PM 2.5

ผลวิจัยชี้ “แค่สูด PM 2.5 ก็ทำให้อ้วนได้”

  • ใครจะไปเชื่อว่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะทำให้เราอ้วนได้ เพราะที่อ้วนอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะว่าเรากิน ไม่ได้ดมสักหน่อย
  • แต่งานวิจัยหลาย ๆ แห่ง พบแล้วว่า PM 2.5 ทำให้เราอ้วนได้จริง ๆ เพราะมีสารเคมีที่ไปรบกวนระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมฮอร์โมนและการเผาผลาญของร่างกาย
  • คงเป็นไปได้ยากที่จะหลีกเลี่ยงสารเคมีเหล่านี้ ตราบใดที่ PM 2.5 ยังไม่ได้รับการแก้ไข และเรายังหายใจอยู่
  • สิ่งเดียวที่ทำได้จึงเป็นการหลีกเลี่ยงของใช้ที่มีส่วนผสมของสารเคมีเหล่านี้ และใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกัน PM 2.5 เท่านั้น

ห่างหายไปไม่นานกับ PM 2.5 ตอนนี้กลับมาทำให้ทุกคนต้องระวังอีกแล้ว และไม่ได้มาเพื่อรบกวนระบบทางเดินหายใจอย่างเดียว แต่มารบกวนระบบเผาผลาญของเราด้วย ใครจะไปเชื่อว่าฝุ่น PM 2.5 ที่ลอยอยู่ในอากาศเหมือนหมอกยามเช้าจะทำให้เราอ้วน

จากข้อมูลใน NCBI ชี้ว่า PM 2.5 นั้น พบสารเคมีสังเคราะห์หรือเรียกว่า Obesogens ลอยตัวอยู่กับก๊าซและฝุ่นละอองในอากาศกลางแจ้ง ซึ่ง Obesogens จัดเป็นสารเคมีที่ไปรบกวนต่อมไร้ท่อ (EDCs) ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนควบคุมการเผาผลาญในร่างกาย และยังเพิ่มจำนวนเซลล์ไขมัน โดยใช้ตัวรับเอสโตรเจน (Estrogen receptor) ไปจับกับสิ่งที่คล้ายกับเอสโตรเจนจากระยะไกล เมื่อเราได้รับเอสโตรเจนสูง ร่างกายจึงมีการผลิตไขมันเพิ่มขึ้น

Obesogens ที่ไปรบกวนฮอร์โมนมีอะไรบ้าง

1. Bisphenol-A (BPA)

Bisphenol-A (BPA) เป็นสารที่กระตุ้นให้ตัวรับเอสโตรเจนทำงาน มีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง จึงจับกับตัวรับเอสโตรเจนได้ ทำให้ไปกระตุ้นการผลิตไขมัน ยิ่งไปกว่านั้น มันยังดื้อต่ออินซูลินและทำให้ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญของร่างกายทั้งสิ้น

BPA นั้นสามารถพบได้ในภาชนะประเภทพลาสติก เช่น ขวดนม กล่องอาหาร รวมทั้งกระป๋องโลหะ การกินอาหารที่ใช้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้จึงทำให้ได้รับสาร BPA โดยตรง แต่งานวิจัยเผยแล้วว่าสาร BPA นั้นพบได้ในอากาศเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ใกล้กับโรงงานผลิตพลาสติก ซึ่งมี BPA สูงกว่าปกติ ดังนั้น BPA จึงปะปนอยู่ในฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย เมื่อเราสูดดมเข้าไปจึงทำให้เราน้ำหนักเพิ่มได้นั่นเอง

