Search
Close this search box.
ลดขยะพลาสติกจากท้องทะเล_cover

สัตว์ทะเลจะต้องชื่นใจ
5
นวัตกรรมช่วยลดขยะพลาสติกจากท้องทะเล

  • องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) เปิดเผยว่ามีขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันมาจากประเทศในอาเซียน โดยประเทศไทยติดอันดับ Top 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด
  • มนุษย์โลกกำลังตระหนักถึงปัญหาพลาสติกจากทะเลในท้องทะเล จึงมี Project กำจัดขยะจากท้องทะเลขึ้น ทั้งถังขยะลอยน้ำ รองเท้าและเก้าอี้จากขยะ และอีกมากมาย

หลังจากเจ้าวาฬ น้องมาเรียม และยามีล สองพะยูนที่ตกเป็นเหยื่อของพลาสติกจากทะเลได้ตายไป คนไทยก็เริ่มหันมาตระหนักถึงปัญหาพลาสติกในท้องทะเลและมหาสมุทรมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ใน 5 ท็อปลิสท์อันดับต้นๆ ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด หากยังไม่เริ่มการแก้ไขอาจทำให้ขยะเพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัวและรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลโดยตรง มีเปอร์เซ็นต์เสี่ยงสูญพันธุ์มากขึ้น

ในขณะที่ชาวไทยแลนด์ดินแดนแสนสุขเริ่มแสดงบทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบกับวิกฤตขยะพลาสติกในครั้งนี้แล้ว ชาวต่างชาติที่เคลื่อนไหวมาก่อนต่างก็มี Project ขึ้นมาไม่หยุดพัก พยายามคิดค้นวิธีกำจัดขยะพลาสติกจากท้องทะเลให้ได้มากทีสุด เพื่อที่เจ้าปลาน้อยปลาใหญ่หรือสัตว์ทะเลตัวอื่นๆ จะไม่หลงกินเข้าไป จึงก่อให้เกิดนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย ไม่ได้มีเพียงต่างชาติเท่านั้นที่คิดค้นนวัตกรรมเหล่านี้ ชาวไทยบุเรี่ยนก็มีดีไม่แพ้กัน

The Seabin Project

โปรเจกต์การกำจัดพลาสติกจากทะเลชิ้นนี้ถูกคิดค้นโดยสองหนุ่มชาวออสซี่ ถังขยะลอยน้ำที่สามารถกำจัดขยะได้เกือบทุกประเภทที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก เศษกระดาษ สิ่งแปลกปลอมอื่นๆ หรือแม้กระทั่งคราบน้ำมัน ตัวถังขยะจะดูดสิ่งปฏิกูลลงไปที่ถุงดักขยะ ส่วนใหญ่จะติดตั้งไว้บริเวณท่าเรือเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด อีกทั้งเจ้าถังขยะลอยน้ำนี้ยังทำงานผ่านเครื่องปั๊มที่จะคอยปั๊มน้ำให้วนอยู่อย่างต่อเนื่อง คราบน้ำมันจะถูกแยกกรองอีกหนึ่งชั้น เพราะฉะนั้นจึงทำให้ Seabin สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทั้งสัปดาห์ โดยใช้คนเปลี่ยนถุงดักเพียง 1 คนเท่านั้น

Filtration Skyscraper

อย่าเพิ่งตกใจแล้วคิดว่าเจ้าสิ่งนี้หลุดออกมาจากหนัง Sci-fi เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะแผนนวัตกรรมการกำจัดพลาสติกจากทะเลตัวนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดของ Honglin Li เท่านั้น เขาได้ออกแบบอดีตแท่นขุดเจาะน้ำมันสูงระฟ้าให้กลายเป็นโรงบำบัดน้ำเสียแถมยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย วิธีการทำงานของหอคอยคือการดูดน้ำทะเลที่มีขยะมาแยกและคัดกรอง ขยะบางส่วนจะถูกนำกลับฝั่งเพื่อนำไปรีไซเคิล ส่วนขยะอีกส่วนจะนำไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งนอกจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกนำมาใช้บริเวณหอคอยระฟ้านี้แล้ว ยังอาจส่งกลับไปใช้บริเวณบ้านเรือนบนฝั่งได้อีกด้วย

Ocean Cleanup

อีกหนึ่งนวัตกรรมการกำจัดขยะพลาสติกจากท้องทะเลที่คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เกิดจากความคิดของเด็กหนุ่มวัยเพียงยี่สิบต้นๆ ที่ศึกษาพบว่าธรรมชาติของทะเล กระแสน้ำจะพัดเข้าหากัน เพราะฉะนั้นขยะจะลอยมากองอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง จึงได้ทำทุ่นที่มีแขนสองข้างเพื่อไปดักขยะเอาไว้ ด้วยไอเดียสุดล้ำจึงทำให้ Boyan Slat ขึ้นเวที TEDxTalk ในประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อขายไอเดียและระดมทุน ซึ่งได้มากกว่า 7 พันล้านบาท ปัจจุบันได้ปล่อยตัวทดลองลงทะเลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางโครงการได้นำเอาขยะไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าต่อไป

The Sea Chair Project

โครงการนวัตกรรมเก้าอี้จากขยะพลาสติกถูกพัฒนาขึ้นมาโดยนักศึกษาจบใหม่ไอเดียบรรเจิด 3 คนสำรวจพบว่าทุกหนึ่งกิโลเมตรของผิวน้ำและหาดทรายจะมีขยะหรือเศษพลาสติกมากถึง 46,000 ชิ้น จึงได้นำเอาพลาสติกจากทะเลที่เก็บได้มาหลอมเป็นเก้าอี้ตัวเล็กๆ ที่มีหน้าตาและสีสันที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้นยังได้เสนอระบบโรงงานเรือ คือการนำเรือประมงเก่ามาดัดแปลงให้กลายเป็นโรงงานเก้าอี้ลอยน้ำ โดยที่ตัวเรือทำหน้าที่ดักขยะ จึงทำให้กลายมาเป็นโรงงานเก้าอี้อย่างครบวงจร จบได้ที่เรือ(เก่า)หนึ่งลำ

KHYA (ขยะ)

ตำนานรองเท้าผ้าใบอย่างนันยางหรือเจ้าของเดียวกับรองเท้าแตะช้างดาว หวังสื่อสารให้คนตื่นตัวกับปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบกับทั่วโลก จึงได้รับขยะรองเท้าแตะมาจากกลุ่มอาสาสมัคร Trash Hero ที่คัดแยกขยะ รวมถึงขยะพลาสติกจากท้องทะเลเข้าสู่กระบวนการผลิตรองเท้าแตะช้างดาวรุ่น Limited Edition ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นรองเท้า KHYA (ขยะ) 1 คู่ ต้องใช้ขยะจากทะเลประมาณ 5 กิโลกรัม ซึ่งถ้าผลิต 200 คู่ก็เท่ากับว่าเราสามารถเก็บขยะจากท้องทะเลมาได้ถึง 1 ตัน!

ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุด มีการกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าหมายลดขยะทะเลให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2570 ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากหากทุกคนช่วยกันลดการใช้พลาสติก และช่วยกันสอดส่องไม่ให้เกิดการทิ้งขยะลงสู่ท้องทะเล เพื่อให้เจ้าสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ได้อยู่อย่างปลอดภัยคู่ผืนน้ำไปนานๆ

SHARE

RELATED POSTS

รับมือวิกฤติสิ่งแวดล้อมด้วย Shellworks นวัตกรรมที่เปลี่ยนเปลือกกุ้งเป็นพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม…