5 วิธีหยุดปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ แถมมีไว้ให้เก็บ
- ทุกวันนี้เงินเดือนเฉลี่ยของวัยทำงานอยู่ที่ 15,000 บาท ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
- และวัยทำงานส่วนใหญ่ก็เลือกทำงานในเมือง จึงต้องออกมาเช่าหอ ซื้อคอนโด ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนชักหน้าไม่ถึงหลัง จนต้องแบมือขอเงินที่บ้านเพิ่ม
- หลายคนจึงเลือกที่จะอดมือกินมื้อ หรือกินมาม่าเป็นอาหารเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเรามีวิธีการที่ดีกว่านี้ในการเก็บเงินล่ะ ก็คงไม่ต้องขอเงินทางบ้านใช้
หนุ่มสาวหลาย ๆ คนที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงานต่างก็เคยจินตนาการถึงวันที่เงินเดือนออก คิดไปว่าจะซื้ออะไรบ้าง ไหน ๆ ก็มีเงินเดือนเป็นของตัวเองแล้ว ขอซื้อของที่อยากได้หน่อยเถอะ บ้างก็อยากซื้อมือถือใหม่ ไม่ไหวแล้ว เครื่องเก่ารวนเหลือเกิน บ้างก็อยากจะไปกินบุฟเฟต์ชดเชยหลังจากที่กินมาม่ามาเกือบทั้งเดือน สาว ๆ หลายคนก็อยากซื้อเครื่องสำอางมาบำรุงหน้าตัวเองสักหน่อย แต่หลังจากที่เงินเดือนออกเพียงแค่หนึ่งอาทิตย์ เงินก็ใกล้หมดอีกแล้ว ทำอย่างไรดี ไม่พอใช้ถึงสิ้นเดือนแน่ ๆ
หยุดความคิดนั้นเดี๋ยวนี้! ก่อนที่จะได้ยินประโยคเจ็บจี๊ดตอนแม่รับสาย “เงินเดือนไม่พอใช้อีกล่ะสิ” เพราะในวันนี้เรามีวิธีจัดการเงินมาให้ รับรองว่าพอใช้ แถมยังมีให้เหลือเก็บ โดยสิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือ
1. เคลียร์รายจ่ายประจำ
เรามักมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน ดังนั้นเงินเดือนที่เราได้มาในแต่ละเดือนจะต้องหักค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่าง ๆ ก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ เมื่อหักรายจ่ายพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว เราก็จะรู้ว่าเหลือเงินเท่าไร ที่นี้จะเก็บออม ให้พ่อแม่ หรือซื้อของ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเรา
2. ฝากประจำแบบอัตโนมัติ
หากอยากเก็บเงินไว้ไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ การฝากประจำแบบอัตโนมัติถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีเลยทีเดียว เพราะเป็นวิธีฝากเงินระยะยาวและสะดวกสบายโดยไม่ต้องเดินทางไปฝากที่ธนาคาร แต่ให้ตัดผ่านบัญชีโดยอัตโนมัติทุกเดือน ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่จะเริ่มต้นฝากที่ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน วิธีนี้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เรามีเงินเก็บ สามารถนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน หรืออาจใช้เป็นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจก็ได้
3. หักเศษเงินเดือน
ทุก ๆ ครั้งที่เงินเดือนออก มักจะมีเศษเกินมาอยู่แล้ว สมมติได้เงินเดือน 17,655 บาท ให้เราหัก 655 บาทเก็บไว้ ซึ่งการเก็บเงินในหลักร้อยอาจจะไม่ได้มากจนเกินไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นให้หักเก็บเอาไว้ก่อน เพราะเศษเงินหลักร้อยเมื่อนำมารวมกันก็ไม่ใช่เงินจำนวนน้อย ๆ หากเราหักเก็บไว้ทุกเดือนเป็นเวลา 1 ปีก็อาจได้เกือบหมื่น มีเงินเก็บไปเที่ยวทุก ๆ ปีก็ยังไหว
4. มีแบงก์ 50 ให้เก็บ
หลายคนมักจะแนะนำวิธีนี้ เพราะถือว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผล เหมาะกับคนที่อยากเริ่มต้นเก็บเงินแบบจริงจัง เพราะการเก็บแบงก์ 50 ไม่ได้น้อยหรือมากจนเกินไป แถมยังเป็นแบงก์ที่ไม่ค่อยได้พบหรือใช้บ่อยเท่ากับแบงก์ 20 หรือแบงก์ 100 ถือว่าเป็นการสร้างคุณค่าให้กับแบงก์ 50 ทำให้เราอยากเก็บเงินมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การเก็บเงินวันละ 50 บาท ภายใน 1 เดือน เราจะมีเงินเก็บ 1,500 บาท ซึ่งอาจจะดูน้อย แต่ความรู้สึกนี้จะทำให้เราระมัดระวังเรื่องการใช้เงินมากขึ้น เพราะกว่าจะได้เงินมา 1,500 บาท ต้องใช้เวลาถึง 30 วัน แต่เวลาเงินออกจากบัญชี 1,500 กลับใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที
5. เดินห้างให้น้อยลง
การเดินห้างเพียงเดือนละ 1-2 ครั้ง จะทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางบ่อย ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ควรเดินห้างในช่วงปลายเดือนจะเป็นการประหยัดมากกว่า เพราะเป็นช่วงที่ของลดราคาและเราได้จัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ออกไปเรียบร้อยแล้ว เงินที่เหลือจะทำให้เรารู้ว่าซื้อได้เท่าไรและควรซื้ออะไรบ้าง ยิ่งในปัจจุบันมีการซื้อผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ก็ยิ่งสะดวกมากขึ้น แม้ว่าจะมีค่าจัดส่งแต่ก็ยังถูกกว่าเดินทางมาเอง แถมยังมีโค้ดส่วนลดหรือช่วง Flash Sale ที่ราคายังถูกกว่าหน้าร้านอีกด้วย ที่สำคัญคือคุณภาพของสินค้าก็เทียบเท่ากับในห้าง ไม่ได้แย่เสมอไปอย่างที่ใครหลาย ๆ คนกลัว
นี่อาจเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนทำตามได้ แต่อย่าลืมยืดหยุ่นกับตัวเองด้วยนะ การเข้มงวดจนเกินไปอาจจะทำให้เราไม่มีความสุขหรือเครียดเอาได้ เอาเป็นว่าเลือกวิธีที่คิดว่าง่ายและดีที่สุดสำหรับเราจะดีกว่า เดือนไหนไม่พอใช้จริง ๆ เดือนนั้นอาจจะต้องสร้างสายสัมพันธ์กับแม่เพิ่มสักหน่อย จงจำไว้เสมอว่า “ทุกการเริ่มต้นอาจดูยาก แต่ถ้าลูกขอมาก แม่ก็ลากลูกได้”