กักตุนอย่างไรให้ไม่เสียของ
| วิธีถนอมอาหาร เก็บของสดให้นานขึ้น
- ช่วงนี้ต้องกักตัว แล้วก็ต้องกักตุนด้วยใช่ไหมล่ะ ? แต่พอตุนแล้ว…เนื้อก็เริ่มมีกลิ่น ผักก็เริ่มดำ แถมมีน้ำเมือก ๆ ออกมาด้วย ใครเจอปัญหานี้ต้องรู้วิธีถนอมอาหารกันหน่อยแล้ว
- สำหรับวิธีเก็บเนื้อสัตว์ให้นานขึ้น ต้องแบ่งเนื้อไว้สองส่วน ส่วนหนึ่งนำไปแช่ช่องกลางถ้าจะกินเร็ว ๆ นี้ และอีกส่วนให้แช่ช่องฟรีซ แล้วถ้าจะนำมาใช้ให้เอาลงมาแช่ช่องธรรมดาก่อนสัก 1 คืน เพื่อให้ปลอดภัยจากแบคทีเรียและคงรสชาติอูมามิ
- การเก็บรักษาผักอาจจะมีวิธีที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด บางอย่างควรล้างก่อน บางอย่างอาจไม่ต้อง แต่สิ่งที่ต้องทำเหมือนกันแน่ ๆ คือตัดส่วนที่เสียทิ้งและผึ่งให้แห้งก่อนแช่เย็นทุกครั้ง
- นอกจากนี้ ยังมีวิธีถนอมพริกขี้หนูแยกอีกต่างหาก รวมทั้งวัตถุดิบอื่น ๆ ที่เรียกว่า “ของมันต้องมี” อีกด้วย
สำหรับใครที่กักตุนของสดไว้ในตู้เย็น คงจะพบเจอกับปัญหาวัตถุดิบเสียเร็ว ยังไม่ทันได้ใช้ก็ดันเน่าเสียก่อน เป็นแบบนี้เสียเงินฟรีแน่ ๆ เพราะต้องทิ้งหมด แต่ Short Recap จะไม่ให้มันเป็นแบบนั้นหรอก เพราะเราได้นำวิธีถนอมอาหารมาฝากเหล่าบรรดาเชฟทุกคนแล้ว ซึ่งจะช่วยเก็บรักษาวัตถุดิบให้อยู่ได้นานขึ้น ไม่ต้องทิ้งให้เสียของอีกต่อไป
1. วิธีถนอมเนื้อสัตว์
วิธีถนอมอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.1 วิธีเก็บเนื้อหมู, ไก่, ปลา, หมึก ควรแบ่งเนื้อไว้สองส่วน คือ
1) เนื้อที่จะทำอาหารในมื้อถัดไป ล้างให้สะอาด จัดการให้สะเด็ดน้ำ แล้วใส่ภาชนะปิดให้มิดชิด นำไปแช่ช่องกลาง
2) เนื้อที่จะเก็บไว้ทำอาหารมื้ออื่น ๆ ให้ทำเหมือนขั้นตอนที่ 1) แต่เปลี่ยนไปแช่ช่องฟรีซแทน
*เนื้อหมูและไก่ สามารถหมักไว้แล้วแช่ช่องกลาง จะช่วยให้เนื้อเสียช้าลง แต่อย่าปรุงรสจัดมาก ควรนำมาประกอบอาหารหลังจากหมักภายใน 1-2 วัน
1.2 วิธีเก็บกุ้ง ล้างทำความสะอาดให้ดี จะตัดหนวดหรือไม่ตัดก็ได้! แล้วเก็บใส่ภาชนะที่ปิดสนิท จากนั้นนำไปแช่ช่องฟรีซ
1.3 วิธีเก็บปู อาจจะนึ่งแล้วแกะเนื้อแช่ช่องธรรมดา ถ้าแช่แข็งแล้วมานึ่งเนื้อจะไม่อร่อย แนะนำว่าควรทานตอนที่ยังสดใหม่จะดีกว่า
1.4 วิธีเก็บหอย ถ้ายังเป็น ๆ อยู่ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ห่อหอยเอาไว้ ใส่ชามแล้วนำไปแช่ช่องธรรมดา หอยจะอยู่ได้นาน 7-10 วัน แต่ห้ามปิดฝาเด็ดขาด!
