
เที่ยวทีไรซึมทุกที! รับมือซึมเศร้าหลังหยุดยาวยังไงดี?
หลังจากได้พักผ่อนยาว ไม่ว่าจะเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือทริปท่องเที่ยวที่รอมานาน หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกห่อเหี่ยว หม่นหมอง หรือไม่มีแรงบันดาลใจเมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติ ใจเรียกร้องแต่…หยุดต่อเลยได้ไหมมม~ อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว” หรือ “Post-vacation Blues” หรือ “Post-vacation Depression” ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและคนเมืองที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบและกดดัน แม้ภาวะนี้จะไม่ใช่โรคทางจิตเวชอย่างเป็นทางการแต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตและประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน บทความนี้ Short Recap จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่า ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวคืออะไร มาเช็กอาการง่าย ๆ กันว่าเราเป็นแบบนี้อยู่ไหมนะ พร้อมวิธีรับมือกับภาวะนี้ให้กลับมาสดใสได้อีกครั้ง
ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวคืออะไร?

“ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว” หรือ “Post-vacation Blues” หรือ “Post-vacation Depression” เป็นภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงเวลาของการพักผ่อน การเฉลิมฉลอง หรือการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและคนที่เรารักจบลง โดยผู้ที่เผชิญกับภาวะนี้มักจะรู้สึกเศร้า หดหู่ ไม่มีแรงบันดาลใจ หรือรู้สึกว่างเปล่าเมื่อต้องกลับสู่กิจวัตรเดิม หลายครั้งความรู้สึกที่ว่ามานี้อาจเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว จู่ ๆ ก็ไม่อยากตื่นเช้า ไม่อยากเริ่มต้นงาน แค่นึกว่าต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมตลอดเวลา อยู่แต่ในห้องประชุมทั้งวัน ต้องเดินทางไปนู่นไปนี่คุยกับลูกค้าก็หมดพลังซะแล้ว เบื่อหน่ายสิ่งที่เคยชอบ และไม่มีความกระตือรือร้นเหมือนก่อนช่วงหยุดยาว
อาการของภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว

แม้จะไม่ได้รุนแรงเท่าภาวะซึมเศร้าในเชิงการแพทย์ แต่ “ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว ก็สามารถส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างชัดเจน อาการที่พบได้บ่อย ใครเป็นแบบนี้อยู่บ้างมาเช็กกันเลย!
- ขาดแรงจูงใจในการทำงานหรือเรียน
- เบื่อหน่ายกิจกรรมที่เคยสนุก
- นอนไม่หลับ หรือรู้สึกหลับไม่สนิท
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- วิตกกังวลเกี่ยวกับการกลับไปเผชิญหน้ากับปัญหาหรือความเครียดเดิม ๆ
- มีความรู้สึกอยากอยู่เงียบ ๆ ไม่อยากเข้าสังคม
ใครกำลังรู้สึกมีอาการแบบนี้หลังจากวันหยุดยาว อาจเป็นไปได้ว่ากำลังประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวอยู่

ทำไมถึงรู้สึกซึมเศร้าหลังหยุดยาวนะ?
- ความคาดหวังสูงเกินไป
หลายคนคาดหวังว่าวันหยุดยาวจะช่วยเยียวยาทุกอย่าง ทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เมื่อวันหยุดจบลงโดยยังไม่ได้รู้สึกดีขึ้นจริง ๆ ก็อาจนำมาสู่ความรู้สึกผิดหวังและเคว้งคว้างได้
- เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบกระทันหัน
ช่วงหยุดยาวมักทำให้ตารางชีวิตเปลี่ยนไป เช่น นอนดึก เดินทางบ่อย กินอาหารที่ไม่สมดุล เมื่อกลับมาสู่ชีวิตจริง สมองและร่างกายจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเครียดสะสม
- ความจริงที่รออยู่หลังหยุดยาว
วันหยุดอาจเหมือนพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่หลบหนีจากปัญหา แต่เมื่อมันจบลงแล้วต้องกลับมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่ยังคงอยู่ เช่น งานที่ค้าง การเงินที่ต้องจัดการ หรือความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด
รับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวยังไงดี จำเป็นต้องรักษาไหม?
“ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว” ไม่ได้ถือว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่เป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นในช่วงปรับตัวหลังจากวันหยุดพักผ่อน ซึ่งสามารถพบได้ปกติในทุกคน ไม่ใช่อาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษา แต่อาจส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมในการทำงานได้ ซึ่งภาวะนี้โดยปกติแล้วจะสามารถหายไปเองใน 2-3 วัน สำหรับบางคนอาการอาจอยู่ยาวถึง 2-3 สัปดาห์เลยก็ได้ แต่การรับมือกับภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้เวลาเยียวยาอย่างเดียว แต่เราสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ

- กลับเข้าสู่กิจวัตรอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าเพิ่งรีบบีบคั้นตัวเองให้ต้องกลับมาเต็มร้อยทันที ลองเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่สามารถทำได้ในแต่ละวัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับ
- ดูแลสุขภาพพื้นฐาน
- นอนหลับให้เพียงพอ พยายามปรับเวลานอนให้เป็นปกติ
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเร็วหรือโยคะ เพื่อช่วยให้สมองหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphin)
- กินอาหารดี ๆ หลีกเลี่ยงของหวาน คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป
- สร้างความสุขจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มกาแฟแก้วโปรด ฟังเพลงที่ชอบ หรืออ่านหนังสือเล่มใหม่ การมีช่วงเวลาพิเศษเล็ก ๆ ในแต่ละวันสามารถช่วยสร้างความสุขได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
- อย่ากลัวที่จะพูด หากรู้สึกไม่ไหว การพูดคุยกับเพื่อน คนในครอบครัวหรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะช่วยคลี่คลายความรู้สึกภายในได้
- วางแผนวันหยุดล่วงหน้า การมีอะไรให้ตั้งตารอ เช่น แพลนเที่ยวเล็ก ๆ สุดสัปดาห์ หรือการลงเรียนเวิร์กช็อปที่สนใจ ก็ช่วยให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีจังหวะแห่งความสุขรออยู่บ้าง
ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวสามารถเกิดได้กับทุกคน หลายคนอาจรู้สึกผิดที่ไม่สามารถกลับมาฟิตได้ทันทีหลังจากวันหยุด แต่ขอให้รู้ไว้ว่า ความรู้สึกเศร้า เหนื่อยล้า หรือหมดไฟหลังหยุดยาวเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ และไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ สิ่งสำคัญที่สุดคือการรับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอง ให้เวลาร่างกายและจิตใจได้ฟื้นตัวโดยไม่เร่งรีบ เพราะการดูแลใจตัวเองก็สำคัญพอ ๆ กับการทำงานหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่งเราสามารถจัดการได้ ด้วยการดูแลตัวเองอย่างใส่ใจทั้งร่างกายและจิตใจ หากใครที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกนี้ ทาง Short Recap ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปให้ได้ และสามารถกลับมาสดใสอีกครั้งนะคะ😊