Search
Close this search box.
cover web

Fast Fashion คืออะไร แค่ชอบแต่งตัวก็ทำร้ายโลกได้?!

  • Fast Fashion คือ แฟชั่นตามกระแส มาไวไปไว เสื้อผ้าจึงถูกผลิตอย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนต่ำ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด กลายเป็นแฟชั่นวงจรสั้น เน้นการขายในปริมาณมาก ทำให้ได้รับความนิยมจนเกิดการปลูกฝังแนวคิดในการสรรหาเสื้อผ้ามาใส่ตามสไตล์ ‘ของมันต้องมี’
  • Fast Fashion ตัวการร้ายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการใช้วัสดุราคาถูกอย่าง ‘ไมโครไฟเบอร์’ เส้นใยพลาสติก แทรกซึมสู่ลงทะเล กระทบต่อสัตว์น้ำ และกระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 3,300 ล้านตันต่อปี
  • แก้ปัญหา Fast Fashion ด้วยแนวคิด ‘Sustainability’ (แฟชั่นหมุนเวียน) โดยนำเสื้อผ้าเก่ามาใส่ซ้ำ หรือเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อลดปริมาณขยะจากเสื้อผ้า ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก และรักษาโลกให้คงอยู่ต่อไป

สงสัยไหมว่า Fast Fashion ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ คืออะไร แท้จริงแล้ว Fast Fashion คือสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก ยกตัวอย่างเช่น กำลังแต่งตัวออกไปข้างนอกแต่ไม่รู้จะใส่อะไรดี เสื้อผ้าที่มีเต็มตู้ก็เก่าจนเอาต์ไปแล้ว สุดท้ายก็ต้องกลับไปไถหน้าจอโทรศัพท์ กดสั่งเสื้อผ้าจากร้านค้าออนไลน์ พอได้ของมาก็ใส่ไม่กี่ครั้ง เพราะเสื้อผ้าที่เคยอินกลับตกเทรนด์ไปซะแล้ว! กลายเป็นต้อง ‘ซื้อ-ใส่-ทิ้ง’ วนไปมาเป็นวัฏจักร ‘Fast Fashion’ วันนี้ Short Recap จะมาเจาะลึกถึงเบื้องหลัง Fast Fashion ว่าส่งผลกระทบต่อโลกยังไง?… ตามไปดูกันเลย!

รู้จัก Fast Fashion คืออะไร?

Fast Fashion คือ แฟชั่นตามเทรนด์ ทันกระแส ไอเทมไหนฮิต ดาราไอดอลใส่ ของแบบนี้เราก็ต้องมี! แน่นอนว่าแฟชั่นทันโลกแบบนี้ ย่อมมาไวไปไว แถมยังต้องแข่งกับเวลา ทำให้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าต้องมีความรวดเร็ว ฉับไว ใช้ต้นทุนต่ำในการผลิตเพื่อให้เสื้อผ้ามีราคาถูก และผู้บริโภคเข้าถึงสะดวก จนเกิดเป็นการซื้อง่ายขายคล่อง แม้ว่า Fast Fashion จะช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ แต่กลับสร้างผลเสียต่อโลกอย่างมหาศาล ด้วยขั้นตอนการผลิตที่ต้องใช้น้ำถึง 3,000 ลิตรเพื่อผลิตเสื้อผ้า 1 ตัว รวมถึงการใช้สารเคมีย้อมสีสังเคราะห์ จนเกิดเป็นน้ำเสียระบายออกสู่ท้องทะเล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นเลยทีเดียว!

Fast Fashion ทำร้ายโลกยังไง? แค่ตามแฟชั่นเอง

กระบวนการผลิตของ Fast Fashion คือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อน เนื่องจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้า Fast Fashion มักเลือกใช้วัสดุต้นทุนต่ำ เพื่อให้สามารถผลิตได้ไว ตามทันกระแส แถมยังได้กำไรในการหมุนเวียนธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุนมาก แต่วัสดุดังกล่าวนั้นคือ ‘ไมโครไฟเบอร์’ เป็นพลาสติกขนาดเล็กที่ไม่สามารถย่อยสลายในน้ำได้ ทำให้เกิดการแทรกซึมลงสู่ท้องทะเล ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำน้อยใหญ่ อีกทั้งกระบวนการผลิตเสื้อผ้าจากเส้นใยไมโครไฟเบอร์ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 3,300 พันล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับปริมาณขยะจากขวดพลาสติกถึง 50,000 ล้านขวด! ซึ่งหลายธุรกิจมีวิธีการ ‘ทำลายขยะ’ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วยการฝังกลบดิน (Landfill) แต่กลับเป็นการทิ้งสารตกค้างในดิน จนส่งผลเสียต่อระบบนิเวศแทน

นอกจากจะกระทบต่อโลกแล้ว Fast Fashion ยังส่งผลพ่วงให้ผู้คนมีพฤติกรรมชอปปิงเครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกระบวนการที่กว่าจะมาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นยอดฮิตเหล่านี้ก็มีเบื้องหลังอยู่เช่นกัน

