Search
Close this search box.
แมวเป็นหวัด ไข้หวัดแมว

ชวนรู้จักไข้หวัดแมวคืออะไร น้องแมวเป็นหวัดได้จริงหรือ!

  • สาเหตุหลักที่ทำให้แมวเป็นหวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline Calicivirus (FCV) และ Feline Herpesvirus (FHV-1) ที่มักเกิดในแมวเด็ก
  • เมื่อแมวเป็นหวัดมักจะมีอาการคล้ายคน คือ มีไข้ ไอ จาม เศร้าซึม หรือบางครั้งอาจมีปัญหาในช่องปากและบริเวณดวงตาเมื่ออาการรุนแรง
  • เบื้องต้นการรักษาเมื่อแมวเป็นหวัด แพทย์มักจะให้ยาตามอาการและยาป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ
  • เจ้าของอาจป้องกันไม่ให้แมวเป็นหวัดได้ด้วยการหมั่นพาน้องแมวไปพบแพทย์เป็นประจำ และให้ความสำคัญกับอาหารและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับน้องแมว

เคยสังเกตไหมว่าในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวก็ฝนตก เดี๋ยวก็แดดออก จู่ ๆ น้องแมวของคุณก็มีน้ำมูกหรือจามเหมือนตอนเราเป็นหวัดหรือเปล่า นั่นอาจเป็นเพราะน้องแมวของคุณกำลังเป็นโรคไข้หวัดแมวอยู่ก็ได้ เพราะจริง ๆ แล้วน้องแมวก็เป็นหวัดได้ไม่ต่างจากคน ในบทความนี้เราจะพาเหล่าทาสแมวทุกคนไปทำความรู้จักกันว่า ‘ไข้หวัดแมว’ คืออะไร และต้องดูแลอย่างไรให้น้องเหมียวปลอดภัยจากหวัดแมว

ทำไมแมวเป็นหวัด?

แมวเป็นหวัด

โรคไข้หวัดแมว (Cat Flu) คือ โรคทางเดินทางหายใจส่วนบนที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline Calicivirus (FCV) และ Feline Herpesvirus (FHV-1) ซึ่งติดต่อได้ระหว่างแมวผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำตา และน้ำลาย รวมถึงผ่านไอหรือจาม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่แมวอยู่รวมกันเยอะ ๆ นอกจากนี้ แมวที่หายแล้วก็อาจยังคงเป็นพาหะทำให้น้องแมวตัวอื่น ๆ เป็นหวัดตามได้ด้วย

สังเกตอาการอย่างไรเมื่อแมวเป็นหวัด

โรคไข้หวัดแมวมีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไป แถมโรคไข้หวัดแมวยังสามารถเกิดกับแมวได้ทุกวัย แต่มักจะอาการรุนแรงในแมวเด็กหรือแมวที่มีร่างกายอ่อนแอ โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าแมวเป็นหวัดที่สามารถสังเกตได้ ได้แก่

อาการ แมวเป็นหวัด
  • ซึม เบื่ออาหาร ขาดน้ำ

อาการเบื่อซึม ไม่ยอมทานน้ำ ทานอาหารเป็นอาการผิดปกติเริ่มต้นเมื่อแมวป่วย ไม่ใช่แค่แมวเป็นหวัดเท่านั้น หากเจ้าของสังเกตเห็นว่าน้องแมวที่บ้านเริ่มไม่อยากทานอาหาร หรือเซื่องซึมผิดปกติ ควรสังเกตอาหารให้ดีและพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

  • ไอ จาม

อาการ ไอ จาม เป็นอาการที่พบบ่อยเมื่อแมวเป็นหวัด ซึ่งเป็นสัญญาณว่าระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีปัญหา ซึ่งอาจมีน้ำมูก หรือเสมหะร่วมด้วย

  • น้ำตาไหล มีขี้ตา

เมื่อแมวเป็นหวัดรุนแรง อาจมีอาการตาแดง ตาบวมแดง ตาบวมจนตาปิด น้ำตาไหลต่อเนื่อง และมีขี้ตาเยอะกว่าปกติ

  • ขนหางตั้ง

บางครั้งเมื่อแมวเป็นหวัดอาจมีอาการขนหางชูตั้ง เนื่องจากความไม่สบายตัวหรือความเครียดจากอาการป่วย

  • ช่องปากอักเสบ

ตอนที่แมวเป็นหวัด อาจประสบปัญหาช่องปากอักเสบ เช่น ลิ้นและเหงือกบวมแดง แผลในช่องปาก หรือแผลหลุมในลิ้น

  • เยื่อบุตาอักเสบหรือมีแผลในกระจกตา

ในกรณีที่แมวเป็นหวัดรุนแรง อาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบหรือแผลหลุมในกระจกตา ทำให้แมวตาบวมแดง น้ำตาไหล และมีน้ำตา จนส่งผลให้น้องแมวรู้สึกเจ็บปวดหรือกระทบต่อการมองเห็น

วิธีการรักษาเมื่อแมวเป็นหวัด

การตรวจ วิธีรักษา แมวเป็นหวัด

หากสังเกตพบอาการต่าง ๆ ว่าแมวเป็นหวัด ควรพาน้องเหมียวไปหาคุณหมอเพื่อเข้ารับการประเมินอาการและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งมักใช้วิธีการตรวจเลือด เก็บตัวอย่างเยื่อบุหรือสารคัดหลั่ง เพื่อระบุเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคและตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันของน้องแมว

ปัจจุบัน ยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับการรักษาโรคหวัดแมวโดยเฉพาะ ดังนั้น การรักษาโรคไข้หวัดแมวจึงเป็นการรักษาตามอาการและป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ ด้วยการให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก ยาเสริมภูมิคุ้มกัน หรือยาปฏิชีวนะ

ป้องกันแมวเป็นหวัดอย่างไร

ป้องกัน แมวเป็นหวัด

การป้องกันไม่ให้แมวเป็นหวัดที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการเสริมสร้างคุ้มกันให้แข็งแรงตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเหล่าทาสแมวทั้งหลายสามารถดูแลแมวให้แข็งแรงและป้องกันโรคหวัดแมวได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

  • ตรวจสุขภาพประจำปีและฉีดวัคซีนป้องกันแมวเป็นหวัด

การฉีดวัคซีนเป็นวิธีสำคัญในการลดโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้แมวเป็นหวัดและป้องกันความรุนแรงของอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ทานอาหารเสริมภูมิคุ้มกันไม่ให้แมวเป็นหวัด

การเลือกอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจากวิตามิน A วิตามิน E และซิลิเนียม เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยป้องกันไม่ให้แมวเป็นหวัดได้

  • รักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันแมวเป็นหวัด

การจัดบ้านให้มีความสะอาดน่าอยู่ และทำความสะอาดอุปกรณ์ของน้องแมวเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้แมวเป็นหวัด

  • เลี่ยงความเครียดที่เสี่ยงทำให้แมวเป็นหวัด

ไม่ควรพาไปน้องแมวไปในสถานที่แปลกที่หรือเสียงดัง เพื่อป้องกันไม่ให้น้องแมวเกิดความเครียดสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพและอาจทำให้น้องแมวเป็นหวัดได้

แม้ว่าการที่น้องแมวเป็นหวัดจะดูไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้เจ้าเหมียวป่วยหนักได้ การดูแลและป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แมวมีสุขภาพแข็งแรงและห่างไกลจากหวัด

SHARE

RELATED POSTS