ทำความรู้จัก “VAT”
ภาษีที่คนจนจ่ายมากกว่าคนรวย เพราะอะไร?
- VAT คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากการบริโภคสินค้าในประเทศ
- คนจนเสีย VAT แพงกว่าคนรวย นึกภาพง่าย ๆ คนรวยสามารถซื้อมาม่าได้เป็นโหล ๆ แถมได้ส่วนลด ในขณะที่คนจนซื้อได้ทีละซองสองซอง ซึ่งภาษีต่อหน่วยมากกว่า
- รายได้อันดับหนึ่งจากภาษีต่าง ๆ ในประเทศไทย ปี 2562 ยังมาจากภาษีทางอ้อมถึง 61% ในขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 12%
- “รัฐบาลเอื้อให้คนรวยเสียภาษีน้อย ๆ ถ้ามีมรดก 100,000,000 บาท เสียภาษี 1% ก็คือ 1,000,000 บาท เขาไม่อยากจะเสีย เพราะหนึ่งล้านเอาไปทำอะไรได้เยอะแยะ เลยหาทางเลี่ยง ….”
“เพราะคนจนไม่ต้องเสียภาษี” แล้วภาษีที่ว่านั้นหมายถึงภาษีรูปแบบไหน ? ถ้าเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็อาจจะใช่ แต่ถ้าเป็น VAT ขอเถียงคอเป็นเอ็นเลยว่าไม่ เพราะภาษีรูปแบบนี้คนจนเสียมากกว่าคนรวยเสียอีก แล้ว VAT คืออะไร ทำไมคนจนถึงเสียมากกว่า มาทำความเข้าใจกัน
VAT คืออะไร
VAT (Value Added Tax) คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากการบริโภคสินค้าในประเทศ ยิ่งซื้อมาก ก็ยิ่งเสียมาก และยังเป็นภาษีที่เลี่ยงได้ยาก เพราะทุกคนจำเป็นต้องกินต้องใช้ แค่ซื้อมาม่า 1 ห่อก็เสีย VAT แล้ว
ทำไมคนจนถึงเสีย VAT มากกว่าคนรวย ?
รายงานจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ค้นพบว่า “คนจนอาจซื้อของได้แพงกว่าคนรวย” นึกภาพง่าย ๆ คนรวยสามารถซื้อมาม่าได้เป็นโหล ๆ แถมได้ส่วนลด ในขณะที่คนจนซื้อได้ทีละซองสองซอง ซึ่งภาษีต่อหน่วยคนจนย่อมเสียมากกว่า ดังนั้น ไม่ใช่ว่าคนจนไม่เสียภาษี แต่พวกเขาเสียภาษีทางอ้อม ไม่ใช่แค่ VAT อย่างเดียว แต่ยังมีภาษีปิโตรเลียม ภาษีสรรพสามิตด้วย
อีกทั้งรายได้อันดับหนึ่งจากภาษีต่าง ๆ ในประเทศไทย ปีงบประมาณ 2562 ยังมาจากภาษีทางอ้อมทั้งนั้น กินสัดส่วนถึง 61% ในขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 12% ภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 25% นั่นแสดงว่ารัฐได้เงินภาษีทางอ้อมจากทุกคนทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่คนจน ถ้าเทียบกับจำนวนประชากร 66 ล้านคน เราคิดว่าอัตราส่วนคนจนกับคนรวยอันไหนมากกว่า ? แล้วภาษีนี้ส่วนใหญ่มาจากใคร
ถ้าเทียบโดยจำนวน ภาษีส่วนนี้มาจากคนจนมากกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าเทียบต่อหน่วยยังไงคนรวยก็เสียน้อยกว่าคนจนที่ซื้อผงซักฟอกได้ทีละถุง ซื้อน้ำมันพืชได้ทีละขวด
คนจนไม่มีโอกาสได้ลดหย่อนภาษี
จริงอยู่ที่ผู้มีรายได้น้อยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ (รายได้ต่ำกว่า 26,583.33 บาท/ เดือน) แต่นั่นก็ทำให้พวกเขาเสียโอกาสในการลดหย่อนภาษีไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ภาระชีวิตไม่เอื้อให้ได้ใช้สิทธิลดหย่อน เพราะต้องแบกค่าใช้จ่ายมากมาย แถมชักหน้าไม่ถึงหลังทุกเดือน จะวางแผนการเงินยังยาก
ขณะที่คนรวยมีเงินเหลือเฟือ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้แบบสบาย ๆ ไม่ว่าจะซื้อสินค้าบริการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ หรือซื้อประกัน กองทุนต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงให้กับตัวเอง
รัฐบาลเอื้อให้คนรวยเสียภาษีน้อย ๆ
— ดร.โสภณ พรโชคชัย —
จาก Live สดของ ดร.โสภณ พรโชคชัย
“ถ้ามีมรดก 100,000,000 บาท เสียภาษี 1% ก็คือ 1,000,000 บาท เขาไม่อยากจะเสีย เพราะหนึ่งล้านเอาไปทำอะไรได้เยอะแยะ เลยหาทางเลี่ยง ดังนั้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50,000,000 แรกก็เลยไม่ต้องเก็บ มากกว่านั้นค่อยเก็บ เลยแบ่งซอยถ่าย ๆ กันไปจะได้ไม่โดนเก็บภาษี
แต่คนจนแค่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเก่า ๆ คันเดียว 30,000 – 50,000 บาท เสียภาษีค่าทะเบียนต่าง ๆ ปีนึงรวมแล้ว 300 – 500 บาท 1% แล้ว ไม่เห็นมีใครบ่น คนรวยเนี่ยรัฐบาลช่วยเลี่ยงภาษีเยอะแยะไปหมดเลย แต่ประชาชนทั่วไปเลี่ยงไม่ออก เราซื้อสินค้าปุ๊บเสียภาษีทันที ดังนั้นคนจนเลยเสียภาษีมากกว่าคนรวย ๆ”
ดู Live สด ได้ที่ https://www.facebook.com/dr.sopon4/videos/486725868770425
ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าให้ละเว้นการเก็บ VAT หรือภาษีทางอ้อมจากคนจน แต่นี่คือความเหลื่อมล้ำที่รัฐต้องแก้ไข ในเมื่อเงินภาษีส่วนใหญ่มาจากพวกเขา อย่างน้อย ๆ ก็ควรให้ทุกคนได้สิทธิพื้นฐานที่ควรจะได้รับเท่า ๆ กัน และสร้างโอกาสให้คนจนลืมตาอ้าปากได้บ้าง