Search
Close this search box.
เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์

เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ Interceptor มากู้(แม่น้ำ)ไทยแล้ว!

  • Boyan Slat เจ้าของโครงการ The Ocean Cleanup ได้ร่วมมือกับเพื่อนและทีมงานอีกกว่า 100 ชีวิตเพื่อคิดค้นนวัตกรรมเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยลดขยะที่จะไหลจากแม่น้ำไปสู่ท้องทะเล โดยคาดการณ์ว่า จะสามารถลดปริมาณขยะลงได้ถึง 80% ในปี 2568
  • เรือเก็บขยะ Interceptor สามารถเก็บขยะได้ถึง 50,000 –100,000 ชิ้นต่อวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ประเทศไทยติดอันดับ Top 5 ของประเทศที่มีขยะทะเลมากที่สุดในโลก Boyan Slat จึงได้เข้ามาประชุมกับรัฐบาลไทยและเซ็นสัญญาเพื่อนำเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาทดลองใช้เป็นประเทศที่ 5

หลังจากที่ปัญหาขยะล้นโลกกลายเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกเริ่มตระหนัก องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อเรื่องนี้อย่างแข็งขัน โดยล่าสุด Ocean Cleanup ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะมาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการเปิดตัวเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีชื่อว่า เรือเก็บขยะ Interceptor ซึ่งเป็นเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีคุณสมบัติน่าสนใจมากมาย อีกทั้งยังสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้ในระดับที่ดีมาก มาเริ่มทำความรู้จักกันได้เลย

ทำความรู้จัก เรือเก็บขยะ Interceptor” ?

เรือเก็บขยะ Interceptor หรือ เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากความคิดของ Boyan Slat เจ้าขององค์กรที่อายุน้อยที่สุดจากองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม The Ocean Cleanup ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีผลงานโปรเจกต์ทุ่นดักขยะทะเล (อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่) ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเมื่อครั้งที่ได้ไปนำเสนอที่งาน TEDxTalk ในปี 2012 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และล่าสุด ผลงานเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ของเขาซึ่งประสบความสำเร็จจากการได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมทีมอีกกว่า 100 คน ก็ได้ทำให้ชื่อของ The Ocean Cleanup เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากขยะทะเลส่วนใหญ่ถูกพบว่ามีที่มาจากบนบกไหลลงสู่แม่น้ำ แล้วตามมาด้วยการไหลลงทะเล ซึ่งใน 80% ของจำนวนนั้นมาจากแม่น้ำเพียง 1,000 สาย ซึ่งคิดเป็น 1% ของแม่น้ำบนโลก เรือเก็บขยะ Interceptor จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อทำการดักขยะขึ้นจากแม่น้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล โดยเรือลำนี้ทำงานทั้งวันทั้งคืนตลอด 24 ชั่วโมงโดยอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ที่ถูกชาร์จไฟด้วยแสงอาทิตย์ สามารถดักเก็บขยะจากแม่น้ำได้มากถึง 50,000 –100,000 ชิ้นต่อวัน จึงถือว่าได้สร้างประโยชน์ในการลดปริมาณขยะทะเลและรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่โลกเป็นอย่างมาก

กระบวนการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของ Interceptor

เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ถูกพัฒนาและคิดค้นจนกลายเป็นเครื่องจักรกำจัดขยะลอยน้ำขนาดใหญ่ สามารถทำงานได้อัตโนมัติโดยดักขยะพลาสติกให้ลอยเข้าสู่ประตูหน้าเครื่อง แล้วยกขยะพลาสติกขึ้นจากน้ำผ่านสายพานเข้าสู่ถังที่อยู่ด้านใน ซึ่งมีมากถึง 6 ถัง แต่ละถังสามารถเก็บขยะได้ 50 ลูกบาศก์เมตร ที่สำคัญเรือเก็บขยะ Interceptor มีจอแสดงผลวัดระดับปริมาณขยะที่สามารถเชื่อมต่อกับ Smartphone ได้ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา

ความสำเร็จของเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ Interceptor

เรือเก็บขยะ Interceptor ถูกนำไปทดลองใช้จริงแล้วที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และโดมินิกัน ซึ่ง Boyan Slat เลือกนำเรือเข้าไปใช้ในประเทศเหล่านี้เนื่องจากเป็นประเทศที่มีปริมาณขยะในแม่น้ำมากเป็นพิเศษ โดยมีการคาดการณ์ว่าเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยกำจัดขยะได้มากถึง 70 ล้านกิโลกรัม ในปี 2568

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Boyan Slat ได้เดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อเข้าประชุม หารือ และเซ็นสัญญากับทางภาครัฐเพื่อนำเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ Interceptor ลำที่ 5 เข้ามาทดลองใช้ในประเทศไทย นี่อาจเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากสำหรับคนไทยก็จริง แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าปัญหาขยะในประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่เราคนไทยจะทำนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้อีก ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตื่นตัวกับการคิดหาทางรับมือและแก้ไขกับปัญหานี้อย่างจริงจัง แล้วคุณล่ะ ณ ตอนนี้ คุณเริ่มแล้วหรือยัง?

SHARE

RELATED POSTS

พบกับนวัตกรรมที่ช่วยลดขยะพลาสติกจากทะเลเนื่องด้วยพฤติกรรมใช้แล้วทิ้งไม่เป็นที่ เพื่อพลิกผืนทะเลให้กลับมาสดใส ให้น้องๆ แหวกว่ายอย่างสุขใจ…
รับมือวิกฤติสิ่งแวดล้อมด้วย Shellworks นวัตกรรมที่เปลี่ยนเปลือกกุ้งเป็นพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม…