6 นวัตกรรมรักษ์โลกสุดเจ๋ง!
แก้ปัญหาขยะล้นโลก ใช้แล้วเท่สุด ๆ
- แม้ว่าขยะจะล้นโลก แต่ก็มีคนหลายกลุ่มพยายามคิดนวัตกรรมรักษ์โลกเพื่อแก้ปัญหานี้อยู่ไม่น้อย เช่น FREITAG กระเป๋าจากผ้าใบคลุมรถบรรทุก ที่ต้องผ่านการใช้งานอย่างน้อย 3 ปี
- ลำโพงพกพาจากขยะพลาสติก ที่มาจากพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ทั้งหมด
- ไบโอพลาสติกจากเกล็ดปลา ที่ทนทานต่อแรงดึงมากกว่าพลาสติกจากปิโตเลียม
- ยังมีนวัตกรรมอื่นที่เจ๋ง ๆ อีกเพียบ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว
ขณะที่โลกกำลังประสบปัญหาขยะล้นโลก คนกลุ่มหนึ่งก็กำลังคิด “นวัตกรรมรักษ์โลก” ขึ้นมา บ้างก็ทำมาจากขยะหรือของเสีย บ้างก็ทำมาจากวัสดุจากธรรมชาติที่ใช้ทดแทนพลาสติก ยิ่งไปกว่านั้นคือบางโปรเจกต์คิดค้นขึ้นมาได้อย่างเหลือเชื่อ เพราะไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ มาดูกันดีกว่าว่าแต่ละนวัตกรรมจะทำให้เราว้าวขนาดไหน
1. FREITAG
หนึ่งในนวัตกรรมรักษ์โลกที่มาแรงจากยุโรปสู่เอเชียก็คือ “กระเป๋า FREITAG ” (ไฟร-ทาร์ก) ที่ทำมาจากผ้าใบคลุมรถบรรทุก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการใช้งานอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป หากน้อยกว่านั้นทางแบรนด์จะไม่เอามาใช้ และยังมีวัสดุอื่น ๆ อย่างยางในรถจักรยานที่ไม่ใช้แล้วกับเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์มาประกอบด้วย
ความโดดเด่นของกระเป๋าแบรนด์นี้จึงมาจากวัสดุเหลือใช้ล้วน ๆ และผ้าใบของรถบรรทุกก็ยังทำให้เกิดลวดลายที่แตกต่างกัน กระเป๋าแต่ละใบจึงมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ตามคอนเซ็ปต์ “each one recycled, each one unique” แถมยังทนทานและกันน้ำได้ จนกลายเป็นยี่ห้อกระเป๋าโด่งดังที่มีสาขาจำหน่ายกว่า 400 แห่งทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังออกแบบให้เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ทั้งกระเป๋าถือสำหรับผู้หญิง กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าเป้ และกระเป๋าเดินทาง เรียกได้ว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคที่อยากมีแนวร่วมรักษ์โลกด้วยสุด ๆ
2. Gomi
Gomi ทีมดีไซเนอร์จากประเทศอังกฤษได้ออกแบบนวัตกรรมรักษ์โลกออกมาเป็น “ลำโพงพกพา” ที่ทำขึ้นมาจากขยะพลาสติกชนิด LDPE (low density polyethylene) หรือโพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นต่ำ เช่น ถุงเย็นหรือถุงก๊อบแก๊บ ซึ่งปกติแล้วจะไม่สามารถรีไซเคิลได้ ตัวลำโพงจึงทำมาจากพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ทั้งหมด
ที่เก๋สุด ๆ คือมีการผสมสีของพลาสติกให้เป็นลายหินอ่อนที่มีลวดลายแตกต่างกันไปในแต่ละชิ้น ทำให้ทุกชิ้นมีลายที่ไม่ซ้ำกัน นอกจากนี้ยังดีไซน์ออกมาให้ประกอบและถอดง่าย สามารถส่งซ่อมได้ฟรี และรับกลับคืนเพื่อนำไปรีไซเคิลซ้ำอีกครั้ง
