ทำความรู้จัก “เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท” ให้ขึ้นใจก่อนยื่นภาษี
เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้ที่กฎหมายบังคับให้เราต้องเสียภาษี ได้แก่ เงินสด ทรัพย์สินที่ตีราคาได้ ฯลฯ
แบ่งออกเป็น 8 ประเภท โดยเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 หรือเงินได้มาตรา 40(1) จะเป็นเงินเดือนที่พนักงานประจำทั่วไปต้องยื่นภาษีเงินได้นี้ หากเป็นรายได้ทางเดียวให้ยื่น ภ.ง.ด. 91
หากทำงานประจำ แล้วทำงานอย่างอื่นร่วมด้วย ให้ยื่น ภ.ง.ด. 90
หากมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5-8 ให้ยื่น ภ.ง.ด. 94 โดยบังคับยื่นกลางปีของปีภาษีนั้น ๆ
ใครที่ต้องยื่นภาษี จำเป็นต้องรู้ว่าเงินได้พึงประมาณของเราอยู่ประเภทไหนบ้าง เนื่องจากช่องทางการหารายได้ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน การแบ่งประเภทของเงินได้จึงเป็นการให้ความเป็นธรรมในการคำนวณภาษี ไปดูกันเลยว่าเงินได้แบบไหนบ้างที่เราต้องนำมาคำนวณ
เงินได้พึงประเมินคืออะไร
เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้ที่กฎหมายบังคับให้เราต้องเสียภาษี ได้แก่ เงินสด ทรัพย์สินที่ตีราคาได้ สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้ เงินค่าภาษีที่มีคนจ่ายให้เรา และเครดิตภาษีเงินปันผล ยกเว้นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี (เงินรางวัลจากการถูกลอตเตอรี ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือน ฯลฯ)
เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท
ประมวลรัษฎากรได้แบ่งเงินได้พึงประเมินออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1
– มาตรา 40(1) คือ เงินได้จากการจ้างแรงงาน
– สิ่งเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 เช่น เงินเดือน โบนัส เบี้ยเลี้ยง ฯลฯ
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2
– มาตรา 40(2) คือ เงินได้ที่มาจากการรับจ้างทำงาน หรือค่าตอบแทนที่คุณไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้านาย-ลูกน้อง และไม่เข้าข่ายการประกอบวิชาชีพอิสระ มาตรา 40(6)
– สิ่งเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 เช่น ค่านายหน้า ค่าตอบแทนของพริตตี้/ พิธีกร ค่ารับงานรีวิวสินค้าในโซเชียล ค่าจ้างเขียนคอนเทนต์ ค่าจ้างทำกราฟิก เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3
– มาตรา 40(3) คือ เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ ค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญา และค่า Goodwill
– สิ่งที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 เช่น ค่าจ้างจากงานเขียนคอลัมน์ บทประพันธ์ เนื้อเพลง โปรแกรม ที่ผู้ว่าจ้างตกลงให้คุณเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยที่เราอนุญาตให้เขาใช้ประโยชน์
– เงินได้จากการขายสินค้าดิจิทัลโดยการให้โหลดผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ เกม และโปรแกรม ฯลฯ
– การขายลิขสิทธิ์ที่เป็นรูปเป็นร่าง เช่น ขายแผ่นเสียง ขายแผ่นโปรแกรม หรือพิมพ์หนังสือขายเอง ไม่นับเป็นเงินได้พึงประเมินที่ 3 แต่ให้เป็นเงินได้ประเภทที่ 8
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4
– มาตรา 40(4) คือ เงินได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งจากกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ
– สิ่งที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 เช่น ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ฯลฯ ยกเว้นดอกเบี้ยสลากออมสิน ดอกเบี้ยเงินฝากผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป โดยฝากประจำอย่างน้อย 1 ปี และดอกเบี้ยที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5
– มาตรา 40(5) คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน รวมถึงรายได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อหรือผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งผู้รับเงินต้องเสียภาษี
– สิ่งที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 คือ ค่าเช่าทรัพย์สินทุกประเภท ไม่ว่าจะอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ รวมถึงค่าเช่าที่คุณนำทรัพย์สินของผู้อื่นมาให้เช่าต่อด้วย
