เปิดประวัติกว่าจะเป็นสาววาย พร้อมจุดกำเนิดซีรีส์วายไทยในปัจจุบัน
- วาย (Yaoi) ป๊อปคัลเชอร์จากประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากการ์ตูนตาหวานเพื่อสาววาย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เนื้อเรื่องเล่าถึงความสัมพันธ์เหมือนคู่รักทั่วไป มีฉากอิโรติกสอดแทรกเข้ามาด้วย
- สาววาย กลุ่มคนที่มีรสนิยมชอบเสพสื่อแนวชายรักชาย โดยในยุคแรกยังไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้การ์ตูนวายถูกแบนให้เป็นสื่อลามกผิดกฎหมาย ห้ามจัดจำหน่ายทั่วประเทศ
- เบื้องหลังที่สาว ๆ ชอบดูซีรีส์วายมากกว่าความสัมพันธ์รูปแบบอื่น มาจากสังคมปิตาธิปไตยและสื่อที่นำเสนอผู้หญิงในเชิงของวัตถุทางเพศ (Sex Object) เมื่อได้เห็นผู้ชายรักกัน จึงทำให้สามารถเฝ้าดูเรื่องราวได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ
- ในปัจจุบันซีรีส์วายสร้างความเข้าใจที่ดีต่อสังคม LGBTQ+ มากขึ้น เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศที่มีความหลากหลายมากขึ้น
เกือบทศวรรษที่ ‘ซีรีส์วาย’ กลายเป็นกระแสในประเทศไทย สื่อทุกเจ้าต่างปล่อยคอนเทนต์เอาใจสาววาย ด้วยซีรีส์เรื่องใหม่ พร้อมแก๊งพระเอกหล่อหน้าใสอย่างน้อยปีละ 10 เรื่อง แต่กว่าที่ ‘วาย’ จะได้รับความนิยมถล่มทลายขนาดนี้ รู้หรือไม่ว่า…เหล่าสาววายต้องผ่านยุคหลบ ๆ ซ่อน ๆ มาก่อน ถึงขั้นที่วายถือเป็นสื่อลามกผิดกฎหมายเลยทีเดียว!
ก่อน Y จะฟีเวอร์ สาววายต้องเจออะไรบ้าง
‘สาววาย’ คือกลุ่มคนที่มีรสนิยมชอบเสพสื่อแนว ‘ชายรักชาย’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า วาย (Yaoi) เป็นป๊อปคัลเชอร์จากประเทศญี่ปุ่น โดยมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ในรูปแบบของการ์ตูนตาหวาน เล่าเรื่องเหมือนคู่รักชายหญิงทุกประการ เน้นเนื้อหาความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปเป็นความรัก รวมถึงฉากล่อแหลม 18+ ที่มักใส่เข้ามาด้วย การ์ตูนวายจึงกลายเป็นสื่อลามกที่ห้ามจัดจำหน่ายในร้านค้าทั่วไป
ในยุคแรกเริ่ม สาววายเป็นเพียงแค่ชนกลุ่มน้อยที่ถูกสังคมมองข้าม แม้แต่ในกลุ่มของคอการ์ตูนด้วยกันก็มีการแบ่งแยกชนชั้นระหว่างนักอ่านทั่วไปกับสาววาย เพราะสาววายเป็นภาพแทนของคนวิปริตที่ชื่นชอบรสนิยมผิดเพศ ทำให้การจะหาการ์ตูนวายสักเรื่องมาอ่านเป็นเรื่องยากลำบาก จนเกิดเป็นสัญลักษณ์ที่รู้กันภายในอย่าง ‘หนังสือปกขาว’ รวมถึงเว็บบอร์ดนิยายวายที่จะมีการคัดกรองอย่างเข้มงวด สมาชิกที่เข้าไปอ่านผลงานได้จะต้องเป็นสาววายตัวจริงเท่านั้น วงการวายไทยในยุคนั้นจึงค่อนข้างแคบและเฉพาะกลุ่ม จนกระทั่งกระแสของ ‘ชิปเปอร์’ มาถึง การชิปหรือจิ้นตัวละครที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ อนิเมะหรือมังงะก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จำนวนสาววายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สื่อและนักลงทุนใช้โอกาสนี้หยิบวายใต้ดินขึ้นมาปัดฝุ่น ยกระดับให้กลายเป็นซีรีส์วายบนจอเงิน และกอบโกยรายได้ไปมหาศาล
จากสื่อใต้ดินสู่ซีรีส์วายขึ้นหิ้งบนจอเงิน