อีกหนึ่งวิธีเก็บรักษาหอยอาจจะลวกแล้วแกะเอาเนื้อใส่แช่ตู้เย็นไว้ก็ได้ แต่ทางที่ดีควรซื้อมาแล้วทำทานเลยจะอร่อยที่สุด
วิธีละลายน้ำแข็งออกจากเนื้อสัตว์ที่ถูกต้อง!
การละลายน้ำแข็งควรตั้งเนื้อสัตว์ไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-5 °C ก่อนนำมาประกอบอาหาร เพราะถ้าเอาออกมาไว้ด้านนอกอาจทำให้แบคทีเรียทำงาน หรือเรียกว่าอยู่ในช่วง Danger Zone (5-63 °C) นั่นเอง แต่วิธีนี้จะใช้เวลานานมาก ๆ กว่าน้ำแข็งจะละลาย
เพราะฉะนั้น ให้เอาเนื้อสัตว์ที่แช่แข็งลงมาไว้ช่องธรรมดาก่อนสัก 1 คืน อาจจะต้องเตรียมล่วงหน้าสักหน่อยนะ แต่ก็ปลอดภัยจากแบคทีเรีย แถมยังคงรสอูมามิของเนื้อสัตว์ได้ดีกว่าการนำไปแช่น้ำปกติอีกด้วย
2. วิธีถนอมผักสด
– วิธีเก็บต้นหอมผักชี หากใบเริ่มเหลืองและช้ำให้เด็ดออก และถ้ารากต้นหอมเริ่มเละเป็นเมือก ๆ ให้แกะออกไปเลย แล้วล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นห่อกระดาษหรือใส่ถุงซิปล็อก แล้วแช่ในช่องผัก (ถ้าผักที่ซื้อมาไม่เลอะโคลน ไม่จำเป็นต้องล้างก็ได้ ผึ่งให้แห้งแล้วห่อเก็บเข้าตู้เย็นได้เลย) แต่เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยจากมือคนอื่น ๆ ที่จับมา ล้างก่อนเก็บแช่ตู้เย็นก็ไม่ผิดนะ
– วิธีเก็บผักกาดขาว กะหล่ำปลี หัวไชเท้า แครอต ฯลฯ ไม่ต้องล้าง ใส่ถุงแล้วไล่อากาศออก ปิดปากถุงแล้วแช่ช่องผักได้เลย
*อย่าหั่นผักผลไม้จนกว่าจะใช้ทำอาหาร เนื่องจากการสัมผัสกับอากาศจะทำให้สูญเสียวิตามินและสารอาหารที่จำเป็น
3. วิธีถนอมพริกขี้หนู
หลายคนยังสับสนอยู่ว่า…สรุปแล้ววิธีเก็บพริกขี้หนูให้อยู่นานนั้นต้องเด็ดขั้วพริกหรือไม่? ตอบเลยว่า ถ้าเห็นขั้วพริกเริ่มดำให้เด็ดออก เพราะอาจลามไปที่เม็ดพริก แต่ถ้ายังเขียวสดอยู่ให้ห่อกระดาษหรือใส่ภาชนะแล้วปิดด้วยพลาสติก Wrap นำไปแช่ในช่องแช่ผักได้เลย ที่สำคัญ!!! ถ้าพริกเปียกหรือชื้นให้ผึ่งลมให้แห้งก่อน
4. วิธีถนอมมะนาว
วิธีเก็บมะนาวให้อยู่ได้นานมีหลากหลายวิธี แต่ที่แนะนำคือ ให้ล้างมะนาวให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง แล้วห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ ใส่ถุงซิปล็อกหรือถุงพลาสติก (ไม่เปียกน้ำ) ผูกปากถุงแล้วแช่ช่องธรรมดา
5. วิธีถนอมหัวหอม หอมแดง กระเทียม
