อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน

รักบ้านต้องรู้! อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่ควรเช็กก่อนใช้ | Advertorial

บ้านของเราปลอดภัยดีแล้วหรือยัง? แน่นอนว่าบ้านที่ปลอดภัยต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยมากเลยทีเดียว หนึ่งในนั้นก็คืออุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเก่า หรือบ้านใหม่ก็ควรหมั่นเช็กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ เพราะถ้าหากอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านไม่มีความปลอดภัยก็อาจก่ออุบัติเหตุต่อชีวิต และทรัพย์สินของเราได้เลยนะ

เพื่อให้เราใช้ไฟฟ้าในบ้านได้อย่างอุ่นใจล่ะก็ ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักวงจร หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านเสียก่อน วันนี้ Short Recap จะขอพาเพื่อน ๆ ไปสำรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่สำคัญว่ามีอะไรบ้าง พร้อมทั้งวิธีตรวจระบบไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ แบบไม่ต้องพึ่งช่าง เรามาดูกันเลยดีกว่า!

อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านมีอะไรบ้าง?

อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่ควรรู้จักนั้น หลัก ๆ แล้วมีอยู่ 5 อย่าง ซึ่งมีความสำคัญต่อการใช้ไฟในบ้านอย่างมาก ถ้าจะเรียกให้ดีก็บอกได้ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านทั้งหมดดังต่อไปนี้ รวมกันเป็นวงจรไฟฟ้าที่คอยให้บ้านมีกระแสไฟฟ้าใช้นั่นเอง เริ่มจาก…

สายไฟ
  1. สายไฟฟ้า

อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านจำเป็นต้องมีสายไฟในการนำส่งไฟฟ้า เพราะไม่อย่างนั้นทั่วทั้งบ้านจะไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้เลย ซึ่งสายไฟเองก็มีหลายรูปแบบ และขนาดที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกมาได้เป็น 2 แบบหลัก ๆ ก็คือ สายแข็ง และสายอ่อน

– สายแข็ง มักจะเป็นสายไฟที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อ เดินไฟตามตัวบ้าน หรืออาคารแบบตายตัว โดยจะมีส่วนประกอบเป็นลวดทองแดงเส้นเดียว

– สายอ่อน เป็นสายไฟที่มีลวดทองแดงเส้นเล็กมารวมกันหลาย ๆ เส้น และสายไฟชนิดนี้สามารถม้วนเก็บได้ จึงถูกนำมาใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปมากกว่าติดตั้งแบบตายตัวเหมือนสายแข็งนั่นเอง

สะพานไฟ
  1. สะพานไฟ

สะพานไฟใช้สำหรับเปิด-ปิดวงจรไฟฟ้าภายในบ้านโดยเชื่อมเข้ากับสายไฟที่ต่อมาอีกทอดจากมาตรไฟฟ้า หรือมิเตอร์ไฟฟ้าให้เข้ากับวงจรไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านตัวนี้หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันในอีกชื่อหนึ่งนั่นคือ ‘Cut out’ แต่ในปัจจุบันสะพานไฟไม่นิยมใช้แล้ว ส่วนใหญ่จะหันมาใช้ ‘Breaker’ แทน ซึ่งมีคุณภาพมากกว่า ปลอดภัยกว่า หาซื้อได้ง่าย และราคาไม่แพง ที่สำคัญ breaker ยังตัดไฟให้เราเองโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรอีกด้วย เวลาที่เราจะซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน อย่าลืมสับสะพานไฟ/เบรกเกอร์ลงด้วยนะเพื่อความปลอดภัย!

ฟิวส์
  1. ฟิวส์

นับเป็นส่วนประกอบสำคัญของบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าเลยก็ว่าได้ เพราะฟิวส์นั้นทำหน้าที่เป็นเหมือนอุปกรณ์นิรภัยที่จะคอยตัดกระแสไฟเหล่าอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน กรณีที่มีกระแสไฟเกิน หรือลัดวงจร เครื่องนี้จะหลอมละลาย และขาดออกจากกันทันทีเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น โดยฟิวส์นั้นก็มีหลายขนาด หลายรูปแบบ หลายประเภทแตกต่างกันไปตามการใช้งาน สำหรับตัวที่ใช้กับวงจรในบ้านควรเป็นฟิวส์ที่ทนกระแสไฟได้สูงกว่าปริมาณสูงสุดที่ไหลผ่านในบ้านเล็กน้อย เพื่อรองรับกระแสไฟฟ้าภายในบ้านได้ดี ไม่พังง่าย

สวิตช์
  1. สวิตช์

สวิตช์ถือเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่เราคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นตัวควบคุมที่ใช้ตัด หรือต่อวงจรไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เวลาที่เราจะเปิดไฟให้สว่างเราต้องกดสวิตช์เพื่อให้กระแสไฟไหลเข้าไปในวงจร เป็นต้น

เต้าเสียบและเต้ารับ
  1. เต้าเสียบและเต้ารับ

นี่คืออุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านอีกหนึ่งอย่างที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตของเราในปัจจุบันเลยทีเดียว ‘เต้าเสียบ-เต้ารับ’ หรือที่เราชอบเรียกรวมกันแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า ‘ปลั๊ก’ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่ใช้เชื่อมต่อกับวงจรไฟฟ้า และในยุคนี้เอง หลายคนก็นิยมซื้อ ‘ปลั๊กพ่วง’ มาใช้ เพราะสามารถเสียบปลั๊กได้หลายช่องมากขึ้น แต่ปลั๊กพ่วงนั้นก็ต้องดูให้ดีว่าได้มาตรฐานหรือเปล่า หากใครอยากรู้วิธีเลือกซื้อปลั๊กพ่วงให้ได้คุณภาพ สามารถเข้าไปอ่านบทความ จะซื้อปลั๊กพ่วงทั้งที ต้องรู้อะไรบ้างนะ ได้เลย ซึ่งเป็นบทความที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA เป็นผู้เขียนเอง เพราะฉะนั้นเชื่อถือได้แน่นอน!

และนี่ก็คือ 5 อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านหลัก ๆ ที่เราควรรู้จักไว้ เพื่อให้เข้าใจวงจรไฟฟ้าในบ้านคร่าว ๆ เพื่อน ๆ อาจจะลองไปหาดูก็ได้ว่าในบ้านของตัวเอง อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่กล่าวมานี้อยู่ตำแหน่งไหนในบ้านของเพื่อน ๆ บ้าง? และอีกหนึ่งเรื่องที่ควรรู้ไว้เบื้องต้นเช่นกันนั่นก็คือ วิธีตรวจเช็กระบบไฟฟ้าในบ้าน จะเป็นยังไงมาดูกัน!

ตรวจระบบไฟฟ้าในบ้านง่าย ๆ ด้วย 5 เช็ก

5 วิธีตรวจระบบไฟฟ้าในบ้านง่าย ๆ

หากเราสามารถเช็กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านเบื้องต้นได้เอง ก็คงประหยัดทั้งเงิน และเวลาได้ไม่น้อย Short Recap จึงจะมาบอกวิธีง่าย ๆ ในการเช็กไฟ ที่ถึงแม้ไม่ใช่ช่างก็ทำได้!

  1. เช็กมิเตอร์ไฟฟ้า

วิธีตรวจสอบไฟรั่วที่ดีที่สุดก็คือการปิดสวิตช์ทุกจุด และออกไปดูที่มิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่ายังหมุนอยู่หรือเปล่า เพราะถ้ามิเตอร์ยังหมุนอยู่แสดงว่าต้องมีไฟรั่วจากอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านจุดใดจุดหนึ่งแน่นอน หากเป็นแบบนั้นให้ลองเช็กเครื่องตัดไฟรั่วด้วยเช่นกัน โดยการกดปุ่ม Test ถ้าไฟตัดแสดงว่ายังทำงานได้ดีอยู่