ไม่ใช่แค่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมกับความสวยเก๋เท่านั้น ทีมงานยังใส่ใจคุณภาพเสียง โดยมีการทดสอบและปรับปรุงจากทีมซาวนด์เอนจิเนียมืออาชีพจนเป็นที่พอใจ และในอนาคตก็จะมีการเปิดตัวพาวเวอร์แบงก์กับที่ชาร์จสมาร์ตโฟนแบบไร้สายออกมาให้คนใช้กันอีกด้วย
3. MarinaTex
อีกหนึ่งนวัตกรรมรักษ์โลกที่เจ๋งไม่แพ้กันก็คือ MarinaTex ไบโอพลาสติกที่ทำมาจากเกล็ดปลา
ในแต่ละปีอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีเกล็ดปลาที่ถูกทิ้งมากถึง 50 ล้านตัน ลูซี่ ฮิวจ์ (Lucy Hughe) นักศึกษาจากอังกฤษจึงพยายามคิดค้นหาประโยชน์จากเกล็ดปลานี้ จนมาจบที่พลาสติกย่อยสลายได้ โดยใช้เวลาเพียง 4-6 สัปดาห์เท่านั้น
ส่วนตัวเชื่อมประสานพลาสติกก็ทำมาจากสาหร่ายทะเลสีแดงที่มาจากธรรมชาติอีกเช่นกัน วัสดุทั้งหมดจึงหาได้จากท้องถิ่น ซึ่งลดการขนส่งในขั้นตอนการผลิตได้มากทีเดียว แถม MarinaTex ที่ทำออกมานี้ก็ไม่น้อยหน้าพลาสติกอื่น ๆ เลย เพราะยืดหยุ่นได้ดี และยังทนทานต่อแรงดึงมากกว่าพลาสติกที่ผลิตจากปิโตเลียมอีกด้วย อีกทั้งขั้นตอนการผลิตทั้งหมดยังทำภายใต้อุณหภูมิที่น้อยกว่า 100 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้พลังงานน้อยมาก ๆ
MarinaTex สามารถทดแทนพลาสติกในการใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จนถึงใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น พลาสติกใสในกล่องทิชชู พลาสติกรองอาหาร หรือบรรจุแซนวิซ ฯลฯ โดยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์แม้แต่นิดเดียว
ผลงานดังกล่าวจึงทำให้ “MarinaTex” ได้รับรางวัล James Dyson Award ประจำปี 2019 พร้อมเงินรางวัลกว่า 30,000 ยูโร ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับโลก
4. Seacell
นักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ Luisa Kahlfeldt ร่วมกับสถาบันวิจัยผ้าและเส้นใยของเยอรมนี (German Institute of Textile and Fibre Research) ได้พัฒนานวัตกรรมรักษ์โลก ซึ่งก็คือ “ผ้าอ้อมสำเร็จรูป” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเห็นว่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปทั่วไปมีพลาสติกประเภทโพลีเอสเทอร์ (polyester) หรือโพลียูรีเทน (polyurethane) รวมทั้งตะขอเกี่ยวและยางยืด ทำให้การคัดแยกเพื่อนำไปกำจัดนั้นยากขึ้น
SeaCell จึงได้พัฒนาผ้าอ้อมสำเร็จรูป โดยใช้ส่วนประกอบหลักคือ “สาหร่ายและเส้นใยยูคาลิปตัส” ซึ่งช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการกำจัดแบคทีเรีย และต่อต้านอนุมูลอิสระโดยธรรมชาติ จึงอ่อนโยนต่อผิวของเด็ก และยังสามารถนำไปซักแล้วนำมาใช้ซ้ำได้เหมือนกับผ้าอ้อมที่ทำจากฝ้าย นอกจากนี้ ยังสามารถซึมซับของเหลวได้อย่างดีเยี่ยม และกันสิ่งสกปรกไม่ให้เลอะเปรอะเปื้อนออกมาภายนอกได้ด้วยด้วย เพราะมีการเรียงตัวถึง 3 ชั้น
