ก้าวใหม่แห่งโลกดิจิทัล EU เตรียมใช้กฎหมาย AI ที่แรกของโลก
- ปัจจุบันเทคโนโลยี AI ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งข้อกังวลว่าการใช้งานเทคโนโลยีอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของมนุษย์
- สหภาพยุโรป (EU) จึงได้มีการกำหนดกฎหมาย AI หรือ EU Artificial Intelligence Act ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการใช้งาน AI ซึ่งนับเป็นกฎหมาย AI ฉบับแรกของโลก และจะเริ่มต้นมีผลบังคับใช้บางส่วนในช่วงปี 2568
- กฎหมาย AI ของ EU ได้มีแบ่งระดับความเสี่ยงของการใช้ AI ออกเป็น 4 ระดับ เพื่อกำหนดระเบียบข้อบังคับแก่ผู้ให้บริการ ผู้ผลิต และผู้พัฒนา เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถมั่นใจได้ว่าระบบ AI ที่ใช้อยู่มีความปลอดภัย รวมถึงมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
- ทั้งนี้ กฎหมาย AI ยังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ต้องการข้าม โดยเฉพาะข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในอนาคต
AI ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะในการค้นหาข้อมูล ระบบแนะนำสินค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูล แต่ในขณะเดียวกัน ความสะดวกสบายนี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้ามได้ ด้วยเหตุนี้ EU จึงได้ตัดสินใจออกกฎหมาย AI เป็นครั้งแรกของโลก เพื่อสร้างมาตรฐานการใช้งานที่ปลอดภัยและความรับผิดชอบ
กฎหมาย AI ต้นแบบการควบคุมความปลอดภัยในสหภาพยุโรป
กฎหมาย AI ของสหภาพยุโรปมีจุดเริ่มต้นมาจากความสำคัญของการกำกับดูแลเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการมุ่งเน้นลดความเสี่ยงของการใช้งาน AI ที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของมนุษย์ พร้อมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนา AI ให้ก้าวหน้าไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้นำระดับโลกด้าน AI ที่ปลอดภัยและมีจริยธรรมอย่างสมดุล
กฎหมาย AI ของ EU หรือที่เรียกว่า EU Artificial Intelligence Act ถือเป็นการริเริ่มอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกในการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีระบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรฐานเดียวกันในการพัฒนา การทำตลาด และการใช้งาน AI ภายใน EU ที่ครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิต นักพัฒนา และผู้ใช้งาน คาดว่าการบังคับใช้กฎหมาย AI จะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนและธุรกิจทั่วโลก จึงมีการเริ่มบังคับใช้กฎหมายบางส่วนก่อนจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบใน 36 เดือน หลังจากผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายบางส่วนจะมีผลบังคับใช้ก่อนหน้านั้น ดังนี้
- การห้ามใช้ระบบ AI ที่มีความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ จะมีผลบังคับใช้ภาย 6 เดือนหลังจากกฎหมาย AI อนุมัติ
- ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice) จะมีผลบังคับใช้ภายใน 9 เดือนหลังจากกฎหมาย AI อนุมัติ
- กฎเกี่ยวกับระบบ AI ทั่วไปที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความโปร่งใสจะมีผลภายใน 12 เดือนหลังจากกฎหมาย AI อนุมัติ
กฎหมาย AI จัดการความเสี่ยงเพื่ออนาคตที่ปลอดภัย
กฎหมาย AI ของสหภาพยุโรปได้กำหนดข้อผูกพันสำหรับผู้ให้บริการและผู้ใช้งานตามระดับความเสี่ยงจากใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยถึงแม้ว่าระบบจะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ยังจำเป็นต้องเข้ารับการประเมินความเสี่ยง ซึ่งระดับความเสี่ยงสามารถแบ่งออกได้ 4 ระดับ ดังนี้
1. ระดับความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ (Unacceptable Risk)
กฎหมาย AI ระบุว่าระบบที่มีความเสี่ยงในระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้ คือระบบที่เป็นภัยคุกคามต่อผู้คน ดังนั้น จึงจะไม่สามารถใช้ AI ในการปฏิบัติการได้ เช่น
- การควบคุมพฤติกรรมทางจิตใจของผู้คนหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงเฉพาะ เช่น ของเล่นที่ใช้คำสั่งเสียงในการกระตุ้นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อเด็ก