วิธีถนอมอาหารอย่างหัวหอม หอมแดง และกระเทียม ควรเก็บไว้ในที่แห้ง ถ้าจะให้ดีควรแขวนให้มีอากาศไหลผ่าน หรือถ้าจะใส่ตะกร้าก็พยายามอย่าให้ชื้นหรือเปียกเด็ดขาด เพราะจะเน่าได้
6. วิธีถนอมไข่
จริง ๆ แล้วไข่สามารถวางไว้ที่อุณหภูมิห้องได้ (หากไม่มีการแช่เย็นมาก่อน) แต่เพื่อให้มั่นใจก็สามารถนำไปแช่เย็นโดยเอาด้านแหลมทิ่มลง เพื่อให้ไข่แดงลอยอยู่ตรงกลาง เวลาตอก ไข่แดงจะได้ไม่แตก และถ้าพบว่าไข่มีรอยบุบรอยร้าวควรตอกใส่ภาชนะแล้วปิดฝาให้มิดชิด จากนั้นค่อยนำไปแช่ตู้เย็น
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยถนอมไข่คือ ใช้น้ำมันพืชเคลือบเปลือกไข่ โดยหยดน้ำมันลงบนฝ่ามือแล้วถูที่เปลือกไข่ให้ทั่ว ไม่ต้องชุ่มมาก จากนั้นเก็บไว้ในถาดเหมือนเดิม วิธีนี้เป็นการป้องกันออกซิเจนซึมเข้าไปในไข่ เหมือนไข่ที่เพิ่งออกมาจากแม่ไก่ ที่จะมีไขมันเคลือบเอาไว้ ทำให้ไข่อยู่ได้นาน
7. วิธีถนอมเห็ด
เห็ดแต่ละชนิดมีวิธีเก็บรักษาไม่เหมือนกัน เช่น
– วิธีเก็บเห็ดเข็มทอง, นางฟ้า, ออรินจิ หลังจากซื้อมาแล้วไม่ควรล้าง เพราะเห็ดจะช้ำและมีกลิ่น อมน้ำแล้วไม่กรอบ เพราะฉะนั้น ให้วางเห็ดบนกระจาดที่รองด้วยกระดาษ แล้วใช้พลาสติก Wrap ห่อให้มิดชิด แล้วนำไปแช่ตู้เย็นในช่องธรรมดา จะช่วยเก็บเห็ดได้นาน 4 – 5 วัน
– วิธีเก็บเห็ดฟาง ห้ามแช่ตู้เย็น เพราะจะช้ำและเปลี่ยนสี ควรนำเห็ดฟางมาขูดเอาเศษดินและสิ่งสกปรกออกจากโคน แล้ววางบนกระจาดที่รองด้วยกระดาษ เก็บในอุณหภูมิห้องที่อากาศถ่ายเท จะช่วยเก็บเห็ดฟางได้นานถึง 2 วัน
อีกวิธีหนึ่งคือนำไปลวกในน้ำเดือด แล้วน็อกน้ำเย็นให้หายร้อน ใส่ถุงซิปล็อกแช่ตู้เย็น จะอยู่ได้ 2 วันเหมือนกัน
8. วิธีถนอมพริกแกง
วิธีเก็บรักษาพริกแกง ถ้าจะทำแกงภายใน 1-2 อาทิตย์ ควรแบ่งไว้แค่พอแกง แล้วแช่เย็นช่องธรรมดา ส่วนที่เหลือเก็บเข้าช่องฟรีซ และควรใส่ภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อไม่ให้เนื้อสัมผัสของพริกแกงแห้งจนเกินไป วิธีนี้สามารถเก็บพริกแกงได้เป็นปี
ลองนำวิธีถนอมอาหารเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะ จะได้ไม่ต้องออกไปข้างนอกบ่อย ๆ ให้ตัวเองเสี่ยงติดโควิด แต่แนะนำว่าควรซื้อของสดตุนไว้ให้ถึง 1 สัปดาห์ก็เพียงพอแล้ว หากซื้อมากไปของสดบางอย่างก็อาจจะเริ่มเสีย ทำให้ต้องทิ้งก่อนใช้ และสำหรับใครที่ค้นพบวิธีถนอมอาหารดี ๆ ก็อย่าลืมมาแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้รู้กันนะ Short Recap รออ่านเลย