หากจะกล่าวถึงซีรีส์วายไทยยุคแรก ๆ ที่เป็นกระแสฮิตคงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘Love Sick The Series (2014)’ สร้างมาจากนิยายวายชื่อดังบนเว็บไซต์เด็กดี จนเกิดเป็นกระแสวายฟีเวอร์กันในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นสื่อจึงมักจะสอดแทรกประเด็นความวายเข้ามาชิมลางในงานอยู่เสมอ ผู้คนจึงคุ้นชินกับคำว่าสาววายและเริ่ม ‘จิ้น’ ตัวละครกันมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ #พี่ปีสองรักน้องปีหนึ่ง เทรนด์ดังบนทวิตเตอร์ในปี ค.ศ. 2015 เกี่ยวกับพี่ว้ากสุดโหดกับน้องปีหนึ่งจอมกวน จนเป็นที่มาของซีรีส์วายเรื่อง ‘SOTUS The Series (2016)’ ที่โด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง และกำเนิดคู่จิ้นชาย-ชายอีกมากมายหลังจากนั้น กลายเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้วงการวายไทยขึ้นมาอยู่บนดินอย่างแท้จริง
ซึ่งซีรีส์วายไทยก็พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการขยายฐานแฟนสาววายสู่นานาประเทศทั่วโลก ทำให้ซีรีส์วายไทยได้รับความนิยม จนเกิดเป็นรายได้สะพัดกว่า 1,000 ล้านบาท! เมื่ออุตสาหกรรมวายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแบบนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ไม่กี่ปีนับจากนั้น สื่อทุกเจ้าจะแห่ลงมาร่วมวงการวายเพื่อเอาใจกลุ่มตลาดที่มีกำลังซื้อมากที่สุดในปัจจุบัน
เคยสงสัยไหมว่า…หมัดเด็ดอะไรที่ทำให้ซีรีส์วายไทยครองใจสาววายทั่วโลก และทำไมสาว ๆ ถึงชอบดูซีรีส์ชายรักชายมากกว่าซีรีส์ทั่วไป? ตามอ่านต่อกันได้เลย
วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่กับการลดทอนความเป็นชายของสาววาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในเนื้อหาดึงดูดใจสาววายคือ ฉากอิโรติกหรือการแสดงความรักของเหล่าตัวละครภายในเรื่อง ซึ่งการมีรสนิยมชื่นชอบ ‘ดูผู้ชายรักกัน’ นั้นไม่ได้แปลว่าสาววายชอบเพศวิถีแบบนี้ แต่กลับเป็นการแสดงออกทางจิตวิทยาที่เกี่ยวกับสังคมปิตาธิปไตยหรือ ‘ชายเป็นใหญ่’ ที่กดทับมานานจากแนวคิดแบ่งแยกชาย-หญิงอย่างชัดเจน ทำให้เกิดโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสองเพศ ประกอบกับสื่อที่มักนำเสนอผู้หญิงในเชิงของวัตถุทางเพศ (Sex Object) การเปิดเผยเรือนร่าง, นำเสนอส่วนโค้งเว้าที่ชัดเจน ไปจนถึงการแสดงออกของนักแสดงหญิงหรือสื่อโฆษณาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชายมากกว่า ส่วนนี้จึงกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้สาว ๆ ถูกกระตุ้นจากซีรีส์วายได้มากกว่าผู้ชาย เพราะการได้เห็นผู้ชายสองคนรักกันในความสัมพันธ์ต้องห้าม ทำให้สาววายสามารถเฝ้าดูเรื่องราวได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ หรือกลายเป็นวัตถุเหมือนสื่อแขนงอื่น
นอกจากนี้ เรื่องราวในซีรีส์วายมักจะเน้นไปที่การพัฒนาความสัมพันธ์เป็นหลัก ซึ่งตอบสนองต่อจินตนาการโรแมนติกของสาววายเกี่ยวกับความรักในแง่มุมต่าง ๆ เมื่อรวมเข้ากับนักแสดงภายในเรื่องที่มีแต่หนุ่มหน้าตาดี ทำให้สาววายรู้สึกฟินจนจิ้นได้อย่างอิสระ และการได้เห็นเรือนร่างหนุ่มหล่อกับฉากวาบหวิวในซีรีส์จึงกลายเป็นเครื่องมือให้ปลดปล่อยจินตนาการ และลดทอนความเข้มแข็งของเพศชายให้ดูเบาบางลง ซีรีส์วายจึงคล้ายกับหลุมพักใจของสาว ๆ ที่อยากจะเป็นผู้คุมเกมในความสัมพันธ์บ้างนั่นเอง
ซีรีส์วาย = ชายรักชาย แต่ไม่ใช่เกย์ ?!
