Lazy Economy
พฤติกรรมขี้เกียจ ช่วยสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจ
- Lazy Economy หรือ เศรษฐกิจขี้เกียจ คือเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สร้าง Demand (ความต้องการซื้อ) ขับเคลื่อนโดยความขี้เกียจของคนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย ลดภาระต่าง ๆ ทำให้ชีวิตประจำวันง่ายและรวดเร็วขึ้น
- อันดับกิจกรรมที่คนไทยขี้เกียจมากที่สุด คือ การออกกำลังกาย เป็นกลุ่มอยากดูดี หรือกลุ่มคนที่ขี้เกียจออกกำลังกาย
- เจ้าของธุรกิจสินค้าและบริการมีการใช้กลยุทธ์ SLOTH (Speed, Lean, Enjoy, Convenient, Happy) มัดใจเหล่ามนุษย์ขี้เกียจได้อย่างอยู่หมัด
พฤติกรรมขี้เกียจของมนุษย์กลายเป็นตัวสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับวงการธุรกิจ เหตุจากความขี้เกียจออกไปซื้อของ ความขี้เกียจยืนรอคิวนาน หรือขี้เกียจเดินทาง เพราะพฤติกรรมความขี้เกียจเหล่านี้ ทำให้มีบริการที่มาตอบสนองความต้องการของคนขี้เกียจมากขึ้น
Lazy Economy คืออะไร?
Lazy Economy คือเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สร้าง Demand (ความต้องการซื้อ) ขับเคลื่อนโดยความขี้เกียจของคนยุคใหม่ที่อยากได้ความสะดวกสบาย ลดภาระต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันให้ง่ายและเร็วขึ้น ผ่านอุปกรณ์เครื่องมืออย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และโน้ตบุ๊กที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ รวมถึงการดูแลบ้าน
Lazy Economy ถือว่าเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินค่าบริการ เพราะสามารถตอบโจทย์ความขี้เกียจได้ ทำให้พวกเขามีความสะดวกสบายมากกว่าเดิม เหมือนเป็นการซื้อเวลาที่นำไปทำสิ่งสำคัญอย่างอื่นได้มากขึ้น
กลายเป็นจุดกำเนิดให้ธุรกิจ Lazy Economy บริการอำนวยความขี้เกียจสอดคล้องกับ Demand ของคนจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งธุรกิจบริการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจขนส่ง สั่งอาหาร จองคิว หรือแม้กระทั่งธุรกิจรับทำความสะอาดบ้าน
10 อันดับที่คนไทยขี้เกียจมากที่สุด
แล้วความขี้เกียจของผู้บริโภคแบบไหนที่สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจแบบ Lazy Economy ได้บ้าง เรามีวิจัยจากวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ แบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers จนได้ 10 อันดับกิจกรรมที่คนไทยขี้เกียจมากที่สุด
พฤติกรรมขี้เกียจของมนุษย์ 5 กลุ่มที่สนับสนุน Lazy Economy
เรามาวิเคราะห์พฤติกรรมความขี้เกียจของมนุษย์ทั้ง 5 กลุ่มกัน มาดูว่าแต่ละกลุ่ม มีอะไร และแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
1. กลุ่มอยากดูดี หรือกลุ่มคนขี้เกียจออกกำลังกาย
มีสัดส่วน 84% หรือจำนวน 55 ล้านคน เมื่อเทียบกับประชากรไทยโดยรวม มีสาเหตุหลักมาจากการขาดแรงจูงใจ ไม่มีเวลา และทำแล้วรู้สึกเหนื่อย นอกจากนี้ยังมีการใช้แอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายอีกประมาณ 32% จากกลุ่มคนอยากดูดี 84% แปลว่ามีสัดส่วนการใช้งานแอปพลิเคชันน้อยกว่าความต้องการของคนที่อยากดูดี
2. กลุ่มชอบชอป หรือคนขี้เกียจต่อคิวซื้อของ
มีสัดส่วน 81% หรือมีจำนวน 53 ล้านคน มีสาเหตุมาจากการไม่ชอบเสียเวลา และรู้สึกเหนื่อยกับการรอ ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจการเงินบนสมาร์ตโฟน และยังพบอีกว่าคนไทยใช้งาน Mobile Banking สูงที่สุดในโลก เป็นจำนวน 74% หรือ 49 ล้านคน
3. กลุ่มบ้านรก หรือคนขี้เกียจทำความสะอาดบ้าน
