7 สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
เมื่อโลกปฏิเสธการมีชีวิตอยู่
สาเหตุที่ทำให้สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
1. ภาวะโลกร้อน
2. การรุกป่าเพื่อสร้างพื้นที่อุตสาหกรรม
3. การล่าเพื่อการค้า สะสม ทำเป็นอาหารหรือยา (เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส)
4. การนำพืชต่างถิ่นเข้ามา อาจเป็นพาหะโรคศัตรูพืช กระทบต่อที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์
สัตว์สูญพันธุ์ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
1. ห่วงโซ่อาหารพัง ระบบนิเวศเสื่อมถอย
2. ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัตว์บางชนิดมีบทบาทในการกำหนดโครงสร้างป่า เช่น ช้าง
3. ภาวะโลกร้อนที่รุนแรง ส่งผลต่อการละลายน้ำแข็งขั้วโลก มีแนวโน้มไวรัสใต้น้ำแข็งแพร่กระจาย
4. ออกซิเจนน้อยลง เพราะสัตว์บางชนิดคอยหมุนเวียนแร่ธาตุให้กับแพลงตอนพืช ซึ่งเป็นตัวการหลักในการผลิตออกซิเจนบนโลก เช่น วาฬ
“ถ้าเราสูญ(พันธุ์) มนุษย์อาจศูนย์เหมือนกัน”
1. เสือโกลเดน
เสือโกลเดน หรือ “เสือโคร่งทองคำ” เป็นเสือกลายพันธุ์ที่หายากที่สุดในโลก มีขนาดใหญ่กว่าเสือโคร่งทั่วไปเล็กน้อย ปัจจุบันเหลือเพียง 30 ตัวทั่วโลกเท่านั้น นับเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่เหลือน้อยลงเต็มที เพราะในอดีตมีมากกว่า 50 ตัว แต่ถูกล่าไปขายในตลาดเถื่อน
ซ้ำร้ายกว่านั้นคือแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันเหลือเพียง 7% จากพื้นที่เดิม นอกจากนี้ยังมีการประเมินจำนวนเสือโคร่งทุกสายพันธุ์ พบว่าลดลงไปกว่า 95% จาก 100,000 ตัว เหลือเพียง 3,200 ตัว ไม่ใช่แค่เสือโกลเดนที่จะสูญพันธุ์ แต่กำลังเป็นเสือทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเสือลายเมฆ เสือโคร่งไซบีเรีย เสือโคร่งเบงกอล เสือจากัวร์ เสือดำ เสือภูเขา เสือดาวหิมะ เสือดาวอามูร์ เสือมอลตา เป็นต้น
2. ลิงอุรังอุตัง
ขณะนี้มีลิงอุรังอุตัง 2 จาก 3 สายพันธุ์ที่ถูกจัดอยู่ในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต หนึ่งในนั้นคือลิงอุรังอุตังตาปานูลี ที่เพิ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นอีกพันธุ์หนึ่งของลิงอุรังอุตังในปี 2018 แต่ก็สายไปแล้ว เพราะเหลืออยู่ราว ๆ 800 ตัวหรืออาจน้อยกว่านั้น สายพันธุ์ที่สองคือลิงอุรังอุตังบอร์เนียว เหลืออยู่ประมาณ 35,000-45,000 ตัว ซึ่งช่วง 20 ปีก่อนมีเป็นหลักแสน ที่น่าสลดใจคือทุกวันประชากรอุรังอุตังจะลดลง 25 ตัว เพราะที่อยู่อาศัยกำลังถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์จากการรุกป่าเพื่อขยายเขตพื้นที่ทำอุตสาหกรรม และยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งในฐานะผู้บริโภคอย่างเราก็มีส่วนทำให้พวกเขาสูญพันธุ์เช่นกัน
