Search
Close this search box.
สาขาฉุกเฉินการแพทย์ เรียนอะไร

ส่องเส้นทางการเรียนสู่โอกาสอาชีพ ‘ฉุกเฉินการแพทย์’ | Advertorial

  • นักฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) คือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการด้านให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนที่จะส่งต่อผู้ประสบภัยให้แพทย์รักษา แต่ปัจจุบันยังคงมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อประชากร
  • หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ มี 3 รูปแบบหลัก คือ ปริญญาตรี 4 ปี, ปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) 2 ปี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 ปี โดยครอบคลุมการเรียนทฤษฎี การฝึกปฏิบัติ และการลงพื้นที่จริง เพื่อเตรียมความพร้อมประกอบวิชาชีพ
  • บัณฑิตจากหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์สามารถเลือกทำงานได้อย่างหลากหลาย เช่น นักฉุกเฉินการแพทย์บนรถพยาบาล, ณ ที่เกิดเหตุ, ในห้องฉุกเฉิน, ในสนามแข่ง หรือเป็นผู้รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน
  • ในปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยพะเยา, วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรืออาการป่วยเฉียบพลัน ทุกคนอาจคุ้นเคยกับภาพของเหล่านักฉุกเฉินการแพทย์และหน่วยกู้ภัยที่พร้อมเข้าช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จนนับว่าเป็นหนึ่งวิชาชีพที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตของคนในสังคม แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ นักฉุกเฉินการแพทย์ ยังเป็นอาชีพที่ขาดแคลนบุคลากรแม้ว่าจะมีความต้องการสูง และหลายคนก็อาจจะยังไม่รู้จักกับอาชีพนี้มากนัก วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์และเส้นทางอาชีพของบัณฑิตในสายงานนี้

หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์เรียนอะไร?

หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์

ก่อนอื่นเลยต้องบอกก่อนว่าสาขาฉุกเฉินการแพทย์ไม่ใช่การเรียนเพื่อเป็นหมอหรือพยาบาล แต่เน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะ ดังนั้น การเรียนการสอนจึงมุ่งที่จะเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างทันท่วงที โดยหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก คือ หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สำหรับน้อง ๆ ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในสายวิทย์-คณิต, หลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) 2 ปี สำหรับผู้ที่มีวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาฉุกเฉินการแพทย์หรือวุฒิเทียบเท่าที่ต้องการต่อยอดเพื่อรับวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพนักฉุกเฉินการแพทย์ และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 ปี สำหรับนักเรียนที่มีวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า

เรียนจบฉุกเฉินการแพทย์แล้วทำอาชีพอะไร?

หลายคนอาจสงสัยว่าเรียนจบหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์แล้วจะทำงานอะไรได้บ้าง นอกจากงานบนรถกู้ภัย พญ.เอม สิรวราภรณ์ อาจารย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายไว้ว่าสาขานี้มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือทางการแพทย์ขั้นสูง มีทักษะในการประเมินอาการและดูแลรักษาเบื้องต้น บัณฑิตจึงสามารถทำงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานในโรงพยาบาลหรือการปฏิบัติงานภาคสนาม เช่น

อาชีพ ฉุกเฉินการแพทย์

1. นักฉุกเฉินการแพทย์บนรถพยาบาล

หน้าที่หลักของนักฉุกเฉินการแพทย์บนรถพยาบาล คือการดูแลผู้ป่วยขณะเดินทางมายังโรงพยาบาล เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมขณะเคลื่อนย้ายมายังโรงพยาบาล

2. นักฉุกเฉินการแพทย์ ณ จุดเกิดเหตุ

หนึ่งในบทบาทสำคัญของนักฉุกเฉินการแพทย์ คือการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ ไฟไหม้ หรือภัยพิบัติ ซึ่งจะต้องทำการประเมินผู้ประสบภัยและทำการรักษาเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล

3. นักฉุกเฉินการแพทย์ในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล

บางครั้งนักฉุกเฉินการแพทย์อาจต้องปฏิบัติในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทีมช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ เนื่องจากต้องอาศัยทักษะหลากหลายด้าน เช่น การจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การทำหัตถการเบื้องต้น และการประสานงานกับทีมแพทย์เพื่อการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้อง

4. ผู้รับแจ้งเหตุสถานการณ์

นอกเหนือจากการเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์ ผู้ที่จบหลักสูตรนี้อาจรับหน้าที่ผู้รับแจ้งเหตุที่คอยรับสายฉุกเฉินเพื่อประเมินสถานการณ์ ก่อนทำการประสานงานกับทีมช่วยเหลือในพื้นที่ให้ไปถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที

5. นักฉุกเฉินการแพทย์ในสนามแข่งขันกีฬา

นอกจากนี้ อาจมีการไปเรียนต่อยอดด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อทำหน้าที่นักฉุกเฉินการแพทย์ในสนามแข่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ

อัปเดต! 8 มหาวิทยาลัยในไทยที่เปิดหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์

สถาบัน หลักสูตร ฉุกเฉินการแพทย์ ในไทย
  1. โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาฉุกเฉินการแพทย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  2. ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. สาขาฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  4. สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  5. สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา
  6. สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง
  7. สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  8. สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นักฉุกเฉินการแพทย์เป็นอาชีพสำคัญที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสร้างความมั่นคงให้กับระบบสุขภาพ แต่ยังคงมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้อาชีพนี้เป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงาน เรียนจบแล้วมั่นใจได้ว่าจะไม่ตกงานแน่นอน!

SHARE

RELATED POSTS

เช็กลิสต์! คู่มือเตรียมตัวเที่ยวต่างประเทศครั้งแรกสำหรับมือใหม่ การเที่ยวต่างประเทศครั้งแรกมีหลายสิ่งที่จำเป็นต้องเตรียมให้ครบถ้วน เพื่อให้การเดินทางปลอดภัยและราบรื่น…
ข้อควรดูก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมือสอง เช็กให้ครบจบทุกปัญหา บ้านมือสองที่ผ่านการอยู่อาศัยมาระยะหนึ่ง อาจมีสภาพเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา…