Search
Close this search box.
ภาวะหมดไฟในการทำงาน-หมดไฟ-Burnout Syndrome

Burnout Syndrome
เมื่อ WFH ทำให้การหมดไฟมาไวกว่าที่คิด

หลาย ๆ คนที่กำลัง work from home อยู่คงเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าการที่เรารู้สึกเหนื่อยเกินกว่าที่เป็น ไม่อยากทำงาน ไม่อยากทำอะไรเลย อาการเหล่านี้มันคือภาวะ Burnout Syndrome ใช่หรือไม่ แล้วอาการนี้จริง ๆ มันคืออะไร ไปรู้จักและหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลย เพื่อช่วยรับมือก่อนที่จะสายเกินแก้

การ Burnout คืออะไร

Burnout Syndrome หรือสภาวะหมดไฟ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน หรือ การใช้ชีวิตประจำวัน ที่แต่เดิมเรามักจะมีไฟ มี Passion ในการทำงาน หรือทำสิ่งหนึ่งเสมอ เนื่องด้วยความสนุกสนาน ความน่าสนใจ แต่แล้ววันหนึ่งอาจจะมีหลาย ๆ ปัจจัยที่เข้ามาให้เกิดสาภาวะ Burnout Syndrome ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความกดดัน เรื่องของความเครียด หรือในเรื่องของการทำกิจกรรมเดิม ๆ เป็นระยะเวลานานที่ทำให้เรารู้สึกหมดไฟ ไม่มีพลังทางกาย ทางใจ

Burnout Syndrome การหมดไฟที่ใกล้เรากว่าที่คิด

อย่างที่บอกไปว่าสภาวะหมดไฟเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้ปัจจุบันนี้ Burnout Syndrome สามารถเกิดกับเราได้ง่ายกว่าที่เคย และยิ่งในสถานการณ์การ Work From Home ที่กำลังเกิดขึ้นเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเร่งการ หมดไฟได้ไวยิ่งขึ้น อาจจะขึ้นอยู่กับการจัดการชีวิตให้กับตัวเอง หรือเรื่องของวัฒนธรรมองค์ที่ทำให้เราไม่สามารถแยกแยะเวลางานและเวลาส่วนตัวออกจากกันได้ พอนาน ๆ เข้าก็ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไปมันได้อะไรกลับมา และท้ายที่สุดก็นำพาเราเข้าสู่สภาวะหมดไฟ

ในขณะเดียวกันสภาวะ Burnout เองก็ใกล้เราเข้ามาเรื่อย ๆ และเกิดได้ง่ายมากขึ้น เช่นคนอายุ 30 – 40 ปี ที่อยู่ในจุดอิ่มตัวของสายงาน หรือแม้แต่กลุ่ม First Jobber ที่เพิ่งเริ่มงานก็สามารถเกิดสภาวะหมดไฟได้ง่าย ๆ เพราะความกดดัน หรือความเครียดที่พบเจอในชีวิตการทำงาน และในขณะเดียวกันเองภาวะ Burnout Syndrome เองก็ไม่ได้เกิดกับเพียงแค่ชีวิตการทำงานเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับชีวิตส่วนตัวก็ได้ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการหมดไฟ คือสภาวะความเครียดจากการรับผิดชอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว การผ่อนบ้าน ผ่อนรถต่าง ๆ นานา ก็สามารถเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการหมดไฟได้เช่นกัน

สังเกตยังไงว่าเรา Burnout Syndrome แล้ว

ภาวะหมดไฟในการทำงาน-หมดไฟ-Burnout Syndrome

ไม่มีพลังกายพลังใจ

คนที่มีสภาวะ Burnout Syndrome มักจะมีอาการที่เด่นมาก ๆ คือการที่เราตื่นเช้ามาเล้วเราไม่อยากมาทำสิ่ง ๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียนหรือ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้เราอยากตื่นขึ้นมาทำอีกแล้วนั่นเอง

อารมณ์ไม่คงที่ และเริ่มคิดลบกับโลกใบนี้

แน่นอนล่ะว่าถ้าเราเป็นคนที่ Burnout เราคงจะมีเรื่องให้ต้องเหนื่อยล้า และหมดไฟกันหลาย ๆ เรื่อง อารมณ์ไม่คงที่เองก็มักจะเป็นผลที่ตามมาจากการเกิดภาวะหมดไฟด้วยเช่นกัน ทำให้บางครั้งก็จะมีอารมณ์เครียด มีความหงุดหงิดด้วยก็ได้ และสิ่งเหล่านี้เองทำให้รู้สึกว่าชีวิตนี้เราไม่มีความสุขเลย โลกใบนี้มีแต่อะไรที่ไม่น่ารักกับเราเลย

ออกห่างจากสังคม หรือ เพื่อนร่วมงาน

สิ่งนี้มักจะเห็นได้ชัดจากคนที่หมดไฟไปแล้ว เขาเหล่านั้นมักจะปลีกตัวออกห่างจากสังคมเสมอเช่นจากที่เคยต้องชวนกันไปกินข้าวเที่ยง พอกลายเป็นคน Burnout ก็เลือกที่จะไปกินข้าวเที่ยงคนเดียวเงียบ ๆ นั่งทำงานคนเดียวเงียบ ๆ เพราะความเหนื่อยล้าในจิตใจที่มาจากการ Burnout นั่นเอง

ไม่มีสมาธิกับการทำงาน

คนที่ Burnout อย่าว่าแต่เรื่องของสมาธิในการทำงานเลย อย่างที่บอกไปว่าแม้แต่ไฟในการทำงานเราเองก็มีน้อยลง เลยมักจะไม่ได้จดจ่ออยู่กับงานที่เราต้องทำ หรือรับผิดชอบขนาดนั้น ในบางคนคือแทบอยากจะเคลียร์ไปให้พ้นทาง รีบทำให้จบแบบขอไปที