3. ช้างป่า
ตอนนี้ช้างป่าถือเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันในไทยเหลือไม่ถึง 3,000 ตัว ที่น่าสลดใจไม่ใช่แค่การรุกป่าจนช้างใกล้สูญพันธุ์ แต่เป็นการฆ่าเอางานี่แหละ ซึ่งการลดลงของช้างป่าส่งผลให้คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น เนื่องจากช้างมีบทบาทสำคัญในการกำหนดโครงสร้างของป่า ทั้งช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืชและเกลี่ยดินตอนกินผลไม้ และยังจัดการต้นไม้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 30 เซนติเมตรตามทางที่พวกมันเดิน ทำให้ต้นไม้ใหญ่ได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปริมาณมาก
4. วาฬสีน้ำเงิน
สัตว์ใกล้สูญพันธุ์แห่งท้องทะเลคงหนีไม่พ้นวาฬสีน้ำเงินที่ถูกภัยคุกคามจากมนุษย์มากที่สุด ทั้งปัญหาขยะพลาสติก น้ำเสียจากครัวเรือนที่ไหลสู่ทะเล มลพิษทางเสียงจากการขุดเจาะปิโตเลียม และการถูกล่า เป็นต้น โดยในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาจำนวนวาฬร่อยหรอลงเหลือเพียง 10,000 – 25,000 ตัวทั่วโลก แม้ว่าการล่าวาฬจะถูกต่อต้านและผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่อาจหยุดการสูญพันธุ์ของวาฬได้ เนื่องจากมนุษย์รุกล้ำแหล่งอาหารของวาฬมากขึ้น ทำให้วาฬถูกเฉี่ยวชนจากเรือและตายไปในที่สุด ทั้งยังกระทบต่ออัตราการเกิดใหม่ยากขึ้นทุกที เพราะปกติวาฬจะผสมพันธุ์ในสายพันธุ์เดียวกันเท่านั้น
หากวาฬสูญพันธุ์จนหมดสิ้น การหมุนเวียนแร่ธาตุในท้องทะเลก็จะจบลง เพราะขี้วาฬนี่แหละที่เป็นแร่ธาตุสำคัญให้กับแพลงตอนพืช ไม่มีวาฬ = ไม่มีแพลงตอนพืช มนุษย์ก็ไม่มีออกซิเจน เพราะครึ่งหนึ่งของออกซิเจนในชั้นบรรยากาศมาจากแพลงตอนพืชทั้งนั้น
5. แรด
แรดที่กำลังสูญพันธุ์มีอยู่ 5 สายพันธุ์ด้วยกัน ได้แก่ แรดขาว แรดดำ แรดงาเดียว แรดสุมาตรา (กระซู่) และแรดชวา โดยปี 2015 เผยออกมาว่าจำนวนประชากรแรดในป่าเหลือไม่ถึง 30,000 ตัวทั่วโลก 70% อาศัยอยู่ที่แอฟริกาใต้ ซึ่งถ้าอิงข้อมูลปี 2014 จำนวนแรดที่ถูกฆ่าในแอฟริกาใต้สูงถึง 1,200 ตัวเลย เฉลี่ยก็วันละเกือบ 3 ตัว ยังไม่รวมประเทศอื่น และนี่! 2021 แทบไม่ต้องพูดว่าจะเป็นยังไง ขนาดประเทศไทยยังจัดให้แรดและกระซู่เป็นสัตว์สงวนอันดับ 1 เลย เพราะแทบไม่ผ่านมาให้เห็นแล้ว
สาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ก็คือการลักลอบค้านอแรดเพื่อนำไปทำยาบำรุงกำลัง ยารักษาโรคต่าง ๆ และเครื่องประดับหรือวัตถุมงคล รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่ทำให้แม่แรดตกลูกน้อยลง ขาดน้ำจนไม่มีน้ำนม ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือถ้าแม่แรดถูกล่าเอานอ ลูก ๆ ของมันตายแน่นอน เพราะไม่มีแม่ก็อยู่ไม่ได้
