโดยใช้เครื่องมือทางรังสีเทคนิค
2. รังสีรักษา (Radiotherapy) ทำหน้าที่ประยุกต์ใช้รังสีเพื่อการรักษาโรคต่าง ๆ
3. เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine) คือสายงานที่นำสารเภสัชรังสีมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค
นอกจากนี้ นักรังสีเทคนิคยังต้องทำงานประสานกับวิชาชีพอื่น ๆ เช่น แพทย์ ในกรณีที่มีการลงความเห็นว่าจำเป็นต้องทำการรักษาผ่านรังสีเทคนิค และพยาบาลที่จะช่วยเป็นคนกลางประสานงานกับแพทย์และคนไข้ รวมถึง นักเคมีเมื่อมีการรักษาเฉพาะด้าน
โอกาสเส้นทางอาชีพนักรังสีเทคนิค
ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ กิตติพยัคฆ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันอาชีพนักรังสีเทคนิคยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนนักรังสีเทคนิคที่จบการศึกษาในแต่ละปียังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากสาขารังสีเทคนิคแทบไม่ต้องกังวลเรื่องการหางาน เพราะมักจะได้รับการติดต่อจองตัวจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
สำหรับรายได้เริ่มต้นของนักรังสีเทคนิคจะอยู่ที่ประมาณ 17,000 – 40,000 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล และหากได้รับใบประกอบโรคศิลป์แล้ว ก็จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมอีก
นอกจากนี้ อาชีพนักรังสีเทคนิคยังมีโอกาสต่อยอดไปสู่อาชีพอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น นักวิจัย นักวิชาการ อาจารย์ หรือตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือทางแพทย์ ซึ่งล้วนเป็นสายงานที่มีความต้องการในตลาดแรงงานและรายได้สูงไม่แพ้กัน
อยากเป็นนักรังสีเทคนิคต้องเรียนอะไร
สำหรับใครที่อยากเป็นนักรังสีเทคนิค คุณสมบัติสำคัญเลยคือจะต้องสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค (วทบ.) โดยสามารถเลือกศึกษาต่อได้เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทย์-คณิต หรือมีวุฒิเทียบเท่า โดยการเรียนคณะนี้ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี และตอนนี้ในประเทศไทยมีหลายสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรรังสีเทคนิค เช่น
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค โรงเรียนรังสีเทคนิค คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิคคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
นักรังสีเทคนิคเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงและเปิดกว้างด้วยโอกาส หากคุณสนใจในงานสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและมองหาสายงานที่มั่นคงพร้อมความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง อาชีพนี้อาจเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับคุณ!