จับตามอง AI ในฐานะคู่แข่งตัวฉกาจ แห่งสนามธุรกิจ
- ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI (Artificial Intelligence) คือเทคโนโลยีที่ลอกเลียนความสามารถของมนุษย์ เดิมทีถูกคิดค้นเพื่อพัฒนาระบบเครื่องจักรเท่านั้น
- ปัจจุบันได้ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อหลายธุรกิจ ด้วยฟังก์ชันพื้นฐานที่ชื่อว่า ‘Supervised Learning’
- นำมาสู่การปฏิบัติหน้าที่แทนมนุษย์ อย่างเช่น แรงงานงานในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
- ด้าน Startup หลายแห่งก็นำ AI มาช่วยจัดเก็บข้อมูลและบริการลูกค้าผ่านแอปฯ ซึ่งได้ผลลัพธ์เกือบเทียบเท่ากับความสามารถของมนุษย์
ว่าด้วยเรื่องการเติบโตของธุรกิจและความสามารถของเทคโนโลยีในปัจจุบัน นับว่าเป็นสองกลไกที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้ทำงานสัมพันธ์กันได้อย่างลงตัว โดยแทบไม่น่าเชื่อว่าระบบ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI (Artificial Intelligence) ไม่ได้ถูกจำกัดความสามารถให้อยู่เพียงแค่แวดวงอุตสาหกรรมอีกต่อไป
ดังที่เราเห็นจากข่าวหรือบทความด้านการลงทุนซึ่งเผยว่า ในอนาคต AI กำลังจะแย่งอาชีพของมนุษย์ เมื่อนึกภาพแล้วก็คงคล้ายกับฉากในภาพยนตร์ Sci-Fi ที่มีหุ่นยนต์ออกมาทำงานแทนมนุษย์อย่างน่าตื่นเต้น แม้จะดูเหมือนเป็นจินตนาการที่อาจไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ทว่าหากเราจับตามองพัฒนาการของ AI ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้วล่ะก็ จะรู้ว่าเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาให้มีบทบาทต่อหลากหลายวิชาชีพไม่น้อยเลยทีเดียว
ความเชี่ยวชาญที่น่าทึ่งของ AI จะส่งผลต่อการทำงานของมนุษย์และแวดวงธุรกิจโลกได้อย่างไร ? ถึงเวลาที่จะต้องปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยี พร้อมเรียนรู้ข้อดี–ข้อเสียของ AI คู่แข่งทรงประสิทธิภาพของมนุษย์ได้แล้ววันนี้
จากระบบช่วยทำงานของเครื่องจักร สู่มันสมองของมนุษย์
ย้อนกลับไปในปี 1950 มนุษย์เราคิดค้นระบบ AI ขึ้นมาเพื่อพัฒนาเครื่องจักรกลและวิทยาการด้านวิศวกรรม นวัตกรรมนี้จึงเป็นความหวังของมนุษย์ในยุคนั้น แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีและความทันสมัยหลายๆ ด้าน จึงทำให้ AI ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องในขณะนั้น ถึงขนาดที่ว่าเป็นโปรเจคที่ถูกพับเก็บไปเลยช่วงหนึ่ง
ต่อมาเจ้าระบบนี้ได้ถูกนำมาปัดฝุ่นเคาะสนิมใหม่อีกครั้งให้ทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ ถือกำเนิดหุ่นยนต์หมากรุกที่ชนะเกมการแข่งขันในปี 2011 และยังชนะเกมโกะโลกในปี 2016 อีกด้วย นี่จึงเป็นชนวนที่ทำให้นักพัฒนาทั่วโลกหันมาสนใจและพร้อมดึงความสามารถของ AI ออกมาอีกครั้ง มองภาพง่ายๆ เลยก็คือการแข่งขันหุ่นยนต์ดับเพลิง หุ่นยนต์กู้ภัยต่างๆ นั่นเอง
ดังนั้น AI จึงเป็นศาสตร์ที่มนุษย์พัฒนาให้พยายามเลียนแบบความสามารถของมนุษย์ด้วยกันเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีคนจากหลากหลายแวดวงเลือกไปพัฒนาธุรกิจให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับวงการธุรกิจทั่วโลกที่เลือกใช้ AI สำหรับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 99% นั่นแปลว่าปัจจุบันเราวางใจในความสามารถคิดวิเคราะห์ ประมวลผล และแสดงผลของเทคโนโลยีเทียบเท่ากับทักษะของมนุษย์เลยทีเดียว
AI กับตำแหน่งที่ก้าวออกจากโรงงานอุตสาหกรรม
ระบบ AI มีฟังก์ชันที่เรียกว่า ‘Supervised Learning’ คือการทำงานที่รับข้อมูลเข้า (Input) อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วส่งออก (Output) เป็นข้อมูลหรือการตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เราใช้ระบบค้นหาด้วยเสียงกับ Google จากนั้นระบบจะแปลงข้อมูลเสียงของเราและดึงการค้นหาจากเว็บไซต์มาแสดงผล ดังนั้นเมื่อระบบสามารถเก็บข้อมูลนำเข้าได้เพียงพอแล้ว ก็จะสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้นั่นเอง
ทั้งนี้นักวิจัยคาดการณ์ว่า งานใดก็ตามที่มนุษย์ใช้เวลาน้อยกว่า 1 วินาที AI จะสามารถทำหน้าที่แทนได้ ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนเลยก็คือ แรงงานมนุษย์ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ระบบซื้อ–ขายตั๋วอัตโนมัติที่ให้ลูกค้าดำเนินการจ่ายเงินและกดเลือกบริการเอง ซึ่งนี่เป็นวิธีการลดแรงงานของพนักงานประจำตำแหน่งนี้ออกไป
ส่วนแนวโน้มในอนาคตนั้นคาดว่า ระบบจะสามารถคิดคำนวณแทนมันสมองของมนุษย์ได้ประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถเข้ามามีบทบาทแทนมนุษย์ได้อย่าง 100% เพราะกระบวนการบางอย่างก็ยังต้องใช้ความคิดซับซ้อนรวมถึงความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เป็นหลัก ดังนั้นไอเดียของมนุษย์จึงเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญสำหรับสร้างสรรค์ผลงานอยู่ดี
การทำงานของ AI ที่ถูกใจนักลงทุน
ปัจจุบันบริษัท Startup หลายแห่งเลือกใช้ AI มาอำนวยความสะดวกด้านจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้าด้วยการพัฒนาระบบบริการผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ในต่างประเทศนิยมวิเคราะห์และให้คำแนะนำด้านการลงทุนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งบริการรูปแบบนี้จะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าใช้นักวางแผนการเงินวิเคราะห์ แต่อาจมีข้อเสียคือฟังก์ชันคำแนะนำยังมีจำกัด อย่างเช่น ไม่สามารถให้คำแนะนำด้านภาษี การเงิน การชำระหนี้ ได้ครบวงจรเทียบเท่าความสามารถของมนุษย์
สำหรับคนที่มีต้องการลงทุนหรืออยากเสริมฐานความแข็งแกร่งให้แก่การเงินของตนเอง เราขอแนะนำ 2 แอปพลิเคชันที่ดึงความสามารถของ AI ให้ออกมาวาดลวดลายในฐานะเลขาส่วนตัวด้านการเงินของมนุษย์
หาเงินมาได้เท่าไหร่ ก็ใช้จนหมดเกลี้ยงเลยหรือเปล่า ? ให้ บริการฟินเทค (FinTech) จาก Digit เป็นผู้ช่วยควบคุมการออมเงินของเรากันเถอะ โดยระบบจะทำการประเมิณพฤติกรรมใช้เงินของเราทุกๆ วัน เมื่อถึงกำหนด Digit จะหักเงินบางส่วนเข้ามาเก็บออมไว้ในบัญชีที่เปิดกับ Digit อ๊ะๆ แต่ช้าก่อน ไม่ต้องกลัวว่า AI จะใจร้าย หักเงินเราเก็บจนไม่มีใช้ไปเสียก่อน เพราะเขายังเหลือเงินในบัญชีเอาไว้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแน่นอน แถมยังมีฟังก์ชันช่วยจัดการเป้าหมายเงินออมให้มีประสิทธิภาพ ถึงขั้นสามารถช่วยปิดหนี้บัตรเครดิตได้เลยทีเดียว
หนึ่งในวิธีลงทุนระยะยาวของคนยุคนี้คงหนีไม่พ้น ‘การทำประกันภัยหรือประกันชีวิต’ ซึ่งทาง Lemonade เลือกนำแนวคิด Peer to Peer (P2P) Insurance มาใช้ เพื่อสร้างความแตกต่างจากโมเดลธุรกิจประกันภัยแบบเดิม วิธีการของเขาคือจะขอหักเบี้ยประกันทันที 20% เงินที่เหลือ 80% จะกันไว้เพื่อจ่ายเคลมประกันของลูกค้า ผลก็คือการเคลมประกันผ่านวิธีนี้รวดเร็วมาก ซึ่งต่างจากวิธีการคิดเงินของบริษัทประกันภัยทั่วไป ที่จะนำเงินเบี้ยประกันของลูกค้าทุกรายมาเกลี่ยรวมกันเพื่อจ่ายค่าประกันให้แก่ลูกค้าที่ประสบอุบัติเหตุ ทำให้มีการดำเนินการล่าช้ากว่าจะได้เงินประกัน นอกจากนี้ Lemonade ยังการันตีความโปร่งใสเพราะบริษัทบริหารเงินเองทั้งหมดโดยไม่ผ่านนายหน้า การสมัครใช้งานก็ง่ายผ่านแอปพลิเคชันทั้งหมด ทั้งยังมี Chat Bot AI เป็นผู้ช่วยตอบคำถามให้แก่ลูกค้าตลอดเวลา
นี่เป็นเพียงไอเดียและความน่าสนใจเพียงบางส่วนของ AI ที่เข้ามาพัฒนาศักยภาพในวงการนักลงทุนเท่านั้น เพราะปัจจุบัน AI เริ่มเข้ามาบุกตลาดหุ้นและทำหน้าที่แทนนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แม้จะยังมีข้อจำกัดบ้างเป็นบางประการ แต่เชื่อว่าในอนาคตมนุษย์จะต้องพัฒนาฟังก์ชันของสมองกลให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ อย่าลืมฝึกทักษะของตัวเองให้ก้าวทันเทคโนโลยีเพื่อรองรับตลาดแรงงานโลกนั่นเอง