2. Phthalates

Phthalates เป็นสารเคมีที่ทำให้พลาสติกนิ่มและยืดหยุ่น หมายความว่าพลาสติกอะไรก็ตามที่ยืดหยุ่นได้จะมีสาร Phthalates ผสมอยู่ประมาณ 40% ได้แก่ ฟิล์มห่ออาหาร ของเล่นเด็ก วัสดุปูพื้นพลาสติก วอลเปเปอร์ฝาผนัง ฯลฯ ซึ่งเราสามารถรับสารเคมีนี้ได้จากการชะล้างพลาสติก การปนเปื้อนอาหาร น้ำประปา หรือแม้แต่อากาศที่เราหายใจ มั่นใจ 100% เลยว่าเมืองไทยมีสารนี้ลอยอยู่ในอากาศแน่นอน ถ้าหนี PM 2.5 ไม่ได้ ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงพทาเลตได้

จากงานวิจัยของสวีเดนกล่าวว่า การได้รับ Phthalates นอกจากจะได้รับผ่านทางเดินหายใจแล้ว ยังซึมเข้าสู่ผิวหนังได้อีกด้วย และสารนี้ยังไวต่อการเพิ่มน้ำหนัก เป็นตัวทำลายต่อมไร้ท่อที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหาร ทำให้รอบเอวใหญ่ขึ้น และยังต่อต้านไม่ให้อินซูลินทำงาน นอกจากนี้ มีการศึกษาหนึ่งพบว่าสาร Phthalates ในเลือดมีเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้

3. Atrazine

Atrazine เป็นสารกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าแมลงที่เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้ ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่าการได้รับ Atrazine เพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน ทำให้อัตราการเผาผลาญลดลง ช่องท้องมีการสะสมไขมันมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่มีฝุ่น PM 2.5 มาก เนื่องจากมีการเผาวัชพืชและวัสดุทางการเกษตร แน่นอนว่าได้รับสาร Atrazine เข้าร่างกายไปเต็ม ๆ แต่ถึงแม้ในเมืองจะไม่ได้อยู่ใกล้กับพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการใช้ Atrazine ก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับสารนี้ เพราะมันอยู่ในผักผลไม้ที่เรากินด้วย

4. Organotins

Organotins เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักใช้ต้านเชื้อรา ในอุตสาหกรรมสิ่งทอจะใส่ Organotins ลงไปในถุงเท้า รองเท้า เสื้อกีฬา เพื่อป้องกันเชื้อราและกลิ่นอับจากเหงื่อ ซึ่งในอดีตสารนี้มีชื่อว่า tributyltin (TBT) เป็นสารเคมีที่ผสมลงไปในสีทาเรือเพื่อกันเพรียงทะเลมาเกาะ เป็นสาเหตุให้เรือผุกร่อน

 

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า tributyltin และสารประกอบ organotin สามารถทำลายต่อมไร้ท่อและทำให้เกิดโรคอ้วนในมนุษย์ โดยการเพิ่มจำนวนเซลล์ไขมันและลดการผลิต Leptin ซึ่งเป็นฮอร์โมนควบคุมความหิว นอกจากนี้ การศึกษาอื่น ๆ ที่ทดลองโดยให้หนูได้รับ tributyltin เป็นเวลา 45 วัน พบว่าหนูมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและมีไขมันพอกตับ ดังนั้น การสัมผัสกับสารเหล่านี้สามารถทำให้เราอ้วนได้จริง และมีแนวโน้มว่าโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะปล่อยมลพิษที่มีสารประกอบนี้อยู่ด้วย ตราบใดที่ยังต้องการป้องกันเชื้อราอยู่

จากที่กล่าวมาทั้งหมดคงเห็นแล้วว่าสารเคมีเหล่านี้ล้วนรบกวนการทำงานของระบบไร้ท่อ ทำให้เรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และช่วงที่ฝุ่นละออง PM 2.5 ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในตอนนี้ ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงสารเคมีที่ปะปนมาในอากาศ แต่เราก็ยังควบคุมโดยการไม่ใช่สิ่งของที่มีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ อาจจะต้องใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกัน PM 2.5 ร่วมด้วย เพื่อป้องกันสารเคมีอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจตามมา

SHARE

RELATED POSTS