Fast Fashion คือการสร้างค่านิยมใหม่ให้ผู้บริโภค

การมาถึงของ Fast Fashion คือการสั่นสะเทือนวงการแฟชั่นครั้งใหญ่ เมื่อผู้คนสามารถเลือกใส่เสื้อผ้าได้หลากหลายสไตล์ในราคาย่อมเยาว์ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าจึงเลือกที่จะผลิตคอลเลกชันใหม่ ๆ เพื่อเอาใจผู้บริโภค และปลูกฝังแนวคิด ‘ของมันต้องมี’ เพื่อเสริมให้เกิดกำลังซื้อ จนกลายเป็นวงจรแฟชั่นขนาดสั้น และเกิดค่านิยมใหม่ในหมู่ผู้บริโภคที่สามารถสวมใส่ ‘เสื้อผ้าราคาถูก’ รูปทรงสวยงามได้ในราคาไม่แพง

สาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรม Fast Fashion ได้รับความนิยม เป็นเพราะเสื้อผ้าช่วยเสริมสร้างบุคลิก และแสดงตัวตนของผู้สวมใส่ การเลือกเสื้อผ้าตามกระแสก็เพื่อให้ได้การยอมรับจากสังคม โดยเฉพาะยุคที่เสพติดโซเชียล การแต่งตัวด้วยชุดเดิมซ้ำ ๆ อาจจะทำให้ตัวเองตกเทรนด์จนถูกมองว่าแปลกแยก ซึ่งความคิดหรือพฤติกรรมเหล่านี้เข้าข่าย ‘โรคกลัวตกกระแส’ Fear of Missing Out (FOMO) ส่งผลให้ไม่ยอมพลาดที่จะซื้อเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่ แม้รู้ดีว่าเนื้อผ้าไม่มีคุณภาพก็ตาม

Fast Fashion คือเสื้อผ้าราคาถูก ที่แลกมาด้วยการกดขี่แรงงาน

Fast Fashion ไม่ได้ส่งผลเสียกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างปัญหาสิทธิมนุษยชนระดับโลก ซึ่งเกิดจากความต้องการลดทุน และเพิ่มปริมาณการผลิต แรงงานในหลายประเทศจึงต้องเผชิญกับค่าแรงที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ตัวอย่างที่ถูกกล่าวถึงคือ ‘ชาวอุยกูร์’ ในประเทศจีนที่กดขี่ค่าแรงและถูกบังคับให้ทำงานในสภาพความเป็นอยู่ที่โหดร้าย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ จนเกิดเป็นกระแสต่อต้าน Fast Fashion ขึ้นทั่วโลก

ทางออกของ Fast Fashion คือ การใช้แนวคิดแบบ Sustainability

Fast Fashion อาจมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากทั้งผู้คน ผู้ผลิต ไปจนถึงแบรนด์สินค้า และอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประเทศไทยมีเป้าหมายในการมุ่งสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมนี้ก็มีกว่าหลายพันล้านตันต่อปี เพราะเหตุนี้เองจึงส่งผลต่อทั้งด้านผู้บริโภคที่มองว่า Fast Fashion เป็นสิ่งไม่จำเป็น และด้านผู้ผลิตก็หันมาเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลหรือเลือกวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อสร้างวงจรแฟชั่นหมุนเวียน ผลิตอย่างใส่ใจโลก เน้นความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากบริษัท Thredup ร้านค้าออนไลน์มือสองในสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า ใน 10 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดของเสื้อผ้ามือสอง จะเติบโตแซงหน้า Fast Fashion ถึง 2 เท่า! และมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะสนใจเสื้อผ้า Fast Fashion น้อยลง เทรนด์แฟชั่นจะเน้นไปที่ความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ และปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบัน

เปลี่ยน Fast Fashion ให้กลายเป็น Sustain ง่าย ๆ ด้วยมือเรา

เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวงจรแฟชั่นหมุนเวียนได้ เพียงปรับเปลี่ยนนิสัยการชอปจาก Fast ให้ Slow ค่อย ๆ ซื้อ ค่อย ๆ ใช้ ช่วยได้ทั้งโลกและกระเป๋าตังเราเลย แล้ววิธีในการลด ละ เลิก Fast Fashion มีอะไรบ้าง? มาดูกันเลย

  • เลือกเสื้อผ้าที่มีคุณภาพ วัสดุรีไซเคิลได้ เนื้อผ้าคงทน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • เลือกซื้อเสื้อผ้ามือสอง ช่วยชุบชีวิตเสื้อผ้าเก่า แถมยังได้ใส่เสื้อผ้าสไตล์วินเทจ
  • ถนอมผ้าไว้ให้นานเท่านาน ยืดอายุการใช้งาน ด้วยการดูแลเนื้อผ้าตามคำแนะนำ ใช้ผงซักฟอกสูตรอ่อนโยน และใช้วิธีตากแดด หรือผึ่งลมให้แห้งแทนการใช้เครื่องอบผ้า
  • ซ่อมแทนการซื้อใหม่ ต่ออายุการใช้งานได้อีกนิด หากชำรุดนิดหน่อย ลองซ่อมก่อนซื้อใหม่ก็ใส่ได้เหมือนเดิมแล้ว
  • DIY ชุดใหม่ ลอง Mix & Match เสื้อผ้าให้เป็นชุดใหม่ ใส่ต่อได้แบบสวย ๆ

เราก็ได้รู้แล้วว่า Fast Fashion คือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ‘ปัญหาเสื้อผ้าล้นโลก’ จึงควรได้รับการใส่ใจและแก้ไข เพื่อการหยุดวงจรแฟชั่นขนาดสั้น พร้อมรักษาโลกให้อยู่ต่อไป

SHARE

RELATED POSTS