Search
Close this search box.
หิวตอนกลางคืน Night Eating Syndrome

หิวตอนกลางคืน สัญญาณเตือนอันตราย
เสี่ยงเป็นโรค Night Eating Syndrome

  • Night Eating Syndrome เป็นอาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่ง ส่งผลให้มีพฤติกรรมหิวตอนกลางคืน จำเป็นต้องกินเพราะไม่เช่นนั้นจะนอนไม่หลับ
  • คนที่เป็นโรค Night Eating Syndrome อาจเกิดจากพฤติกรรมของความอยาก หักห้ามใจในการกินไม่ได้ ภาวะเครียด หรือระดับความผิดปกติของฮอร์โมน เสี่ยงเป็นโรคอ้วน โรคกระเพาะ โรคกรดไหลย้อน และโรคความดันโลหิตสูง

มองนาฬิกาเวลาก็เกือบเที่ยงคืนทำไมยังหิวอยู่นะ ? สำหรับใครที่มีพฤติกรรมหิวตอนกลางคืน อยากกินนู่น อยากกินนี่หลังฟ้ามืดอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้คุณอ้วนเท่านั้น แต่ร่างกายอาจกำลังส่งสัญญาณอันตรายว่าคุณกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรค Night Eating Syndrome อยู่

อะไรคือ Night Eating Syndrome ?

Night Eating Syndrome คืออะไร

Night Eating Syndrome คือ อาการภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้พฤติกรรมการกินผิดแปลกจากเดิม ในช่วงเวลาเช้าหรือระหว่างวันจะไม่ค่อยรู้สึกอยากอาหารสักเท่าไหร่ แต่มักจะหิวและรู้สึกอยากกินในเวลากลางคืน ถึงแม้ว่าจะหลับไปแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาร่างกายจะถูกปลุกให้ตื่นเพื่อออกมาเปิดตู้เย็นหาอะไรกินอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้อใหญ่หรือขนมจุกจิกเล็ก ๆ น้อย ๆ

Albert Stunkard นักจิตวิทยาชาวอเมริกันค้นพบเจ้าโรคนี้ในปี 1955 เนื่องจากคนไข้ของเขามีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน กินเก่งมากกว่าปกติ และมักจะหิวตอนกลางคืน กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาอ้วนขึ้น คุณหมอจึงตั้งชื่อโรคนี้ว่า Night Eating Syndrome

นอกจากนี้ วารสาร American Medical Association ยังเปิดเผยการศึกษาไว้ว่า คนที่มีอาการกินเก่งตอนกลางคืน มักจะรู้สึกหิวและอยากกินอาหารในช่วงเวลาหลัง 6 โมงเป็นต้นไป ซึ่งจากกลุ่มผู้เข้าทดลองพบว่า ผู้ที่มีอาการหิวตอนกลางคืนหรือเป็นโรค Night Eating Syndrome นั้น สามารถกินอาหารได้มากกว่า 3 เท่าของปริมาณอาหารที่กินมาทั้งวัน

สาเหตุหลักของอาการ Night Eating Syndrome

สาเหตุหลักของอาการ Night Eating Syndrome

อาการของคนที่กินเก่งตอนกลางคืนถือเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง เนื่องจากเสพติดการกินในเวลากลางคืนเป็นประจำ ทำทุก ๆ วันจนกลายเป็นความเคยชิน นอกเหนือจากนั้นสาเหตุของการเป็น Night Eating Syndrome ยังมาจากความผิดปกติของฮอร์โมน ระดับเมลาโทนิน คนที่ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับ หรือโรคเครียดอีกด้วย ซึ่งคนวัยทำงานเสี่ยงเป็นโรคนี้กันเยอะมากโดยที่ไม่รู้ตัว