มีสัดส่วน 77% หรือมีจำนวน 51 ล้านคน มีสาเหตุมาจากรู้สึกเหนื่อย ไม่มีเวลา ไม่มีแรงจูงใจ รวมถึงทำไม่เป็น ทำให้เกิดแอปพลิเคชันบริการทำความสะอาดบ้าน น่าแปลกใจตรงที่ปริมาณคนไทยที่ขี้เกียจทำความสะอาดบ้านมีมาก แต่พบว่าการเรียกใช้งานแอปพลิเคชันนี้ยังน้อยมากเพียง 7% เท่านั้น อาจจะเป็นเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย หรือถูกขโมยของ จึงทำให้มีถึง 93% ที่ไม่มีการใช้งาน
4. กลุ่มไม่ชอบอ่าน หรือกลุ่มขี้เกียจอ่านหนังสือ
มีสัดส่วน 70% หรือจำนวน 46 ล้านคน มีสาเหตุมาจากการขาดแรงจูงใจ ไม่มีเวลา และรู้สึกเหนื่อย ทำให้เกิดธุรกิจการอ่านให้ฟัง หรือ Read Less, Listen More ขึ้น เป็นการนำเสนอคอนเทนต์ที่สนุกและน่าติดตามมากกว่าการอ่านหนังสือทั่วไป เนื่องจากพฤติกรรมไม่ชอบอ่าน แต่เลือกการฟังแทน เพราะสามารถทำอย่างอื่นไปพร้อมกันได้ด้วย เช่น การฟัง Podcast
5. กลุ่มชอบกิน แต่ไม่ชอบทำ หรือกลุ่มขี้เกียจทำอาหาร
มีสัดส่วน 69% หรือมีจำนวน 45 ล้านคน มีสาเหตุมาจากการไม่รู้วิธีทำอาหาร รู้สึกเสียเวลา เหนื่อย และไม่มีแรงจูงใจ ซึ่งทำให้ธุรกิจประเภท Food Delivery ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดในอุตสาหกรรมเดียวกันไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท เป็นตัวเลือกเดียวที่ผู้บริโภคใช้เป็นทางออกสำหรับปัญหานี้ เห็นได้ชัดจากการใช้บริการจากเจ้าดังอย่าง Grab, LINE MAN, Food Panda และ GET!
กลยุทธ์ SLOTH ที่ใช้สำหรับธุรกิจ Lazy Economy
ธรุกิจขี้เกียจอย่าง Lazy Economy มีการใช้ยุทธ์การตลาดอยู่ทั้งหมด 5 ข้อ ไปดูกันว่าแต่ละข้อมีอะไรบ้าง และมีการสนับสนุนพฤติกรรมขี้เกียจอย่างไร
Speed (S) มีความรวดเร็ว และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเวลา
Lean (L) มีความกระชับ ตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากออก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน
Enjoy (O) ทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ
Convenient (T) สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก ช่วยให้ชีวิตง่ายมากขึ้น
Happy (H) มีความสุขจากความต้องการที่ถูกเติมเต็มและปัญหาถูกแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด
Lazy Economy ที่สนองพฤติกรรมขี้เกียจ
1. On Demand Service
ธุรกิจ Lazy Economy ที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยทำธุระต่าง ๆ ตอบโจทย์คนที่ไม่ชอบรออะไรนาน ยอมจ่ายเงินแก้ปัญหา เช่น ธุรกิจประเภท Food Delivery, Home Service และ Grocery Delivery เป็นต้น
2. Automation & Hands – Free
ธุรกิจ Lazy Economy ที่เป็นสินค้าหรือบริการที่ผู้ใช้ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ หรือถือ เช่น หุ่นยนต์ช่วยทำความสะอาด หรือร้านค้าที่เป็น Automate Store ไม่ต้องมีแคชเชียร์ประจำ รวมไปถึง Lazy Holder ที่จับแบบคล้องคอ ไม่ต้องเมื่อยมือเพื่อถือเอง
3. Ready to
เป็น Lazy Economy แบบสินค้ากลุ่ม Ready to เช่น Ready to Cook, Ready to Eat และ Ready to Use ยังคงพัฒนาและมีนวัตกรรมมากขึ้น อย่าง บริการส่งอาหารพร้อมปรุงถึงบ้าน, ข้าวกล่องอุ่นร้อนโดยไม่ต้องใช้ไมโครเวฟ, เครื่องสำอางต่าง ๆ ที่ได้ทำการพัฒนาช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ Dry Shampoo ทำความสะอาดผมได้แบบไม่ต้องสระ ช่วยประหยัดเวลาได้เหมาะกับคนขี้เกียจสระผมสุด ๆ
แม้ Lazy Economy จะเป็นเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และสามารถพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการของคนขี้เกียจได้มากยิ่งขึ้นก็ตาม แต่ก็อย่าใช้บริการบ่อยจนเคยชิน ลองพึ่งตัวเองบ้าง ออกไปไหนมาไหนบ้าง เดินออกกำลังกายบ้างสักหน่อยก็ยังดี ShortRecap เป็นห่วง 🙂