Search
Close this search box.
โอไมครอน

รู้จักโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอนคืออะไร อันตรายแค่ไหน

  • โอไมครอน (Omicron)’ ไวรัสกลายพันธุ์ลำดับที่ 5 สายพันธุ์ล่าสุดมีรหัส ​1.1.529 โดยถูกค้นพบครั้งแรกที่ทวีปแอฟริกาใต้ ในประเทศบอตสวานา โดยปัจจุบันมีการระบาดไปในหลากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีการขยายพันธุ์ของยีนมากกว่า 50 ตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งเกิดขึ้นบนโปรตีนหนาม (Spike Protein) สามารถติดเชื้อซ้ำได้ แพร่กระจายได้ไวกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

  • ‘โอไมครอน (Omicron) แสดงความรุนแรงของอาการในระดับน้อย ไปจนถึงแทบไม่แสดงอาการอะไรเลย โดยที่วัคซีนยังคงได้ผลในการปกป้องความรุนแรงของโรคได้ ควบคู่กับยังคงต้องรักษามาตรการยกระดับสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 และ 4 ให้ไวที่สุด

  • การตรวจเชื้อไวรัสโควิด–19 สายพันธุ์ ‘โอไมครอน (Omicron)’ ต้องตรวจด้วย RT-PCR (Real Time PCR หรือ Antigen Test Kit ที่ได้รับการรองรับแล้วว่าสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด–19 สายพันธุ์โอไมครอนได้

เชื่อว่าตอนนี้ทุกคนคงได้ยินชื่อสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 กันมามากมาย ซึ่ง ‘โอไมครอน (Omicron)’ เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ชนิดใหม่ ที่กำลังเข้ามาทำให้ทุกคนตื่นตระหนก เพราะด้วยความที่แพร่เชื้อได้ไว แต่กลับแทบไม่แสดงอาการให้รู้เลยว่าเรากำลังติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้อยู่หรือเปล่า

ทำให้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับให้โอไมครอน เป็นอีกหนึ่งไวรัสโควิด-19 ที่น่ากังวลใจ และเป็นสายพันธุ์ล่าสุดมีรหัส ​B.1.1.529 โดยถูกค้นพบครั้งแรกที่ทวีปแอฟริกาใต้ ในประเทศบอตสวานา โดยปัจจุบันมีการระบาดไปในหลากหลายประเทศทั่วโลกแล้ว รวมถึง ‘ประเทศไทย’ ของเราด้วย

การกลายพันธุ์ของโอไมครอนนี้ มีการขยายพันธุ์ของยีนมากกว่า 50 ตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งเกิดขึ้นบนโปรตีนหนาม (Spike Protein) เป็นโปรตีนที่ไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ ซึ่งเห็นได้ว่ามีมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ต่ำ มีการติดเชื้อซ้ำได้ง่าย และทำให้ระบาดได้ไวขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น ซึ่งปัจจุบันก็สอดคล้องกับตัวเลขการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยของความน่ากังวลใจของ “โอไมครอน” ในการระบาดครั้งนี้

ปัจจัยของความน่ากังวลใจของ โอไมครอนในการระบาดครั้งนี้

โอไมครอน สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ : จากที่กล่าวไปข้างต้นด้วยสาเหตุที่ว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสที่เข้าไปสู่บริเวณ Spike Protein ซึ่งส่งผลให้ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้นสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน (ทำให้ผู้ที่เคยติดโควิด–19 มาแล้วสามารถติดได้อีก) และกระจายตัวเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น

อีกทั้งยังสามารถกลายพันธุ์บริเวณนอก Spike Protein ที่คล้ายคลึงกับไวรัสเดลต้า โดยเชื้อสามารถแบ่งตัวได้เร็ว แถมก่อตัวเพิ่มปริมาณไวรัสในระบบหายใจได้เยอะขึ้น ซึ่งทำให้ไวรัสสายพันธุ์นี้ขยายตัว และแพร่กระจายได้เร็วมากขึ้น

แนวโน้มในการต้านประสิทธิภาพจากวัคซีน : ปัจจุบันยังไม่มีคำตอบว่า ไวรัสจะดื้อต่อวัคซีนแค่ไหน แต่ค้นพบแล้วว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วก็สามารถติดเชื้อไวรัสโอไมครอนนี้ได้ แต่จะแสดงอาการน้อย ไปจนถึงแทบไม่แสดงอาการอะไรเลย โดยที่วัคซีนยังคงได้ผลในการปกป้องความรุนแรงของโรคได้ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องมีการพัฒนาวัคซีนกันต่อไปในอนาคตสำหรับการป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนี้ และต้องรักษามาตรการยกระดับสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 และ 4 ให้ไวที่สุด เพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