Tip: ควรเช็กปุ่ม Test ของเครื่องตัดไฟรั่วทุก ๆ 1-3 เดือน

  1. เช็กเมนสวิตช์

ให้เราลองเช็กดูที่แผงวงจรว่ามีมด หรือแมลงอะไรเข้าไปทำรังหรือไม่ เพราะบางครั้งสัตว์เหล่านี้ก็มักจะมาทำรังบนอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านแบบไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว รู้อีกทีก็โผล่มาเป็นรังเบ้อเริ่มเห็นแล้วช็อกลมแทบจับกันไปเลย เพราะฉะนั้นต้องหมั่นเช็กเป็นประจำกันด้วยนะ และลองสับ cut out หรือ breaker ดูด้วยว่ายังใช้ตัดไฟได้ปกติอยู่มั้ย

  1. เช็กสายไฟฟ้า

แม้ไม่มีมดแมลงที่แผงวงจรแต่ก็อย่าเพิ่งรีบดีใจไป เพราะยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านอีกจุดหนึ่งที่สัตว์ประจำบ้านที่ไม่ได้รับเชิญมักจะสร้างปัญหาอยู่บ่อย ๆ นั่นคือ ‘สายไฟฟ้า’ นั่นเอง ต้องระวังพวกหนู/แมลงสาบไว้ให้ดีโดยเฉพาะสายไฟที่ซ่อนอยู่บนฝ้าเพดาน เจ้าสัตว์พวกนี้อาจจะแทะสายเล่นอย่างเอร็ดอร่อยจนอาจก่ออันตรายแก่วงจรไฟฟ้าบ้านเราได้ ควรหุ้มสายไว้ด้วยท่อร้อยสายไฟ แต่หุ้มแล้วก็ยังต้องหมั่นเช็กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำด้วยนะ เพราะสัตว์พวกนี้มันร้ายไม่เบา!

  1. เช็กเต้ารับ

มิเตอร์ไฟฟ้าเช็ก! เมนสวิตช์เช็ก! สายไฟฟ้าเช็ก! ต่อไปก็ต้องเช็กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านอย่างเต้ารับ ลองดูซิว่าเต้ารับมีรอยแตก หรือรอยไหม้มั้ย หากเจออย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เปลี่ยนใหม่เลยจะดีกว่า ส่วนถ้าเต้ารับหลวมแค่ขันสกรูให้แน่นก็เป็นอันจบ และอย่าลืมใช้ไขควงเช็กไฟดูด้วยนะว่าเต้ารับยังมีไฟอยู่หรือเปล่า

  1. เช็กเครื่องใช้ไฟฟ้า

ใช้ไขควงเช็กไฟเช็กเต้ารับแล้วอย่าเพิ่งเก็บ เอามาเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เรามีโอกาสจับขณะใช้งานต่อเลย อย่างเช่น เครื่องซักผ้า หรือตู้เย็น เป็นต้น วิธีเช็กไฟรั่วก็ทำได้ง่าย ๆ เลย เพียงเอาไขควงเช็กไฟจิ้มเข้าไปในตัวเครื่องบริเวณที่เป็นโลหะขณะที่เครื่องทำงานอยู่ ถ้าเกิดไขควงสว่างขึ้นมาก็ โป๊ะเชะ! เครื่องใช้ไฟฟ้าของคุณกำลังมีไฟรั่ว ต้องหยุดใช้งานทันที หลังจากนั้นให้ลองดูว่าสายดินมีการติดตั้งที่ถูกต้องมั้ย ถ้าไม่มี ควรติดตั้งทันที เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านพวกนี้อาจทำให้เราโดนไฟดูดได้เลย

แค่นี้ทุกคนก็สามารถเช็กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านได้ด้วยตัวเองแล้ว ง่ายสุด ๆ ไปเลยใช่มั้ยล่ะ ถึงจะเป็นการตรวจสอบเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ทำให้เราสามารถแก้ไขความผิดปกติได้ทันท่วงทีก่อนเกิดเหตุไม่คาดคิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านและบ้านอันเป็นที่รักของเราได้ นอกเหนือไปจากนั้นก็ยังมีวิธีใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านให้ปลอดภัยแบบหายห่วงอยู่ด้วยนะ ถ้าอยากรู้รายละเอียดก็สามารถกดดูได้ที่นี่เลย! 10 วิธีใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย ห่างไกลภัยน่ากังวล

SHARE

RELATED POSTS