ติดมือถือ_cover

ติดมือถือ (Nomophobia)
โรคฮิตติดท็อปลิสท์หนุ่มสาวชาว Millennium

  • อาการติดมือถือ ถูกพบมากที่สุดในกลุ่มคนที่มีอายุ 18 – 24 ปี ซึ่งผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเกินครึ่งของจำนวนประชากรในงานวิจัย ไม่ปิดโทรศัพท์มือถือตลอด และกว่า 80% วางโทรศัพท์ไว้ในที่ที่สามารถเอื้อมหยิบถึงได้ในขณะที่หลับ
  • Nomophobia (No Mobile phone Phobia) หรืออาการขาดมือถือไม่ได้ กำลังถูกเสนอให้เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งในกลุ่มของความวิตกกังวล

เนื่องด้วยเป็นยุค 4.0 ไม่ว่าจะหันมองไปทางไหนก็มักจะเจอเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ รายล้อมรอบตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะหัวดำหัวหงอก ล้วนแล้วต่างก็มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ในมือกันทั้งนั้น งานวิจัยหนึ่งเปิดเผยว่า อาการติดมือถือ ถูกพบมากที่สุดในกลุ่มคนที่มีอายุ 18 – 24 ปี รองลงมาคือกลุ่มคนในช่วงอายุ 25-34 ปี นอกจากนั้นทาง Apple ยังได้เปิดเผยอีกว่า ผู้ที่ใช้ Iphone ได้ทำการ Unlock หน้าจอโทรศัพท์ประมาณ 80 ครั้งตลอดทั้งวัน ซึ่งสถิติเหล่านี้บ่งบอกว่าหนุ่มสาวยุค Millennium มีพฤติกรรมที่ติดโทรศัพท์เป็นอย่างมาก

อะไรคือ Nomophobia ?

Nomophobia มาจากคำว่า No Mobile phone Phobia หรือ อาการเสพติดมือถือ ถูกหน่วยงานวิจัยบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เรียกพฤติกรรมหรืออาการวิตกกังวลเมื่อไม่ได้ใช้ Social Media หรือ อยู่ห่างไกลจากมือถือ ซึ่งอาการติดมือถือนี้ กำลังถูกเสนอให้จัดเข้าเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งในกลุ่มของความวิตกกังวล

คุณเข้าข่ายติดมือถือหรือเป็นโรค Nomophobia หรือเปล่า ?

  • ผู้ที่มีอาการติดโทรศัพท์มักจะพกโทรศัพท์ติดตัวอยู่ตลอดเวลา
  • ใช้เวลาอยู่กับ Social Media ทั้งวัน พูดคุยกับผู้คนผ่านทางออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้างในชีวิตจริง
  • เมื่อโทรศัพท์ไม่อยู่ใกล้ตัวหรือในรัศมีสายตา มักจะเป็นกังวล ตื่นตระหนกคล้ายกับว่าทำโทรศัพท์หายอยู่ตลอดเวลา
  • หากมี Notifications มักจะหยิบขึ้นมาเช็กแล้วตอบในทันที หากไม่ได้ตอบจะรู้สึกว่าไม่มีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
  • เมื่อตื่นนอนจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กเป็นอันดับแรก และก่อนนอนก็จะใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์เป็นสิ่งสุดท้าย
  • คอยเช็กฟีดใน Social Media อยู่เสมอ ระหว่างมื้ออาหาร ระหว่างรอรถ ระหว่างขับรถ หรือระหว่างเข้าห้องน้ำ
  • ปลดล็อกหน้าจอโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา แม้ไม่มีเรื่องด่วนอะไร

Nomophobia เป็นเจ้าตัวร้ายสำหรับเราอย่างไร?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีถูกพัฒนามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่ดี แต่หากชาว Millennium อย่างเราใช้เทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือที่มากเกินไป อาจทำให้มีอาการเสพติดมือถือได้ และเสี่ยงต่อการเป็นโรค Nomophobia อีกด้วย ซึ่งผลจากอาการเหล่านี้อาจทำให้คุณ

ร่างกายอ่อนแอ

นอกจากการใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากเกินไปจะทำให้คุณเป็นโรค Nomophobia แล้ว ยังอาจทำให้อาการบาดเจ็บหรือโรคอื่นๆ ถามหาคุณอีกด้วย

