Search
Close this search box.
กล่องสุ่ม

ที่มาของการเปิด “กล่องสุ่ม” ไวรัลฮิตติดกระแสของคนรักการชอปปิง

  • “กล่องสุ่ม” มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้ริเริ่มการตลาดนี้คือ ประเทศญี่ปุ่น (กล่องสุ่ม มีชื่อญี่ปุ่นว่า ฟุกุบุคุโระ)
  • ปัจจัยที่ทำให้กล่องสุ่มขายดี ทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นสินค้าด้านในคือ ความตื่นเต้น ความสนุก ความคาดหวัง
  • พิมรี่พาย ทำให้วงการกล่องสุ่มกลับมาฮิตเป็นกระแสไวรัลอีกครั้ง ด้วยสถิติการขาย และผู้ซื้อได้สินค้าที่คุ้มค่า

ณ เวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “กล่องสุ่ม” Lucky Box หรือ Mystery Box อย่างแน่นอน หนึ่งในเทรนด์การตลาดของคนไทยที่เป็นไวรัลสุด ๆ ในปัจจุบัน และมีสินค้าให้ทุกท่านเลือกสุ่มอย่างมากมาย เช่น ของเล่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง และอาหารก็มีเช่นกัน

แต่ที่อดพูดถึงไม่ได้เลยคือ กล่องสุ่มเครื่องสำอาง ราคา 100,000 บาท จากคุณพิมรี่พาย ที่ทำให้วงการกล่องสุ่มเริ่มกลับมาโลดแล่นอีกครั้งหนึ่ง

โดยจริง ๆ แล้วกล่องสุ่มในบ้านเรามีให้เห็น และฮิตกันอยู่สักพักแล้วประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ในทุกวงการค้าขาย ซึ่งเป็นการตลาดที่เน้นความสนุกมากกว่าการชอปปิงทั่วไป ด้วยการที่คนซื้อสามารถลุ้นของในกล่องได้ว่าจะคุ้มกว่าที่เราลงทุนไป หรือขาดทุนนั่นเอง นี่คือเสน่ห์ของสินค้าทางการตลาดที่เรียกว่า “กล่องสุ่ม”

ต้นแบบสุดยอดการตลาดที่มีนามว่า “กล่องสุ่ม” มาจากไหน

ต้นแบบสุดยอดการตลาดที่มีนามว่า “กล่องสุ่ม” มาจากไหน

คุณเชื่อหรือไม่ว่า กล่องสุ่ม นั้นมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โดยผู้ริเริ่มการตลาดนี้ก็คือ “ประเทศญี่ปุ่น” โดยคนญี่ปุ่นจะเรียกมันว่า ถุงโชคดี หรือ Lucky Bag ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ฟุกุบุคุโระ” เป็นการนำสินค้าที่จะขายมาคละไว้ในถุงเพื่อที่จะไม่ให้ผู้ซื้อเห็นสินค้าก่อนนั่นเอง ซึ่งถ้าใครเคยเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นแล้วก็จะเห็นเจ้าฟุกุบุคุโระบ่อย ๆ ตามร้านดังต่าง ๆ อาทิ Muji, Apple, Uniqlo เป็นต้น

  • จุดเริ่มต้นที่แท้จริงแล้วอยู่ใน 2 ช่วงสมัยสำคัญของญี่ปุ่น คือ ยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) จะมีการนำเสื้อผ้ากิโมโนคละสีหลาย ๆ ตัวไปตั้งขายไว้ในถุงทึบ และมีชื่อเรียกว่า ถุงเอบิซึ ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าการค้าขาย และโชคลาภของคนญี่ปุ่น
  • จนลามเข้ามาในสมัย ยุคเมจิ (ค.ศ. 1868 – ค.ศ. 1912) เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการนำไอเดียนี้มาใช้กับสินค้าอื่น ๆ ในหลายประเภทมาวางขายเช่นกัน และเปลี่ยนชื่อ ถุงเอบิซึ ให้กลายเป็น ฟุกุบุคุโระ

ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นก็ยังคงใช้ วัฒนธรรมฟุกุบุคุโระ ค้าขายได้มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่นิยมอย่างมาก ทุก ๆ วันที่ 1 มกราคม ในช่วงปีใหม่ของทุกปี คือวันที่ร้านค้าต่าง ๆ จะเปิดขายสินค้าแบบกล่องสุ่ม หรือฟุกุบุคุโระ กันเป็นจำนวนมาก แต่ที่น่าตกใจคือคนญี่ปุ่นจะไปต่อคิวรอซื้อเจ้ากล่องสุ่มพวกนี้ตามร้านแบรนด์ต่าง ๆ  ซึ่งแถวยาวไปเป็นกิโลเมตรเลยทีเดียว โดยแต่ละร้านค้าเคลมว่าสินค้าที่ซื้อไปจากกล่องสุ่มนั้นจะได้สินค้าที่คุ้มกว่าเงินที่จ่ายไปอย่างแน่นอน

ซึ่งถ้าให้พูดถึงในด้านของการตลาดนั้น นั่นก็คือการเคลียร์สต๊อกสินค้าล็อตเก่าเพื่อวางขายสินค้าใหม่ที่กำลังจะเข้านั่นเอง

ปัจจัยที่ทำให้ กล่องสุ่ม ขายดีทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นสินค้าด้านใน

ปัจจัยที่ทำให้ กล่องสุ่ม ขายดีทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นสินค้าด้านใน

แน่นอนว่าปัจจัยที่จะกล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องของการตลาดล้วน ๆ ซึ่งคนที่จะชื่นชอบสินค้าประเภทกล่องสุ่มนั้น ต้องเป็นผู้ที่ชื่นชอบ ความท้าทาย ความหวังในความคุ้มค่า และไม่คาดคิดของตัวผู้ซื้อเอง ซึ่งเป็นหลักการตลาดง่าย ๆ สั้น ๆ ที่ได้ใจความจาก Havard ได้ศึกษาไว้ว่า ความตื่นตาตื่นใจหรือความเซอร์ไพรส์ คือเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ได้จากปัจจัยเหล่านี้

ความตื่นเต้น: แน่นอนผู้ซื้อสินค้าไม่สามารถเห็นของในกล่องสุ่มได้ว่าจะมีอะไรบ้าง ทำให้การเปิดกล่องสุ่มมักจะมีความตื่นเต้นอยู่เสมอ นี่คือหนึ่งความรู้สึกที่ทรงพลังสำหรับการตลาดรูปแบบนี้

ความสนุก: ความสนุกที่เราได้ลุ้น เสี่ยงโชคของในกล่องว่า เราจะได้อะไรบ้าง คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

หรือไม่

ความหวัง: ความหวังที่ว่าคือ เรื่องของความคุ้มค่าในเงินที่จ่ายไป ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าเรากำไรจากกล่องสุ่ม หัวใจอาจพองโตไม่ใช่น้อย แต่คุณก็มีโอกาสผิดหวังเหมือนกันนะ

ทำไมกล่องสุ่มถึงเข้ามามีอิทธิพลกับคนไทย

ทำไมกล่องสุ่มถึงเข้ามามีอิทธิพลกับคนไทย

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของกล่องสุ่มต่าง ๆ นั้นในบ้านเราได้รับอิทธิพลมาจากประเทศญี่ปุ่นเต็ม ๆ ซึ่งในยุคแรก ๆ ก็มีคนริเริ่มทำไอเดียการขายของใส่กล่องสุ่มลงมาขายในตลาด หรือพื้นที่ออนไลน์จำนวนมาก และมากไปกว่านั้นที่สร้างความฮิตนิยมสุด ๆ น่าจะมาจาก คนดัง หรือ Influencer ที่นิยมนำกล่องสุ่มสินค้าต่าง ๆ มาเปิดให้ผู้บริโภคสินค้านั้นชมซึ่งก็มีอยู่มากมายหลายท่าน สร้างความบันเทิง และลุ้นตามกันไปด้วยจนอยากที่จะลองสุ่มเองสักครั้ง

