Search
Close this search box.
empathy

Empathy: เข้า(ถึง)ใจ ไม่ใช่แค่รับฟังผ่านหู

  • “อยากให้คนอื่นเข้าใจเรา แล้วเราเข้าใจคนอื่นหรือยัง” ยังคงเป็นประโยคที่คนพูดบ่อย ฟังดูเข้าใจง่าย แต่เชื่อไหมว่ามีไม่กี่คนที่สามารถทำมันได้ การมี Empathy จึงสำคัญ
  • Empathy คือ การเข้าถึงใจ หรือความสามารถในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น เหมือนการเอาตัวเองไปยืนอยู่ ณ จุดที่เขายืนอยู่ ต่างจาก Sympathy ที่เป็นแค่ “ความเห็นอกเห็นใจ, ความสงสาร”
  • ซึ่งการที่จะเข้าถึงใจคนนั้นได้จริง ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วจะทำได้เลย แต่มันต้องผ่านการเรียนรู้และค่อย ๆ ฝึกฝน
  • การฝึก Empathy จึงควรเริ่มจากการหมั่นสังเกตคนรอบข้าง แสดงความห่วงใย และรับฟังโดยที่ไม่ตัดสิน ฯลฯ

เชื่อว่าใครหลายคนเคยเป็นทั้งที่ปรึกษาและคนที่ไปปรึกษาเวลาที่มีเรื่องไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว เราต่างก็ต้องการคนที่รับรู้และเข้าใจปัญหานั้น ๆ แต่ถ้าถามกันตรง ๆ “ในชีวิตนี้เรามีเพื่อนกี่คนกันที่สามารถโทรไประบายหรือร้องไห้ได้เวลาตัวเองเจอเรื่องแย่ ๆ” บางคนมีเยอะมาก แต่บางคนแทบไม่มีเลย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเล่าไปเขาก็ไม่เข้าใจ อาจโดนตำหนิกลับมาอีก การฝึก Empathy หรือ Empathic Communication จึงสำคัญ ถ้าอยากให้คนอื่นเข้าใจเรา แล้วเราก็เข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง

Empathy: การเข้า(ถึง)ใจ ไม่ใช่แค่รับฟังผ่านหู

empathy การเข้าถึงใจผู้อื่น

Empathy คือ การเข้าถึงใจ หรือความสามารถในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น เหมือนการเอาตัวเองไปยืนอยู่ ณ จุดที่เขายืนอยู่ ต่างจาก Sympathy ที่เป็นแค่ “ความเห็นอกเห็นใจ, ความสงสาร” หรือมองสิ่งต่าง ๆ โดยที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ได้สัมผัสกับความรู้สึกของคน ๆ นั้นจริง ๆ

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด การมี Empathy ก็คงจะเหมือนกับการเอาเท้าตัวเองไปสวมที่รองเท้าของคน ๆ นั้น โดยก่อนหน้านี้เรารับรู้แค่ว่าเขาเจ็บแสบที่รองเท้านั้นกัด แต่เราไม่ได้สัมผัสเองว่ามันเจ็บขนาดไหน จนกระทั่งได้สวมมันเอง

การมี empathy ต้องฝึกสังเกต

1. หมั่นสังเกต

การสังเกตเป็นข้อสำคัญในการฝึกการมี Empathy เมื่อไหร่ที่เรามองไปรอบ ๆ ตัว เราจะเริ่มเห็นอาการของผู้คนมากขึ้น ตอนนั้นแหละที่เราจะรู้ว่าใครเป็นอะไร รู้สึกยังไง

เมื่อเราสังเกตเห็นแล้ว หน้าที่ของเราคืออย่าปล่อยผ่านหรือละเลยความรู้สึกของคน ๆ นั้น เข้าไปถามไถ่ พูดคุย เพื่อให้เขารู้ตัวว่ามีคนกำลังสนใจเขาอยู่ ซึ่งเราแอบเห็นนะว่าเขาอาการไม่ค่อยดี เมื่อเขารู้สึกอย่างนี้จะทำให้เขารู้ว่าอย่างน้อยก็ได้อยู่ในสายตาของใครสักคน