ชุดตรวจ Antigen Test Kit บางตัวไม่สามารถตรวจเชื้อไวรัสโควิด–19 สายพันธุ์ โอไมครอนได้ : เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เชื้อได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งเคสนี้ส่งผลอย่างหนักต่อผู้ที่ได้รับเชื้อมาแล้ว แม้จะตรวจด้วย Antigen Test Kit ก็ไม่สามารถรู้ผลจริงได้ ทำให้ผู้ป่วย หรือผู้ที่มีความเสี่ยงนั้นต้องสังเกตอาการตัวเอง โดยทางออกที่ดีที่สุดคือ การตรวจด้วย RT-PCR (Real Time PCR) การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้ อาจไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นและเป็นการตรวจหาเชื้อโดยละเอียดจากทางโรงพยาบาล ซึ่งสามารถตรวจจับได้หลายยีน

หรืออีกหนึ่งหนทางก็คือการตรวจแบบ Antigen Test Kit ที่ได้รับการรองรับแล้วว่าสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด–19 สายพันธุ์โอไมครอนได้ โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการผลิตตัว Antigen Test Kit ในแต่ละบริษัทว่ามีการรองรับตรวจจับเชื้อโอไมครอน ความไวในการเจอเชื้อ และมีมาตรฐานหรือไม่

ซึ่งทาง Short Recap ได้มียี่ห้อ Antigen Test Kit (ATK) ที่สามารถตรวจโอไมครอน และผ่านการรองรับมาตรฐานมาแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้มีขายในไทยอีกด้วย

ยี่ห้อ Antigen Test Kit (ATK) ที่สามารถตรวจโอไมครอน
  • Flowflex (ACON Biotech)
  • Panbio COVID – 19 (Abbott)
  • Beljng Tigsun (Tigsun)
  • Standard Q Covid – 19 Ag (SD Biosensor/Roche)
  • Onsite Covid – 19 (CTK Biotech)

เช็ก 7 อาการ “โอไมครอน” โดยข้อมูลจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน

  • มีอาการไอ คอแห้ง 54%

  • มีอาการระคายคอ 37%

  • มีน้ำมูก เหมือนเป็นหวัด โดยไม่ทราบสาเหตุ 12%

  • มีอาการเป็นไข้ต่ำ ปวดหัว ไม่สบาย 1-2 วัน 29%

  • รู้สึกล้า อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย โดยเฉพาะหลัง 15%

  • หายใจลำบาก 5%

  • ได้กลิ่นลดลง 2%

ถือได้ว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ “โอไมครอน” นั้นแสดงอาการได้น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และไม่ชัดเจนมากนัก ทำให้สามารถตรวจสอบได้ยาก แต่หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรรีบตรวจกับทางโรงพยาบาล และพึงระวังตัวด้วยการกักตัว งดออกจากบ้าน และพบปะผู้คน

วิธีป้องกันตัวเบื้องต้น จากเชื้อไวรัสโอไมครอน

ฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม : เรียกได้ว่ากลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยไปแล้วในปัจจุบัน ถ้าหากใครยังได้รับวัคซีนไม่ถึง 2 เข็ม ควรอย่างยิ่งที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามจำนวน

รับวัคซีนเข็ม 3 ให้ไวที่สุด : รับวัคซีนเข็ม 3 หรือ Booster Dose โดยเว้นระยะห่าง 3 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ได้มากที่สุด

สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานทุกครั้ง : หนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องสวมหน้ากากอนามัยในทุกที่พื้นที่สาธารณะ โดยหน้ากากต้องแนบชิดกับใบหน้า

หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า หู ตา ปาก จมูก : สิ่งที่ควรพึงระวัง และลดการสัมผัสให้ได้มากที่สุด เพราะว่าอวัยวะเหล่านี้ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ไวที่สุด

หมั่นล้างมือให้สะอาด : ควรล้างมือบ่อย ๆ ในทุกซอกทุกมุม เพราะทุกการสัมผัสของเรามีความเสี่ยงอย่างแน่นอน

เว้นระยะห่างเท่าที่จะทำได้ และหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด : ทุกการออกไปพบปะผู้คน หรือพื้นที่ชุมชนต้องคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทุกครั้ง อย่างต่ำ 1.5 เมตร รวมทั้งถ้าหากหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเทได้ จะยิ่งช่วยให้ปลอดภัย

ระมัดระวัง สังเกตอาการตัวเองอย่างสม่ำเสมอ : การไม่ชะล่าใจ สังเกตอาการตนเอง และคนรอบข้างให้มากที่สุด หากมีอาการที่ตรงกับโรค ควรเข้ารับการตรวจแบบ PCR Test หรือ Antigen Test Kit (ATK) ที่ได้คุณภาพ เพื่อความปลอดภัยแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคม

โอไมครอน เป็นอีกหนึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่น่ากังวลใจไปทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความห่วงใยจาก Short Recap อยากให้ผู้อ่านทุกท่านดูแลสุขภาพ คอยสังเกตอาการ และระมัดระวังตนเองกันด้วยนะ

SHARE

RELATED POSTS