หากโลกนี้ไม่มีแรด ระบบนิเวศจะแปรปรวน เพราะแรดช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ดูแลรักษาทุ่งหญ้า ลดโอกาสการเกิดไฟไหม้ และทำให้ดินอุดมสมบูรณ์
6. เต่ามะเฟือง
ผู้คนตื่นเต้นทุกครั้งเวลาเห็นเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ พร้อมใจกันมามุงดู แถมยังช่วยดันแม่เต่าลงสู่ทะเล เพราะทราบดีว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ การโผล่มาแต่ละครั้งของเต่ามะเฟืองจึงเป็นสัญญาณที่ดี โดยบทบาทสำคัญในระบบนิเวศทางทะเลของเต่ามะเฟืองจะกินแมงกะพรุนเป็นหลักเพื่อควบคุมจำนวนแมงกะพรุน
ที่น่าเป็นห่วงคือโลกร้อนทำให้จำนวนเต่ามะเฟืองลดลง เพราะอุณหภูมิมีผลต่อการฟักไข่ จะเพาะเลี้ยงหรือเก็บน้ำเชื้อเองก็ไม่ได้ เพราะติดเชื้อและชนขอบสระตายหมด หรือต่อให้ฟักแล้วรอดไปได้ การเดินทางของเต่าน้อยที่กำลังลงสู่ทะเลก็ไม่รู้จะรอดพ้นจากปากอันแหลมคมของนกกี่ชีวิต รอดแล้วก็ต้องใช้เวลาถึง 25 ปีกว่าจะโตเป็นสาวแล้วขึ้นมาวางไข่อีกที ครั้นจะวางไข่ก็ต้องเจอกับมนุษย์ที่วุ่นวาย แสงสีเสียงเอย เรียกได้ว่าเป็นสัตว์ที่ลำบากในการใช้ชีวิตมาก ไม่รวมกินขยะพลาสติกตาย ติดอวนประมง และน้ำเสีย
7. ฉลาม
สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อีกหนึ่งชนิดที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือฉลาม ตอนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว 1 ชนิด อีก 3 ชนิดกำลังตามมาติด ๆ ถ้านับตั้งแต่ปี 2003 เราฆ่าฉลามไป 2 ใน 3 ของทะเลไทยแล้ว โดย 75% ที่ตายถูกเฉือนไปทำหูฉลาม เมื่อไรที่หูฉลามกำลังเข้าปาก เมื่อนั้นมีฉลามตาย 142 ตัวต่อนาที ไม่ต้องพูดถึงอัตราการขยายพันธุ์เลย เพราะฉลามหนึ่งตัวออกลูกน้อยมาก แถมยังโตช้าด้วย แน่นอนว่าทดแทนประชากรที่หายไปไม่ทัน นึกภาพทะเลไม่มีนักสร้างสมดุลอย่างฉลาม ระบบนิเวศอาจจะพัง ปลานักล่าที่ตัวเล็กกว่าก็มีแนวโน้มเยอะขึ้นจนกินปลาเล็กปลาน้อยหมด
เห็นทีจะต้องพูดว่าศัตรูของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้อาจไม่ใช่สัตว์ด้วยกัน แต่กลับเป็นมนุษย์ที่น่ากลัวที่สุด ตอนนี้คงพอได้เห็นผลกระทบจากการสูญพันธุ์ของสัตว์ต่าง ๆ กันบ้างแล้ว ถ้าเราจะรอด สัตว์เหล่านี้ต้องรอดก่อน
https://www.flagfrog.com/golden-tabby-tiger-rare/
https://www.greenpeace.org/thailand/orangutans-vs-palmoil-consumer-decision/
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1627033
https://www.the101.world/booming-of-whale-populations/
https://news.thaipbs.or.th/content/266306
https://www.brandbuffet.in.th/2016/09/world-rhino-day-to-know-2016/
https://www.seub.or.th/bloging/news/