“เราไม่ได้ชอบผู้ชาย เราชอบแค่นายคนเดียว” วลีฮิตในนิยายวายยุคแรกเริ่มที่แสดงกรอบความคิดของสาววายในยุคนั้นอย่างเด่นชัดที่สุด จนกลายเป็นบรรทัดฐานของนิยายวายและซีรีส์วายที่มักจะเขียนคาแรกเตอร์ให้ตัวละครเป็น ‘ชายแท้’ ที่หวั่นไหวกับนายเอก (ในที่นี้คือตัวนางที่ถูกเรียกแทนว่า ‘นายเอก’) คนเดียว ดังนั้นในบริบทของสาววาย วายจึงไม่เท่ากับเกย์ แม้จะมีการแบ่งบทรับและรุกอย่างชัดเจน แต่ตัวละครทั้งคู่จะต้องคงความเป็นชายไว้ จากแนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ และการลดทอนความเป็นชายในซีรีส์วาย ทำให้สาววายมักจะมองว่าเกย์ หรือ LGBTQ+ มีการแสดงออกที่คล้ายกับเพศหญิงมากกว่า ในยุคแรกวายไทยจึงเน้นไปที่ตัวละครชายแท้จ๋า ๆ อย่างหนุ่มหล่อคณะวิศวะฯ หรือสถาปัตย์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งนี้มีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อจินตนาการและความฟินของสาววายโดยเฉพาะ ถึงเนื้อหาภายในจะเกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ และความหลากหลายทางเพศ แต่น่าเสียดายที่วายในยุคแรกเริ่มไม่ได้โอบรับ ‘เกย์’ ในทิศทางที่ควรจะเป็น
LGBTQ+ และมุมมองต่อซีรีส์วายในปัจจุบัน
จากการถกเถียงอย่างยาวนานระหว่างกลุ่ม LGBTQ+ ที่ปรากฏในสื่อกับสาววาย รวมกับบริบททางสังคมที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายเพศ ทำให้ซีรีส์วายเริ่มสอดแทรกประเด็นและเล่าเรื่องในสังคมเกย์มากขึ้น เห็นได้ชัดจากตัวละคร ‘โอ้เอ๋ว’ ในเรื่อง ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2020)’ ที่มีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นเกย์ และรักกับ ‘เต๋’ โดยไม่ต้องมีวลีว่ารักแค่นายคนเดียวเหมือนเรื่องอื่น ซึ่งซีรีส์วายเรื่องนี้ได้รับผลตอบรับจากสาววายและชาว LGBTQ+ เป็นอย่างดี ในแง่ที่ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ไม่ใช่แค่เครื่องมือในการสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเพศวิถี สร้างความเข้าใจที่ดีต่อสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
วัฒนธรรมสุดป๊อปอย่าง ‘สาววายและซีรีส์วาย’ จึงไม่ใช่แค่สื่อเพื่อตอบสนองความต่อฟินเพียงอย่างเดียว แต่กลับเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่บันทึกแง่มุมความคิด และบริบทสังคมในแต่ละยุคได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งทิศทางหลังจากนี้ของซีรีส์วายไทยจะเป็นแบบไหน ก็อยู่ที่สังคมจะโอบรับความหลากหลายได้มากเท่าไหร่นั่นเอง…