นอนไม่หลับทำไงดี ? คลิก วิธีช่วยให้หลับง่ายขึ้น แปลกหน่อยแต่ได้ผลจริง

Night Eating Syndrome เป็นจอมวายร้าย

การหิวตอนกลางคืนหรือกินดึก นอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังส่งผลร้ายกับร่างกายในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย ทั้งท้องอืด ท้องเฟ้อ กรดไหลย้อน นอกจากนั้นโรค Night Eating Syndrome มีผลทำให้กินอาหารไม่ตรงเวลา จึงเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระเพาะได้ อีกทั้งยังส่งผลให้อ่อนเพลีย เนื่องจากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงเนื่องจากน้ำหนักเกินอีกด้วย

ลองมาเช็กกันสักหน่อย คุณเสี่ยงเป็น Night Eating Syndrome หรือเปล่า?

ลองมาเช็กกันสักหน่อย คุณเสี่ยงเป็น Night Eating Syndrome ไหม
  • ตอนเช้าไม่ค่อยหิว กลางวันไม่อยากกิน
  • กินตอนเย็นเยอะมาก สั่งมาเลย เต็มโต๊ะก็กินหมด
  • หากไม่ได้กินมื้อดึกจะนอนไม่หลับกระสับกระส่าย คิดเสมอว่าการกินมื้อดึกจะทำให้หลับสบาย
  • มักจะสะดุ้งตื่นในตอนกลางคืนแล้วนอนต่อไม่ได้ ต้องลุกมาเปิดตู้เย็นหาของกิน 3 – 4 ครั้งต่อคืน
  • เผลอละเมอลุกขึ้นมากินไม่รู้ตัว (ต้องลองถามคนในบ้านดู)
  • คิดว่าการหิวตอนกลางคืนแล้วได้กินเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่ง

ลองแกล้ง ๆ วงกันดูสักหน่อยว่าพฤติกรรมประจำวันของคุณเป็นตาม Lists บ้างไหม หากคุณกำลังรู้ตัวว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะโรค Night Eating Syndrome รักษาได้

หนทางสกัดโรค Night Eating Syndrome

ป้องกันโรค Night Eating Syndrome
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินในทันที จำเป็นต้องจัดตารางการรับประทานอาหารในช่วงเวลาเช้า กลางวัน และเย็นอย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจจำเป็นที่จะต้องให้นักโภชนาการเข้ามามีส่วนช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้
  • ในบางเคสอาจถูกวินิจฉัยว่าสาเหตุการเกิดโรค Night Eating Syndrome เกิดจากภาวะเครียด ดังนั้นแพทย์จึงอาจจะต้องรักษาด้วยยา หรือผู้ป่วยจำเป็นต้องลดความเครียดลงด้วยการทำกิจกรรม หรือการออกกำลังกาย
  • รักษาอาการหิวตอนกลางคืนโดยจิตวิทยา ให้จิตแพทย์เข้ามาช่วยบำบัด โดยให้เผชิญหน้ากับพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง หากคุณจำเป็นต้องกินอาหารตอนกลางคืนเพราะเกรงว่าจะนอนไม่หลับ ต้องหาวิธีแก้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่การกิน ไม่เช่นนั้นอาการหิวกลางดึกจะไม่มีวันหายไป
  • การรักษาโรค Night Eating Syndrome ด้วยฮอร์โมน สำหรับผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าอาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากระดับความผิดปกติของฮอร์โมน แพทย์จำเป็นที่จะต้องปรับระดับฮอร์โมนของคุณให้อยู่ในสภาวะปกติ อาจเป็นการฉีดยาหรือให้ยามารับประทานอย่างสม่ำเสมอ
  • ดื่มน้ำเปล่าสักแก้วก่อนคิดจะเคี้ยวอะไรในปาก เพราะบางทีร่างกายอาจต้องการแค่น้ำ 

สำหรับใครที่เช็คลิสต์แล้วเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรค Night Eating Syndrome ควรเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ควรปล่อยให้กลายเป็นความเคยชิน เพราะการกินดึกส่งผลเสียต่อร่างกาย 100% ทางที่ดีควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ หมั่นออกกำลังกาย และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ

SHARE

RELATED POSTS