ชวนรู้จักไข้หวัดแมวคืออะไร น้องแมวเป็นหวัดได้จริงหรือ!
- สาเหตุหลักที่ทำให้แมวเป็นหวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline Calicivirus (FCV) และ Feline Herpesvirus (FHV-1) ที่มักเกิดในแมวเด็ก
- เมื่อแมวเป็นหวัดมักจะมีอาการคล้ายคน คือ มีไข้ ไอ จาม เศร้าซึม หรือบางครั้งอาจมีปัญหาในช่องปากและบริเวณดวงตาเมื่ออาการรุนแรง
- เบื้องต้นการรักษาเมื่อแมวเป็นหวัด แพทย์มักจะให้ยาตามอาการและยาป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ
- เจ้าของอาจป้องกันไม่ให้แมวเป็นหวัดได้ด้วยการหมั่นพาน้องแมวไปพบแพทย์เป็นประจำ และให้ความสำคัญกับอาหารและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับน้องแมว
เคยสังเกตไหมว่าในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวก็ฝนตก เดี๋ยวก็แดดออก จู่ ๆ น้องแมวของคุณก็มีน้ำมูกหรือจามเหมือนตอนเราเป็นหวัดหรือเปล่า นั่นอาจเป็นเพราะน้องแมวของคุณกำลังเป็นโรคไข้หวัดแมวอยู่ก็ได้ เพราะจริง ๆ แล้วน้องแมวก็เป็นหวัดได้ไม่ต่างจากคน ในบทความนี้เราจะพาเหล่าทาสแมวทุกคนไปทำความรู้จักกันว่า ‘ไข้หวัดแมว’ คืออะไร และต้องดูแลอย่างไรให้น้องเหมียวปลอดภัยจากหวัดแมว
ทำไมแมวเป็นหวัด?
โรคไข้หวัดแมว (Cat Flu) คือ โรคทางเดินทางหายใจส่วนบนที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline Calicivirus (FCV) และ Feline Herpesvirus (FHV-1) ซึ่งติดต่อได้ระหว่างแมวผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำตา และน้ำลาย รวมถึงผ่านไอหรือจาม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่แมวอยู่รวมกันเยอะ ๆ นอกจากนี้ แมวที่หายแล้วก็อาจยังคงเป็นพาหะทำให้น้องแมวตัวอื่น ๆ เป็นหวัดตามได้ด้วย
สังเกตอาการอย่างไรเมื่อแมวเป็นหวัด
โรคไข้หวัดแมวมีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไป แถมโรคไข้หวัดแมวยังสามารถเกิดกับแมวได้ทุกวัย แต่มักจะอาการรุนแรงในแมวเด็กหรือแมวที่มีร่างกายอ่อนแอ โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าแมวเป็นหวัดที่สามารถสังเกตได้ ได้แก่
ซึม เบื่ออาหาร ขาดน้ำ
อาการเบื่อซึม ไม่ยอมทานน้ำ ทานอาหารเป็นอาการผิดปกติเริ่มต้นเมื่อแมวป่วย ไม่ใช่แค่แมวเป็นหวัดเท่านั้น หากเจ้าของสังเกตเห็นว่าน้องแมวที่บ้านเริ่มไม่อยากทานอาหาร หรือเซื่องซึมผิดปกติ ควรสังเกตอาหารให้ดีและพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ไอ จาม
อาการ ไอ จาม เป็นอาการที่พบบ่อยเมื่อแมวเป็นหวัด ซึ่งเป็นสัญญาณว่าระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีปัญหา ซึ่งอาจมีน้ำมูก หรือเสมหะร่วมด้วย
น้ำตาไหล มีขี้ตา
เมื่อแมวเป็นหวัดรุนแรง อาจมีอาการตาแดง ตาบวมแดง ตาบวมจนตาปิด น้ำตาไหลต่อเนื่อง และมีขี้ตาเยอะกว่าปกติ
ขนหางตั้ง
บางครั้งเมื่อแมวเป็นหวัดอาจมีอาการขนหางชูตั้ง เนื่องจากความไม่สบายตัวหรือความเครียดจากอาการป่วย
ช่องปากอักเสบ
ตอนที่แมวเป็นหวัด อาจประสบปัญหาช่องปากอักเสบ เช่น ลิ้นและเหงือกบวมแดง แผลในช่องปาก หรือแผลหลุมในลิ้น
เยื่อบุตาอักเสบหรือมีแผลในกระจกตา
ในกรณีที่แมวเป็นหวัดรุนแรง อาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบหรือแผลหลุมในกระจกตา ทำให้แมวตาบวมแดง น้ำตาไหล และมีน้ำตา จนส่งผลให้น้องแมวรู้สึกเจ็บปวดหรือกระทบต่อการมองเห็น
วิธีการรักษาเมื่อแมวเป็นหวัด
หากสังเกตพบอาการต่าง ๆ ว่าแมวเป็นหวัด ควรพาน้องเหมียวไปหาคุณหมอเพื่อเข้ารับการประเมินอาการและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งมักใช้วิธีการตรวจเลือด เก็บตัวอย่างเยื่อบุหรือสารคัดหลั่ง เพื่อระบุเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคและตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันของน้องแมว
ปัจจุบัน ยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับการรักษาโรคหวัดแมวโดยเฉพาะ ดังนั้น การรักษาโรคไข้หวัดแมวจึงเป็นการรักษาตามอาการและป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ ด้วยการให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก ยาเสริมภูมิคุ้มกัน หรือยาปฏิชีวนะ
ป้องกันแมวเป็นหวัดอย่างไร
การป้องกันไม่ให้แมวเป็นหวัดที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการเสริมสร้างคุ้มกันให้แข็งแรงตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเหล่าทาสแมวทั้งหลายสามารถดูแลแมวให้แข็งแรงและป้องกันโรคหวัดแมวได้ด้วยวิธีการ ดังนี้
ตรวจสุขภาพประจำปีและฉีดวัคซีนป้องกันแมวเป็นหวัด
การฉีดวัคซีนเป็นวิธีสำคัญในการลดโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้แมวเป็นหวัดและป้องกันความรุนแรงของอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทานอาหารเสริมภูมิคุ้มกันไม่ให้แมวเป็นหวัด
การเลือกอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจากวิตามิน A วิตามิน E และซิลิเนียม เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยป้องกันไม่ให้แมวเป็นหวัดได้
รักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันแมวเป็นหวัด
การจัดบ้านให้มีความสะอาดน่าอยู่ และทำความสะอาดอุปกรณ์ของน้องแมวเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้แมวเป็นหวัด
- เลี่ยงความเครียดที่เสี่ยงทำให้แมวเป็นหวัด
ไม่ควรพาไปน้องแมวไปในสถานที่แปลกที่หรือเสียงดัง เพื่อป้องกันไม่ให้น้องแมวเกิดความเครียดสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพและอาจทำให้น้องแมวเป็นหวัดได้
แม้ว่าการที่น้องแมวเป็นหวัดจะดูไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้เจ้าเหมียวป่วยหนักได้ การดูแลและป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แมวมีสุขภาพแข็งแรงและห่างไกลจากหวัด