รู้สึกว่าความสุขกำลังลดน้อยลง

และใช่เลยสิ่งที่แย่ที่สุดจากการ Burnout คือการที่เรารู้สึกว่าความสุขที่เรามีเองกำลังลดน้อยลงไป เพราะการถูกกดขี่จากหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เราไม่มีความสุข การที่เราไม่รู้ตัวว่าอะไรที่มันกำลังกดขี่เราให้เราหมดไฟอยู่ยิ่งทำให้แย่ไปกันใหญ่

การรับมือจากสภาวะ Burnout Syndrome

ภาวะหมดไฟในการทำงาน-หมดไฟ-Burnout Syndrome

ยอมรับว่ากำลัง Burnout

การที่เรายอมรับว่าเรากำลัง Burnout เรากำลังเข้าสู่สภาวะหมดไฟจะช่วยทำให้เรารับมือกับการ Burnout ได้ได้ไวมากขึ้น เพราะคนที่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังหมดไฟ มักจะมีแนวโน้มในการรับมือได้ดีกว่าคนที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังหมดไฟ และฝืนทำต่อไปจนกระทั่งมอดไหม้ตัวเองไม่มีเหลือ

คุยกับตัวเอง

กลับมาคุยกับตัวเองว่าสิ่งที่ทำให้เรา Burnout เป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ หรือไม่ การคุยกับตัวเองเปรียบเสมือนการมานั่งถามว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เราต้องการนั้นคืออะไร สิ่งที่เรากำลังทุ่มเทให้กับมันวันละเกือบ 10 ชั่วโมงมันคือสิ่งที่บั่นทอนเราหรือไม่  เพราะลึก ๆ แล้วการ Burnout เป็นการที่ร่างกายเองกำลังตะโกนบอกเราว่า “เห้ย แกต้องแคร์ร่างกายตัวเองได้แล้วนะ”

จัดสรรเวลาให้เกิด Work Life Balance

เพราะในหลาย ๆ ครั้งการเกิดอาหาร Burnout มักเกิดจากการทำงานที่เครียด กดดัน หรือซ้ำซากจำเจจนทำให้เรารู้สึกว่า เราทำไปเพื่ออะไร และในขณะเดียวกันนั้นการ Work From Home ก็ทำให้บางคนไม่สามารถจัดสรรเวลาในการทำงานได้เป็นแบบปกติ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราควรจะถอยออกมาและเลือกที่จะจัดเวลาให้มี Work Life Balance ให้ชีวิตของงเราได้ทำในสิ่งที่เราต้องการบ้าง ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก สิ่งที่ชอบ สิ่งที่สนใจ มักจะจุดประกายไฟในการทำงานให้เราได้เสมอ

หาโอกาสใช้วันลา และท่องเที่ยว

สำหรับใครที่กำลังรู้ตัวว่าจะ Burnout แล้วนะ ก็อยากให้หาวันลา ใช้วันลาที่มีอยู่ในการไปเที่ยวไปพบเจอสิ่งใหม่ ๆ  เพราะจริง ๆ แล้วการไปเที่ยว การไปต่างจังหวัด ไปอยู่กับธรรมขาติเองก็มักจะช่วงเราในการเยียวยาจากสภาวะหมดไฟได้เสมอ เพราะฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่ากำลังจะ Burnout ก็รีบใช้วันลาที่มีอยู่ไปเติมไฟให้ตัวเองกันเลย

การลาออก การย้ายงาน

ในบางทีใครที่ทำงานที่เดิมมาเป็น 10 ปีก็คงมีจุดอิ่มตัวจนไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม ตอนนี้ที่ทำอยู่ก็รู้สึกว่าไม่ได้อะไรเพิ่มเติมแล้ว เพราะฉะนั้นการย้ายงาน ลาออกจากที่ทำงานเดิมไปเริ่มที่ใหม่เองก็เป็นอีกตัวเลือกสำหรับคน Burnout เหมือนกัน เพราะการทำงานในที่ใหม่ ๆ กับสังคมใหม่ ๆ ก็จะช่วยให้เราได้จุดประกายไฟเล็ก ๆ ในตัวเราได้อีก  และที่สำคัญหากเราจะย้ายงาน เราต้องไม่กลัวความเปลี่ยนแปลง

Burnout Syndrome ก้าวแรกไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าก้าวต่อไประวังซึมเศร้า

สำหรับใครที่รู้ตัวแล้วว่ากำลัง Burnout ก็อยากลองให้ทุกคนได้ไปลองทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาทางในการจุดประกายไฟให้ตัวเองจากภาวะหมดไฟ เพราะจริง ๆ แล้วการ Burnout เองก็เป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ด้วย ในหลาย ๆ ครั้งการเกิดสภาวะหมดไฟมักเกิดจากการที่เรามีความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว ทำให้บางคนกว่าจะรู้ตัวสภาพจิตใจเองก็ย่ำแย่มากแล้ว เพราะฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่ากำลังหมดไฟก็ลองหาอะไรทำที่ทำให้เรากลับมามีไฟอีกครั้งกันเถอะ

สำหรับใครที่กำลังเผชิญกับสภาวะ Burnout เองก็อยากให้ทุกคนลองสังเกตอาการตัวเองกันดูด้วยนะ เพราะหากเรารับรู้สภาวะจิตใจของเราได้เร็ว เราก็ยิ่งจะสามารถรับมือและแก้ปัญหาก่อนที่สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ จะตามมาได้ในอนาคต เพราะการ Burnout มันไม่ใช่แค่เรื่องของการหมดไฟ แต่มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจของเราโดยตรง

SHARE

RELATED POSTS