“กราฟฟิตี้” (Graffiti) ศิลปะตีแผ่ความจริงบนกำแพง

รู้จัก “กราฟฟิตี้” (Graffiti)
ศิลปะตีแผ่ความจริงบนกำแพง

หากคุณเดินไปตามถนนแล้วเห็นสเปรย์พ่นเป็นคำสบถหรือชื่อแก๊งบนกำแพง คุณอาจคิดว่าเขาคือพวกมือบอน ถ้าพ่นออกมาสวย ๆ คุณจะบอกว่ามันคือศิลปะ ซึ่งบางอันถูกยกให้เป็น Art Street แต่ทั้งสองอย่างนั้นเราเรียกมันว่า “กราฟฟิตี้” และกราฟฟิตี้ก็ไม่เหมือนกับ Art Street อย่างที่เราเข้าใจ มันมีเส้นเบลอ ๆ คั่นอยู่ ยังไง ? มาดูกัน

กราฟฟิตี้ Graffiti คือ

กราฟฟิตี้คืออะไร

กราฟฟิตี้ (Graffiti) คือ ภาพที่เกิดจากการขีดเขียนลงบนผนังหรือกำแพง

นอกจากนี้หนังสือ Freight Train Graffiti ได้นิยามคำว่ากราฟฟิตี้ว่า “กราฟฟิตี้เป็นวัฒนธรรมนอกกระแสที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของความเป็นขบถ ราวกับว่ามันก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซ่าน เป็นสุข เวลาที่ศิลปินกราฟฟิตี้ได้ท้าทายต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามกีดกันและกำจัดกราฟฟิตี้ให้หมดไป”

กว่าจะเป็นกราฟฟิตี้

กราฟฟิตี้ (Graffiti) มาจากภาษากรีกคือ Grafito แปลว่าการขีดเขียนภาพลงบนผนังในสมัยโบราณ ซึ่งสมัยนั้นเป็นแค่เป็นรอยจารึกหรือรอยขีดข่วน จนกระทั่งเป็นอักษรเฮียโลกลิฟิก ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ ถือว่าเป็นกราฟฟิตี้ในยุคนั้น

กราฟฟิตี้ได้เริ่มต้นอีกครั้งที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา สาเหตุมาจากการเหยียดสีผิวที่สร้างความเป็นอื่นในสังคม จนทำให้พวกเขาออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านกราฟฟิตี้และแร็ปที่เต็มไปด้วยคำด่าทอ

ทศวรรษที่ 60 กราฟฟิตี้ได้แพร่ไปที่นิวยอร์กโดย JULIO204 ไรเตอร์จากสลัมย่านบรองซ์ และในปี 1969 “ทากิ” เจ้าของกราฟฟิตี้ TAKI 183 ผู้เป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นยุคสมัยของนักเขียนกราฟฟิตี้ก็ถูกสัมภาษณ์และตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส จนคำว่า TAKI 183 เริ่มปรากฏตามสถานที่สำคัญ เช่น รถไฟใต้ดิน บอร์ดเวย์ สนามบินเคนเนดี สร้างแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นเริ่มออกมาเขียนชื่อตัวเองตามที่สาธารณะและได้รับความนิยมต่อมาเรื่อย ๆ เริ่มมีคนไปเขียนตามโบกี้รถไฟ ตู้คอนเทนเนอร์

กระทั่งปี 1972 TOPCAT ได้นำเทคนิคการเขียนใหม่มาใช้ นั่นก็คือตัวอักษรที่เขียนต่อกันเป็นแถวยาว ๆ ซ้อนทับกัน กลายเป็นที่ฮอตฮิตในหมู่ไรเตอร์นิวยอร์ก พวกเขาเรียกมันว่า “Broadway Elegant”

ปี 1963 เริ่มเห็นว่าวัยรุ่นไม่ทำอะไรนอกจากหาพื้นที่พ่นกราฟฟิตี้ จึงจัดให้มี “ทากิอวอร์ด” เพื่อคัดเลือกกราฟฟิตี้ที่ดีที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงที่คนหลงใหลกราฟฟิตี้มากไม่ต่างจากหลงใหลดนตรีร็อกแอนด์โรลเลย หลังจากนั้นก็เริ่มแพร่ไปยุโรป นิวยอร์กเองก็ยังคงจัดกิจกรรมเกี่ยวกับกราฟฟิตี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำกราฟฟิตี้เข้าสู่พื้นที่จัดวางอย่างเป็นระบบ