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6
– มาตรา 40(6) คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คล้ายกับมาตรา 40(2) ตรงที่คุณไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้านาย-ลูกน้อง แต่ต่างกันตรงที่วิชาชีพอิสระดังต่อไปนี้ถูกกำหนดให้เป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ
สิ่งที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 มีเพียง 6 อาชีพเท่านั้น! ได้แก่
1. การประกอบโรคศิลปะ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ (ทันตกรรม, เวชกรรม, การผดุงครรภ์, เภสัชกรรม, กายภาพบำบัด, เทคนิคการแพทย์, การพยาบาล) เช่น แพทย์ไปเปิดคลินิกส่วนตัว ไปตรวจคนไข้ตามโรงพยาบาลที่ไม่ได้สังกัดที่เราเป็นคนกำหนดค่ารักษาเอง เป็นต้น
2. ทนายความ/ นักกฎหมาย เช่น ให้คำปรึกษา ว่าความ โดยค่าทนายหรือค่าปรึกษากฎหมายนั้นอาจจะคิดเป็นรายครั้ง รายชั่วโมง หรือรายคดี
3. วิศวกร เช่น ออกแบบโครงสร้าง ให้คำปรึกษา โดยค่าแรงอาจคิดเป็นรายครั้งหรือรายโปรเจกต์
4. สถาปนิก เช่น ออกแบบบ้าน ให้คำปรึกษา โดยค่าแรงอาจคิดเป็นรายครั้งหรือรายโปรเจกต์
5. นักบัญชี เช่น เปิดบริษัททำบัญชี ซึ่งอาจจะได้ค่ารองรับบัญชี ค่า Audit ค่าปรึกษาอื่น ๆ ที่อาจคิดเป็นรายครั้งหรือรายโปรเจกต์
6. ช่างประณีตศิลป์ เช่น ทำงานปั้น งานหล่อ งานวาด โดยค่าแรงอาจจะคิดตามความยากง่าย หรือคิดเป็นรายชิ้น รายโปรเจกต์
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7
– มาตรา 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมา ที่มีการเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ โดยที่คุณเป็นผู้จัดหาแรงงาน เครื่องมือและสัมภาระเอง
– สิ่งที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 เช่น รับเหมาก่อสร้าง รับผลิตสินค้าตามแบบที่ลูกค้าต้องการหรือผลิตตามต้นแบบที่ลูกค้าสั่ง โดยสินค้านี้ต้องไม่ได้ทำขายเป็นปกติทั่วไปและอยู่ในแคตาล็อกของคุณ
– หากมีการรับเหมา แต่ลูกค้าเป็นคนซื้อวัสดุเอง จะถือเป็นการว่าจ้างธรรมดา เข้าข่ายเงินได้ประเภท 40(2)
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8
– มาตรา 40(8) คือ เงินได้ที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่ม 40(1)-(7) เป็นเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง ฯลฯ
– สิ่งที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8
– นักแสดง, นักร้อง, นักดนตรี, นักกีฬามืออาชีพ ฯลฯ
– เงินได้จากการเก็บค่าต๋งหรือค่าเกมจากการพนัน
– เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือมีคนให้มา
– เงินได้จากการขายออนไลน์
– การทำป่าไม้ สวนยาง หรือไม้ยืนต้น
– การทำโรงสีข้าว, นาเกลือ, เหมืองแร่, อบหรือบ่มใบยาสูบ
– กิจการภัตตาคาร, ร้านอาหาร, โรงแรม
– กิจการอู่เรือ/ ซ่อมเรือ
– การทำวรรณกรรม (เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง)
– อื่น ๆ อีกมากมาย ดูได้ที่ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 มีอะไรบ้าง
เงินได้พึงประเมินประเภทไหน ต้องยื่น ภ.ง.ด. อะไรบ้าง
– ยื่น ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 หรือ 40(1) เป็นรายได้ทางเดียว
– ยื่น ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 หรือ 40(2) หากทำงานประจำ แล้วทำงานอย่างอื่นร่วมด้วย [ 40(1) + 40(2)-(8) ] ก็ให้ยื่น ภ.ง.ด. 90 นี้เหมือนกัน
– ยื่น ภ.ง.ด. 94 สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5-8 หรือ 40(5)-(8) มีข้อบังคับคือต้องยื่นกลางปี เช่น ปีภาษี 2563 จะต้องยื่นรายได้ของ 6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ภายในกรกฎาคม – 30 กันยายน 2563 แล้วค่อยยื่นปลายปีอีกครั้งหนึ่ง
เห็นแบบนี้บางคนอาจจะรู้สึกว่าภาษีเป็นเรื่องยุ่งยาก อะไรไม่รู้เยอะแยะ ยิบย่อยเต็มไปหมด แต่จริง ๆ แล้วตอนยื่นมันไม่ได้ยากขนาดนั้นหรอกนะ ลองเทียบดูดี ๆ ว่าเรามีเงินได้พึงประเมินประเภทไหนบ้าง แล้วศึกษาดูให้ละเอียด หากยื่นผิด ยื่นไม่หมด ก็ไม่เป็นไร เพราะเราสามารถยื่นใหม่และยื่นเพิ่มได้อยู่แล้ว