โดยชั้นในสุดจะมีความนุ่มเป็นพิเศษ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะเคลือบด้วย EcoRepel ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเคลือบผิวด้วยสารธรรมชาติของบริษัท Schoeller เพื่อป้องกันการซึมผ่านของของเหลว รวมถึงการถักทอขอบของผ้าอ้อมยังมีการใช้เทคนิคที่ทำให้ยืดหยุ่นเหมือนยางยืด จึงไม่แปลกที่จะได้รับรางวัลปี 2019 ของ James Dyson Awards สาขาการออกแบบ
5. Soapack
Mi Zhou นักศึกษาและดีไซน์เนอร์จากมหาวิทยาลัย Central Saint Martins ในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมรักษ์โลก “ขวดแชมพูจากสบู่” เพื่อลดปัญหาการใช้พลาสติกจากของใช้ในห้องน้ำ
วิธีทำบรรจุภัณฑ์แชมพูจากสบู่จะใช้ส่วนผสมจากน้ำมันพืช ใช้สีจากดอกไม้และแร่ธาตุ แล้วนำไปขึ้นแม่พิมพ์ ซึ่งใช้วิธีใกล้เคียงกับการขึ้นรูปเซรามิก จากนั้นค่อยนำมาเคลือบขี้ผึ้งบาง ๆ เพื่อป้องกันน้ำและไม่ให้ของเหลวในขวดละลายปนกับตัวบรรจุภัณฑ์
ยิ่งไปกว่านั้นคือ ถ้าแชมพูหมดแล้ว เราสามารถวางขวดนี้ไว้ในถาดสบู่ แล้วปล่อยให้มันละลายเพื่อนำมาใช้เป็นสบู่ก้อนต่อไปได้ด้วย หรือจะเก็บสะสมขวดไว้ในที่แห้งก็ได้ เพราะดีไซเนอร์ได้ออกแบบขวดแชมพูให้ออกมาคล้ายกับขวดน้ำหอม เพราะเชื่อว่าหลายคนเมื่อใช้น้ำหอมหมดแล้ว มักจะเก็บขวดน้ำหอมสวย ๆ เอาไว้ ซึ่งมันสวยเกินกว่าที่จะตัดใจทิ้งได้ลงนั่นเอง
6. Sum waste
อีกหนึ่งนวัตกรรมรักษ์โลกที่ต้องปรบมือให้รัว ๆ ก็คือ “ปากกาจากตะกอนน้ำเสีย” ที่ Garrett Benisch นักศึกษาสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม จาก Pratt Institute ในนิวยอร์ก ร่วมกับหน่วยงานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมของเมือง ได้นำกากตะกอนน้ำเสียมาปรับปรุงจนได้สารที่ชื่อว่า Polyhydroxyalkanoate (โพลีไฮดรอกซีอัลคาโนเอต) หรือ PHA ซึ่งมีความแข็งตัวแต่ยืดหยุ่นคล้ายกับพลาสติก
โดย Benisch ใช้ PHA นี้ทำมาเป็นวัสดุหลักของด้ามปากกา ส่วนน้ำหมึกก็ใช้กากตะกอนน้ำเสียมาทำให้แห้ง บดให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำมัน จนเป็นหมึกที่ใช้เป็นไส้ของปากกาได้ แถมยังสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 100% ภายในระยะเวลา 2 เดือนอีกด้วย ถือว่าเป็นการนำของเสียมาใช้ประโยชน์แบบที่คนคาดไม่ถึง และช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกจากอุปกรณ์เครื่องเขียนไปได้เยอะเลยล่ะ
แต่ละนวัตกรรมเจ๋งสุด ๆ ไปเลยใช่ไหมล่ะ ไทยเองก็มีนวัตกรรมรักษ์โลกที่สุดยอดแบบนี้ไม่น้อยเลยนะ เชื่อว่าไปไกลถึงระดับโลกได้หากองค์กรหลายแห่งให้ความร่วมมือ ส่วนเราเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะล้นโลกได้เหมือนกัน โดยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และยืดอายุการใช้งานสิ่งของให้นานขึ้นด้วยการ Upcycling
มาดูกันว่า Upcycling ต่างจาก Recycling ยังไง มีไอเดียอะไรน่าสนใจบ้าง