และที่กล่องสุ่มกลับมาฮิตอีกครั้งในชั่วข้ามคืนก็คงหนีไม่พ้น คุณพิมรี่พาย ที่ขายกล่องสุ่มให้ลูกค้าจนหมด และกลายเป็นสถิติเวลาที่ขายหมดไวมาก ๆ แถมบางรายได้ของเกินราคาไปมากกว่าคำว่าคุ้มเสียอีก จนเป็นข่าวดังมากมาย ทำให้ปัจจุบันกล่องสุ่มในประเทศไทยมีความนิยมเป็นอย่างมาก

คำว่า ‘เกลือ’ ในกล่องสุ่มคืออะไร ทำไมผิดหวังถึงต้องเรียกเกลือ

คำว่า ‘เกลือ’ ในกล่องสุ่มคืออะไร ทำไมผิดหวังถึงต้องเรียกเกลือ

แน่นอนว่าทุกความคาดหวัง ก็มักจะมีความผิดหวังปนอยู่เสมอ แล้วทำไมเวลาคนผิดหวังกับกล่องสุ่มต่าง ๆ หรือการลุ้นโชค เราถึงเรียกมันว่า ‘เกลือ’

‘เกลือ’ ในสมัยก่อนมีค่าดุจทองคำเอามาก ๆ ซึ่งสามารถแลกกับทองคำได้เลยนะ!!! แต่ด้วยปริมาณการหาเกลือในโลกเราได้มากกว่าทองคำในปัจจุบัน ดังนั้นแล้วคำว่า เกลือ เปรียบเสมือนกับสิ่งที่หาได้ทั่วไป ถ้าเปรียบเป็นสินค้าก็คงเป็นสินค้าที่หาได้ทั่วไป ราคาปกติ ไม่ได้มีค่าอะไรเหมือนทองคำนั่นเอง

และอีกหนึ่งที่มาของคำว่า ‘เกลือ’ ในวงการกล่องสุ่ม ก็มีรากฐานมาจากคำว่า Salty ที่แปลว่า เค็ม โดย Salty เป็นศัพท์แสลงที่มีความหมายว่า โกรธ อารมณ์เสีย และหงุดหงิด ซึ่งที่มานี้อาจกลายเป็นอารมณ์ของชาวต่างชาติเวลาเปิดกล่องสุ่มแล้วไม่ได้ของที่มีมูลค่าคุ้มกว่าทุนที่เสียไป ก็มักจะมีอาการ Salty ที่หงุดหงิด หัวร้อน อารมณ์เสียนั่นเอง ซึ่งคนไทยก็นำมาแปลงเป็นคำว่า เกลือ ในภาษาไทย และนำไปใช้ในสถานการณ์เดียวกัน

“กล่องสุ่ม” จึงกลายเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ สำหรับผู้ที่อยากรู้ อยากเห็น อยากลอง และรับกับความเสี่ยงได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมิติการชอปปิงที่ดี และน่าสนใจ แต่การจะเลือกสุ่มสินค้าประเภทใดก็ควรคำนึงถึงความจำเป็น และความต้องการของตัวเราให้ดีกันด้วยนะ ไม่งั้นอาจจะเกลือแล้วมาเซ็งทีหลัง ทำให้หงุดหงิด ไม่มีความสุขได้ แล้วก็อย่าลืมดูรีวิวสินค้า และตรวจสอบให้ดี เพื่อประกอบการตัดสินใจไม่งั้นอาจจะโดนหลอกได้อีกด้วย

SHARE

RELATED POSTS