- การจัดอันดับทางสังคม เข่น การจำแนกผู้คนตามพฤติกรรม สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือคุณลักษณะส่วนบุคคล
- การระบุตัวตนทางชีวภาพและการจำแนกประเภทผู้คน
- การระบุตัวตนทางชีวภาพแบบเรียลไทม์และระยะไกล เช่น การจดจำใบหน้า
อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อยกเว้นในการใช้ระบบ AI เพื่อวัตถุประสงค์ทางกฎหมายบางประการ เช่น ระบบการระบุตัวตนทางชีวภาพแบบเรียลไทม์จะได้รับอนุญาตในกรณีร้ายแรง และระบบระบุตัวตนทางชีวภาพแบบหลังเหตุการณ์จบลงจะสามารถใช้ในการดำเนินคดีอาชญากรรมร้ายแรงได้ แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากศาลก่อน
2. ระดับความเสี่ยงสูง (High Risk)
ตามกฎหมาย AI ระบบ AI ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดจะต้องผ่านการประเมินก่อนนำออกสู่ตลาดและตลอดอายุการใช้งาน เนื่องจากส่งผลกระทบในทางลบต่อความปลอดภัยหรือสิทธิพื้นฐาน ดังนั้น จึงต้องได้รับอนุญาต มีระบบจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ความสามารถในการบันทึกข้อมูล การควบคุมโดยมนุษย์ตามความเหมาะสม การมีเจ้าของที่รับผิดชอบ การปกครองข้อมูลที่เหมาะสมในการใช้ข้อมูลสำหรับการฝึกอบรม การทดสอบ และการยืนยัน รวมถึงการควบคุมเพื่อรับประกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความทนทาน และความยุติธรรมของระบบ โดยสามารถออกได้เป็น 2 ประเภท
- ระบบ AI ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของสหภาพยุโรป เช่น ของเล่น การบิน รถยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ และลิฟต์
- ระบบ AI ที่อยู่ในขอบเขตเฉพาะที่ต้องลงทะเบียนในฐานข้อมูลของสหภาพยุโรป
ตัวอย่างของระบบที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ระบบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ระบบที่ใช้ในกระบวนการสรรหาบุคลากรหรือการประเมินพนักงาน ระบบการให้คะแนนเครดิต กระบวนการเคลมประกันอัตโนมัติ หรือการกำหนดเบี้ยประกันและความเสี่ยงของลูกค้า
3. ระดับความเสี่ยงจำกัด (Limited Risk)
สำหรับระบบที่มีความเสี่ยงจำกัดตามกฎหมาย AI จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดความโปร่งใสและกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหภาพยุโรป โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
- ต้องเปิดเผยว่าเนื้อหาถูกสร้างโดย AI
- ต้องออกแบบโมเดลเพื่อป้องกันไม่ให้สร้างเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย
- ต้องเผยแพร่สรุปข้อมูลลิขสิทธิ์ที่ใช้ในการฝึกโมเดล
ทั้งนี้ ต้องมีการประเมินอย่างละเอียด และหากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงต้องรายงานไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึง มีการระบุอย่างชัดเจนว่าเนื้อหาถูกสร้างโดย AI
4. ระดับความเสี่ยงต่ำ (Minimal Risk)
กฎหมาย AI อนุญาตให้ระบบ AI ที่มีความเสี่ยงต่ำจะสามารถใช้งานได้อย่างอิสระ แต่ยังต้องเข้ารับการประเมินความเสี่ยงและปฏิบัติตามข้อกำหนดเช่นเดียวกับระบบ AI ที่มีความเสี่ยงจำกัด
บทลงโทษตามกฎหมาย AI
การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย AI จะมีบทลงโทษโดยค่าปรับเริ่มต้น 7.5 ยูโรถึง 35 ล้านยูโร หรือ 1% ถึง 7% ของรายได้รวมทั่วโลก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการละเมิด
จะเป็นอย่างไรหากบังคับใช้กฎหมาย AI
คาดว่ากฎหมาย AI ของ EU จะส่งผลเชิงบวกต่อการสร้างมาตรฐานสากลในการกำกับดูแลเทคโนโลยี AI และอาจเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อกังวลว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดอาจเป็นการจำกัดการพัฒนานวัตกรรมในบางภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเงิน ที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยของผู้ใช้งานอย่างละเอียด นี่จึงนับเป็นความท้าทายของกฎหมาย AI ที่ต้องมีการคำนึงถึงการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต
กฎหมาย AI ของ EU นับเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความปลอดภัยของมนุษย์ ส่วนในอนาคต กฎหมาย AI ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนา AI และแนวทางการกำกับดูแลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างไร คงต้องจับตามองกันต่อไป