Search
Close this search box.
เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้า

เทรนด์เทคโนโลยีใหม่ที่กำลังมาเยือนในอนาคต

โลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและมาเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งเราก็ใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมานานแล้ว แต่ยังไม่ใช่รถ EV และ FCEV เท่านั้นเอง และการจะให้ไทยหันไปใช้รถไฟฟ้าประเภทนี้กันเยอะ ๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นไปได้ยากด้วย เพราะอะไรไปดูกัน

ทำไมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังมีแนวโน้มเป็นไปได้ยาก

การใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังคงต้องมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เช่น

1. การชาร์จไฟที่บ้าน

การใช้รถยนต์ไฟฟ้าใช่ว่าจะเสียบปลั๊กแล้วชาร์จเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ยังคงต้องมีความพร้อมในด้านในการติดตั้งหัวชาร์จที่บ้าน และการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับชาร์จไฟต้องได้รับมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญ หม้อแปลงที่บ้านต้องมีขนาด 15(45) A ขึ้นไปด้วย โดยการชาร์จจะมี 3 แบบ 

          1.1 การชาร์จแบบเร็ว (Quick Charger) มักใช้ตามสถานีชาร์จ จ่ายไฟกระแสตรง ใช้เวลาประมาณ 0.5 – 1 ชั่วโมง จากแบตเตอรี่ 0 – 80% ขึ้นอยู่กับรุ่นรถ

          1.2 การชาร์จธรรมดา แบบ Double Speed Charge มักติดตั้งตามบ้านหรือห้าง จ่ายไฟเป็นกระแสสลับ ใช้เวลาประมาณ 4 – 7 ชั่วโมง ขึ้นกับรุ่นรถและกำลังของเครื่องชาร์จ (Wall box)

          1.3 การชาร์จธรรมดา แบบ Normal Charge มักติดตั้งตามบ้าน ใช้เวลาประมาณ 12 – 15 ชั่วโมงถึงจะชาร์จเต็ม ขึ้นอยู่กับรุ่นรถ

2. สถานีชาร์จไฟตามจุดต่าง ๆ

ปัจจุบันยังถือว่ามีน้อยมาก ๆ อาจจะด้วยปัจจัยด้านราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังราคาสูง ทำให้คนยังไม่นิยมหันมาใช้กันเท่าไร หากในอนาคตราคาถูกลงจนเอื้อมแตะไหว ก็มีแนวโน้มที่จะมีสถานีชาร์จไฟเพิ่มขึ้น ตอนนี้เริ่มมีสถานีชาร์จทั้งของการไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ปั๊มน้ำมัน ปตท., บางจาก ล่าสุด BMW และ Mercedes-Benz ก็ร่วมมือกับเอกชนรายอื่นติดตั้งสถานีชาร์จด้วยเช่นกัน

3. การผลิตพลังงานไฟฟ้า

เมื่อคนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แน่นอนว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจทำให้แรงดันไฟฟ้าตก โหลดเกิน ความถี่ของไฟฟ้าที่จ่ายเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ผลิตหรือส่งไฟฟ้าต้องเตรียมตัวลงทุนแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงรัฐบาลเองก็ต้องพัฒนาระบบบริหารการใช้ไฟฟ้าในอนาคตด้วยเช่นกัน

รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท

รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEVs)

1. รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEVs)

เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้น้ำมันร่วมกับการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะประหยัดน้ำมัน เครื่องไม่ต้องทำงานหนักเท่ารถที่ใช้น้ำมันอย่างเดียว ช่วงที่ออกตัวหรือรถอยู่นิ่งแต่เปิดแอร์และเครื่องเสียง รถจะใช้พลังงานจากแบตเตอรีเท่านั้น (ถ้าประจุไฟฟ้าพอ) แต่ช่วงที่เราเร่งความเร็วเครื่องยนต์จะทำงานควบคู่ไปกับมอเตอร์ไฟฟ้า และเมื่อกลับมาวิ่งด้วยความเร็วคงที่ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานแบตเตอรีได้ และขณะเดียวกันตอนเครื่องติดและตอนเบรกก็จะชาร์จประจุไฟแบตเตอรีไปด้วย

รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดที่เราเห็นกันทั่วไป เช่น Toyota Camry, Honda Accord, Toyota C-HR

รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid, PHEV)

2. รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid, PHEV)

เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อมาจากแบบไฮบริด ยังคงใช้น้ำมันร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า แต่พิเศษกว่าตรงที่เราสามารถชาร์จไฟที่บ้านหรือตามสถานีได้ ถ้าวิ่ง 20-50 กิโลเมตรต่อวันแทบไม่จำเป็นต้องเติมน้ำมันเลย กลับไปชาร์จที่บ้านเอา แต่ยังไงก็ต้องมีน้ำมันค้างถังไว้เผื่อฉุกเฉิน

ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด เช่น Toyota Prius Plugin Hybrid, Mercedes Benz A250e

3. รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรีอย่างเดียว (Electric Vehicle, EV)

หรือที่เราเรียกกันว่ารถ EV นั่นเอง แบตเตอรีจะขนาดใหญ่กว่าแบบ PHEV เพราะไม่มีการใช้น้ำมันควบคู่แล้ว ข้อดีคือช่วยลดมลภาวะ เพราะไม่มีการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ จึงไม่มีควันไอเสีย แถมเสียค่าบำรุงรักษาน้อยกว่า เพราะไม่มีเครื่องยนต์ ไม่ต้องถ่ายน้ำมันเครื่อง แต่วิ่งได้กี่กิโลเมตรขึ้นอยู่กับยี่ห้อและรุ่น 

ถ้าเป็น FOMM-ONE อาจจะวิ่งได้ไกลสุด 160 กิโลเมตร โหด ๆ หน่อยก็ Jaguar i-Pace วิ่งได้ 543 กิโลเมตร แต่ต้องยอมรับว่าการใช้รถ EV ในไทยยังไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก เพราะสถานีชาร์จไฟยังมีน้อย ถ้าไฟหมดกลางคันคือจบเลย แถมใช้เวลาชาร์จนาน หัวชาร์จธรรมดาต้องชาร์จนาน 6-8 ชั่วโมง แบบเร็วสุดก็ 0.5-3 ชั่วโมง

ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าแบบ EV เช่น Tesla, MG ZS EV, Mini Electric

4. รถยนต์ไฟฟ้าแบบพลังงานไฮโดรเจน (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV)

4. รถยนต์ไฟฟ้าแบบพลังงานไฮโดรเจน (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV)

ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถ EV แต่ไฟฟ้าที่นำมาใช้ได้มาจากการเติมไฮโดรเจนแล้วแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะได้ไอเสียเป็นไอน้ำ แต่ไม่เป็นมลพิษ ใช้เวลาการเติมแค่ 5 นาที วิ่งได้เกิน 300 กิโลเมตร ลบจุดด้อยของ EV ไปได้ แต่ยังไงก็ยังมีข้อด้อยตรงที่การสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก รวมถึงความปลอดภัยของถังกักเก็บไฮโดรเจนในรถที่อาจสูงถึง 700 บาร์ เมื่อเทียบกันแล้ว EV ดูเหมือนจะมีความพร้อมขายมากกว่า FCEV

ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้า FCEV เช่น Toyota Mirai

ถึงแม้การใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องราคา สถานีชาร์จ ระยะเวลาชาร์จ และเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่ต้องรองรับ แต่อีกไม่นานข้อจำกัดเหล่านี้อาจค่อย ๆ หายไป เพราะหลายแบรนด์ก็เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้นด้วยแนวคิดเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นทุกที่เต็มไปด้วยสถานีชาร์จไฟ ผู้คนขับรถยนต์ไฟฟ้าเต็มบ้านเต็มเมืองก็ได้

สำหรับน้อง ๆ นักเรียนหรือคนทั่วไปที่อยากหาความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เนื้อหาทันสมัย ละเอียด เข้าใจง่าย สามารถเข้าไปหาความรู้ได้ที่ คลังความรู้ Scimath สสวท. มีหลากหลายอย่างให้เลือกดูเลย ทั้งบทความ บทเรียน วีดิทัศน์ โครงงาน E-books และอื่น ๆ อีกมากมาย

SHARE

RELATED POSTS