  • เกิดปัญหากับดวงตา ตาแห้ง ตาล้า ตาพร่า การใช้สายตาจดจ้องหน้าจอมือถือซึ่งมีแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อดวงตา หากจ้องไปนานๆ อาจทำให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม จนอาจถึงขั้นตาบอดได้
  • บาดเจ็บบริเวณมือและข้อมือ การใช้นิ้วจิ้มโทรศัพท์เป็นประจำอาจทำให้นิ้วล็อกได้ นอกจากนั้นยังอาจทำให้มีอาการปวดข้อมือ ข้อมืออักเสบ เส้นเอ็นยึด หากทดลองกำแบมือแล้วเจ็บ ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้ อาจเป็นสัญญาณให้คุณต้องไปพบแพทย์แล้วล่ะ
  • ปวดเมื่อยบริเวณคอและไหล่ สืบเนื่องจนถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร เนื่องด้วยท่าทางในการใช้โทรศัพท์ที่ไม่ถูกลักษณะ อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณกระดูกหรือเอ็น หากปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้นานๆ อาจส่งผลกับร่างกายในระยะยาวได้

เสียความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนรอบข้างไป

ในขณะที่อยู่กับผู้คนรอบข้าง คุณควรให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัวให้มากกว่าการติดโทรศัพท์ มิเช่นนั้นอาจทำให้คนข้างๆ คุณน้อยใจ หรือคุณอาจพลาดบางสิ่งที่สำคัญไปก็ได้

กลายเป็นคนขี้กังวลมากขึ้น

หากคุณเป็นคนที่เสพติดมือถือ คุณจะกลายเป็นคนที่ขี้กังวล กระวนกระวายใจอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสมาธิอยู่กับตัว อาจส่งผลต่อการเรียนหรือการทำงานของคุณได้

พักผ่อนไม่เพียงพอ

พฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนที่ติดโทรศัพท์จะเลื่อนดูโพสต์ที่น่าสนใจก่อนนอนจนรู้สึกตัวอีกทีก็เลยเที่ยงคืนจนเกือบฟ้าสางแล้ว ซึ่งสิ่งนี้เองอาจทำให้คุณนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อระบบการทำงานของสมองได้ อาจทำให้คุณง่วงหงาวหาวนอนอยู่ตลอดทั้งวัน

ถ้าใจคุณแน่ ติดโทรศัพท์แค่ไหนก็หายได้

  • หลังจากตื่นแล้วไม่ควรหยิบโทรศัพท์เป็นอันดับแรก ห้องนอนควรเป็นเขตปลอดโทรศัพท์ วางโทรศัพท์ไว้ให้ห่างตัวเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้งาน
  • หากไม่ใช่เวลาทำงานควรปิดโทรศัพท์อย่างน้อยสัก 1 – 2 ชั่วโมง หรือ ตั้งโหมด Do Not Disturb เพื่อป้องกันการถูกรบกวนจาก Notification
  • หากจำเป็นต้องใช้นาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์ ให้ใช้เป็นแบบกดแล้วปิดเลย ไม่มี Snooze เพื่อป้องกันนิสัยการนอนต่อ และหากเป็นไปได้แนะนำให้ซื้อนาฬิกาปลุกที่เป็นนาฬิกาปลุกจริงๆ เพื่อเป็นการวางโทรศัพท์ให้ห่างจากตัวขณะนอนหลับด้วย
  • มีวินัย กำหนดเวลาการใช้งานโทรศัพท์ให้ชัดเจน เวลาไหนควรอ่าน E-mail เวลาไหนใช้ Social Media ได้ เวลาไหนควรพักผ่อน
  • สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าลืมใส่ใจคนรอบข้างบ้าง แทนที่จะกดไลก์ กดแชร์ หรือ Comment คนในโลกออนไลน์ Short Recap ขอแนะนำให้ชวนคนข้างๆ คุย หรือทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอีกวิธีหนึ่ง

เทคโนโลยีสามารถอำนวยความสะดวกให้ชีวิตประจำวันของเราได้ค่อนข้างเยอะ แต่ก็ควรจะรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้มากๆ หากเราติดโทรศัพท์มากเกินไป อาจทำให้เสพติดจนกลายเป็นโรค Nomophobia ได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมใส่ใจสิ่งรอบข้างบ้าง อยู่เหนือเทคโนโลยี ไม่ใช่ให้เทคโนโลยีอยู่เหนือเรา

SHARE

RELATED POSTS