ปี 1994 กราฟฟิตี้ก้าวไปสู่ระดับสากลโดยเว็บไซต์ Art Crimes ที่เป็นแหล่งรวมกราฟฟิตี้ โดยในปี 1999 เว็บไซต์ของเขามีภาพกราฟฟิตี้มากกว่า 3,000 ภาพจาก 205 เมืองใน 43 ประเทศทั่วโลก ทำให้นักกราฟฟิตี้หน้าใหม่โผล่มาเรื่อย ๆ นิตยสารกราฟฟิตี้ก็แพร่หลายมากขึ้นด้วย

ประเภทของกราฟฟิตี้

กราฟฟิตี้มีกี่ประเภท

1. Tag การเซ็นชื่อหรือนามแฝง มักใช้สีเดียว และพ่นตัวเกี่ยว ๆ กันให้อ่านไม่ออกเพื่อให้สะดุดตา

2. Throw-ups การเขียนเร็ว ๆ มักใช้สีขาว-ดำ ตัดขอบให้ดูมีมิติ ไม่เน้นสวยและละเอียดเพราะต้องรีบเขียน

3. Bubble/ Block การเขียน Tag ให้มีมิติมากขึ้น เน้นสวยงาม ละเอียด ส่วนใหญ่ใช้ 3 สี

4. Character การพ่นเป็นรูปคน การ์ตูน ดารา นักร้อง หรือออกแบบเองเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว

5. Piece การพ่นที่เน้นรายละเอียดกว่าประเภทอื่น ใช้เวลานาน และเป็นผลงานของกราฟฟิตี้เพียงคนเดียว

6. Wildstyle/ Wickedstyle เน้นสวยงามเหมือนกับ Piece แต่ตัวอักษรจะละเอียดและซับซ้อนมากขึ้น อ่านยาก เป็นการโชว์เหนือหรือแสดงเอกลักษณ์ของตัวเอง

7. Production เป็นการรวมกราฟฟิตี้ทุกประเภทเข้าด้วยกัน โดยมีนักกราฟฟิตี้หลายคนช่วยกันสร้างสรรค์

กราฟฟิตี้ต่างจาก Art Street อย่างไร

กราฟฟิตี้ต่างจาก Art Street อย่างไร

Art Street จะรวมทุกเทคนิค ทั้งพ่น เพนต์ ปั้น เน้นความสวยงามมากกว่าเนื้อหาที่จะสื่อ การสร้างงานไม่ผิดกฎเหมือนกราฟฟิตี้ เพราะขออนุญาตก่อน  

Graffiti มุ่งไปที่การสื่อความหมาย ปลดปล่อยความคิด ส่วนใหญ่จะเป็นการเสียดสีสังคม การเมือง

กราฟฟิตี้กับการตีแผ่ความจริงในสังคม

หากเป็นสมัยนี้ส่วนใหญ่การแสดงความคิดเห็นหรือภาพวาดเสียดสีสังคมคงอยู่บนโลกโซเชียล แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงอยู่ตามกำแพง เพราะเป็นพื้นที่เดียวที่คนสามารถแสดงความเห็นให้ผู้อื่นรับรู้ได้ ปัจจุบันก็ยังมีคนที่ใช้ศิลปะต่อสู้ทางการเมืองอยู่

ย้อนกลับไปจุดที่ทำให้กราฟฟิตี้กลายเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อตำรวจทำร้ายร่างกาย Michael Stewart จนเสียชีวิตขณะที่เขากำลังพ่นสีบนผนังในสถานีรถไฟ การสูญเสียในครั้งนี้ทำให้ชาวผิวสีในนิวยอร์กลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นจำนวนมาก ผู้คนเริ่มใช้กราฟฟิตี้เป็นอาวุธในการต่อสู้จนกลายเป็นภาพจำ โดยมีสื่อทำหน้าที่เผยแพร่ให้ทั่วโลกรับรู้ นับแต่นั้นมากราฟฟิตี้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อกระตุ้นให้คนที่ผ่านมาพบเห็นรับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่และลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยกัน

ตัวพ่อแห่งวงการกราฟฟิตี้

Graffiti by Headache Stencil

ถ้าคุณเคยเห็นภาพเสือดำบนกำแพง นาฬิกาที่มีใบหน้าบิ๊กป้อม หรือมิน อ่อง หล่าย กับประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คุณรู้ไว้เลยว่านี่คือผลงานของ Headache Stencil ศิลปินที่จิกกัดการเมืองไทยได้แสบสุด ๆ แม้ว่าจะโดนลบบ่อย แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งอุดมการณ์ของเขาได้

2. Omeka mek

Graffiti by Omeka mek

ศิลปินเจ้าของผลงานกราฟฟิตี้ที่มีเอกลักษณ์คือ “หน้ากากหัวกะโหลก” เสมือนเกราะป้องกันตัวจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป มาพร้อมกับลายเซ็นกราฟฟิตี้ทั้งแบบ Tag และ Wildstyle ที่เป็นที่จดจำ ถือเป็นศิลปินในวงการกราฟฟิตี้ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งเลย

3. Blu

Graffiti by BLU

ศิลปินชาวอิตาเลียนที่สร้างผลงานกราฟฟิตี้สะท้อนสังคมได้อย่างแยบยล ภาพที่โด่งดังของเขาคือชายหนุ่มที่กำลังถูกโกนหัวเพื่อไปรับใช้ชาติ ซึ่งชายผู้นั้นไม่ได้ถูกล้างสมอง แต่ถูกเอาสมองออกไปจนไม่เหลือความคิดของตัวเอง หรือภาพมือถือหัวเมดูซาที่รู้ดีว่าจ้องตาเมื่อไรคือแข็งเป็นหินตาย แต่แทนที่เส้นผมของเธอจะเป็นหัวงู กลับกลายเป็นหัวจ่ายน้ำมัน สื่อถึงใครเติมก็ตายหมด เดาว่าราคาน้ำมันคงสูงน่าดู

4. Vhils

Vhils เป็นนามแฝงของศิลปินชาวโปรตุเกส ถูกยกย่องให้เป็นศิลปินกราฟฟิตี้ที่มีทักษะและสร้างสรรค์มากที่สุดในโลก ผลงานของเขาไม่ใช่แค่การใช้สีหรือวัสดุอื่น ๆ ทั่วไป แต่มีการใช้สิ่ว ค้อน สว่าน กรด และสารฟอกขาว เพื่อแกะสลักผนัง ผลงานของเขามีความหมายซับซ้อน ทะเยอทะยาน และมักสื่อถึงสามัญชนทั่วไป

5. Blek le Rat

Graffiti by Blek le Rat

Blek le Rat มาจากการ์ตูนเรื่อง Blek le Roc โดยคำว่า “Rat” (หนู) เป็นแอนนาแกรมของคำว่า “Art” (ศิลปะ) ซึ่งเขาถือว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและการแพร่กระจายของขบวนการศิลปะบนท้องถนน

Blek le Rat เป็นคนแรกที่วาดรูปภาพเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนวาดจริง เพราะเขาไม่อยากอยู่นาน กลัวโดนจับได้ และยังเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ที่คนรู้จักในนาม “father of stencil graffiti” ที่กราฟฟิตี้คนอื่น ๆ ให้การยอมรับ โดยเฉพาะ Banksy เจ้าพ่อกราฟฟิตี้อีกคน ที่มีผลงานโด่งดังคือ “balloon girl” เขาบอกว่าทุกครั้งที่ลงมือวาด เขาจะนึกว่า Blek le Rat กำลังวาดอยู่

ปัจจุบันกราฟฟิตี้ไม่ได้อยู่แค่บนกำแพงในที่สาธารณะเท่านั้น มันได้รับอนุญาตให้ไปอยู่ตามร้านอาหาร ผับ คาเฟ่ต่าง ๆ นอกจากความสวยงาม ความเท่ ยังเป็นข้อความที่เจ้าของร้านอยากสื่อให้ลูกค้ารับรู้ได้ด้วย

SHARE

RELATED POSTS

รวมทุนเรียนต่อต่างประเทศเต็มจำนวน โอกาสทองแบบไม่มีข้อผูกมัด หลายคนอาจมีความใฝ่ฝันที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ติดปัญหาที่การเงินไม่อำนวย…