ฝึก empathy ต้องรู้จักแสดงความห่วงใย

2. แสดงความห่วงใย

เมื่อเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมีปัญหาส่วนตัว เราควรมี “Empathy” ด้วยการแสดงความห่วงใย เช่น การถามว่า “เธอรู้สึกอย่างไร โอเคไหม” “มีอะไรที่เราสามารถช่วยเธอได้ไหม” ซึ่งวิธีนี้จะช่วยปลอบประโลมความรู้สึกของคน ๆ นั้นได้ดี และยังแสดงถึงความใส่ใจว่ายังมีคนที่แคร์เขาอยู่นะ

หากอยู่ใกล้กันอาจจะมีการโอบกอด ซึ่งจะช่วยให้คนนั้นรู้สึกดีขึ้น ที่สำคัญควรแสดงการมี Empathy ด้วยการสบตา และภาษากายที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะรับรู้ความทุกข์ของคน ๆ นั้นว่าเราไม่ได้แสร้งทำเป็นฟัง

การจะมี empathy ได้ เราต้องไม่ตัดสิน

3. ไม่ตัดสิน

การที่จะมี Empathy จริง ๆ เวลามีคนมาปรึกษาหรือพูดคุย หน้าที่ของเราคือตั้งใจฟัง และไม่ตัดสินคน ๆ นั้นจนกว่าเขาจะอธิบายหรือเผยความรู้สึกของตัวเองจนหมด เพราะการที่เราไปขัดหรือพูดมุมมองของตัวเองให้เขาฟัง บางทีเรายังไม่รู้ที่มาที่ไปของเรื่อง แต่ก็ตัดสินไปเสียแล้ว

เช่น เพื่อนของเราทะเลาะกับเจ้านาย แล้วคุณเราคิดว่าเธอผิด เพราะเจ้านายของเธอเป็นผู้จัดการ ย่อมมีประสบการณ์มากกว่าเสมอ หรือว่าเพื่อนว่าสอบได้คะแนนไม่ดี ก็เพราะว่าไม่ยอมเรียน แม้ว่าสาเหตุอื่นเขาอาจจะมีปัญหาครอบครัว 

จะมี empathy อย่าตอบแชตใครสั้น ๆ

4. อย่าตอบแชตสั้น ๆ

เคยไหม ? เวลามีคนมาปรึกษาเรื่องบางอย่างแล้วพิมพ์ข้อความมายาวเหยียด แต่เราตอบกลับไปคำเดียวว่า “อ่อ” “อืม เข้าใจ” ซึ่งเราอาจรับรู้ว่าเขารู้สึกยังไง แต่จริง ๆ เราไม่ได้เข้าถึงใจเลยสักนิดเดียว เพราะในขณะที่เขาเปิดกว้างกับเรามาก แต่เราดันตัดจบด้วยคำสั้น ๆ ตรงนี้เลยอาจทำให้เขารู้สึกแย่กว่าเดิม

เพราะฉะนั้น การฝึก Empathy เมื่อเวลาที่เพื่อนแชร์ปัญหาส่วนตัว เราอาจแบ่งปันปัญหาส่วนตัวให้เขาฟังด้วยก็ได้ ถือว่าแลกเปลี่ยนปัญหาของกันและกัน

เมื่อคุณเข้าถึงใจผู้อื่นเป็น มันจะช่วยให้คน ๆ นั้นรู้สึกดีกับตัวเอง และทำให้เขารู้ว่าตัวเขาเองนั้นไม่ได้อยู่กับปัญหาแค่คนเดียว ในอีกทางหนึ่งมันยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขาได้สนิทกันมากขึ้นด้วย

SHARE

RELATED POSTS

ข้อควรดูก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมือสอง เช็กให้ครบจบทุกปัญหา บ้านมือสองที่ผ่านการอยู่อาศัยมาระยะหนึ่ง อาจมีสภาพเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา…