ดูแลต้นไม้ขาดธาตุอาหาร

12 อาการต้นไม้ขาดธาตุอาหาร
พร้อม
วิธีดูแลต้นไม้ให้ฟื้นคืนชีพ

  • เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราดูแลต้นไม้ รดน้ำเอาใจใส่ทุกวัน แต่พืชยังใบเหลือง ใบไหม้ ม้วนงอ หรือมีจุดสีน้ำตาลขึ้นตามใบ นั่นก็เพราะว่าต้นไม้ของเราขาดแร่ธาตุยังไงล่ะ
  • ในทีนี้เราได้กล่าวถึงอาการของต้นไม้ขาดธาตุอาหารไว้ 12 แร่ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โพแทสเซียม (K), แมกนีเซียม (Mg), โมลิบดินัม (Mo), สังกะสี (Zn), ทองแดง (Cu), แมงกานีส (Mn), เหล็ก (Fe), กำมะถัน (S), แคลเซียม (Ca) และโบรอน (B) พร้อมทั้งวิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดแร่ธาตุนั้น ๆ
  • อย่างไรก็ตาม การขาดแร่ธาตุของต้นไม้อาจมีอาการที่คล้ายคลึงกันอยู่บ้าง เพราะมันอาจจะไม่ได้ขาดแค่แร่ธาตุใดแร่ธาตุหนึ่ง ซึ่งต้นไม้ก็เหมือนกับคน ที่ต้องการแร่ธาตุทุกชนิด แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ดูแลต้นไม้เป็นประจำแต่ต้นไม้โตช้า หรือจู่ ๆ ก็ใบเหลือง มีจุดสีน้ำตาลขึ้นตามไป นั่นแปลว่าต้นไม้ของคุณอาจขาดแร่ธาตุบางอย่างแน่นอน ไปดูกันว่าขาดแร่ธาตุอะไร และทำอย่างไรให้ต้นไม้ของเราฟื้นคืนชีพกลับมา

ดูแลต้นไม้ขาดไนโตรเจน

1. ต้นไม้ขาดไนโตรเจน (N)

วิธีสังเกตอาการต้นไม้ขาดไนโตรเจน คือใบจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยเริ่มจากปลายใบ ถ้าขาดไนโตรเจนรุนแรงใบแก่จะตาย เหลือเพียงใบอ่อน และยังโตช้าลง ออกดอกออกผลน้อยลง หากเป็นพืชที่สะสมอาหารไว้ในรากอย่างมันเทศ เผือก หัวจะมีขนาดเล็ก   

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดไนโตรเจน (N)

การดูแลต้นไม้ไม่ให้ขาดธาตุไนโตรเจนทำได้โดยการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงไป เช่น ปุ๋ยคอก หรืออาจเติมดินที่มีแร่ธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบก็ได้ แต่ควรเติมให้พอดี ไม่อย่างนั้นพืชจะอวบน้ำ ต้นอ่อน และล้มง่าย ที่สำคัญพยายามอย่าให้ดินขาดน้ำเด็ดขาด หากเป็นต้นไม้ปลูกในบ้านควรให้โดนแดดและอากาศภายนอกบ้าง

ดูแลต้นไม้ขาดฟอสฟอรัส

2. ต้นไม้ขาดฟอสฟอรัส (P)

อาการของต้นไม้ที่ขาดฟอสฟอรัส คือ ใบแก่จะมีสีม่วงแดงที่ใบ ลำต้นแคระแกร็น รากจะหยุดเจริญเติบโต และไม่ออกดอกออกผล

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดฟอสฟอรัส (P)

การดูแลต้นไม้เมื่อขาดฟอสฟอรัสสามารถใช้ปุ๋ยคอกได้ เพราะมีฟอสฟอรัสอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นปุ๋ยฟอสเฟตโดยเฉพาะที่ละลายน้ำได้ควรโรยเป็นจุดหรือโรยเป็นแถบให้ลึกลงไปในดินบริเวณราก ไม่ควรคลุกเคล้าให้เข้ากับดินเพราะจะยิ่งทำให้ปุ๋ยทำปฏิกิริยากับธาตุต่าง ๆ ในดินเร็วเกินไป

ดูแลต้นไม้ขาดโพแทสเซียม

3. ต้นไม้ขาดโพแทสเซียม (K)

อาการของต้นไม้ที่ขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม คือ ใบแก่จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีด ขอบใบม้วนงอ และมีจุดสีน้ำตาลไหม้ขึ้นตามขอบใบ หากเป็นต้นปาล์มจะเป็นจุดสีส้มอมเหลือง นอกจากนี้ต้นพืชยังโตช้า หักเปราะและล้มง่ายอีกด้วย

หากเป็นพืชกินผล ผลจะเล็กและสุกไม่สม่ำเสมอ เมล็ดบิดเบี้ยวไม่สมประกอบ ถ้าเป็นมะเขือเทศเนื้อจะเละ ถ้าเป็นพืชหัวแป้งจะน้อย และถ้าเป็นใบยาสูบก็จะติดไฟยากและกลิ่นไม่ดี  

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดโพแทสเซียม (K)

การดูแลต้นไม้เมื่อขาดโพแทสเซียม สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ที่มีโพแทสเซียม การให้น้ำ หรือการสร้างสมดุลของ NPK (ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม)

ดูแลต้นไม้ขาดแมกนีเซียม

4. ต้นไม้ขาดแมกนีเซียม (Mg)

อาการต้นไม้ขาดแมกนีเซียม คือ ใบแก่จะมีจุดประสีเหลืองอยู่ทั่วทั้งใบ ขอบใบจะมีจุดสีน้ำตาล ปลายใบจะแห้ง ใบเริ่มมีสีซีดลง แต่เส้นใบยังคงเขียวอยู่ ต้นพืชจะมีขนาดเล็กลงมาก ต้นเปราะหักง่าย และผลจะแก่ช้ากว่าปกติ

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดแมกนีเซียม (Mg)

การที่ต้นไม้ขาดแมกนีเซียมส่วนใหญ่มักพบในดินที่เป็นกรด เพราะฉะนั้นให้ตรวจสอบและแก้ไขที่ปัญหาดินก่อน จากนั้นจึงใช้ปุ๋ยคอกหรืออินทรียวัตถุอื่น ๆ ใส่ในดิน

ดูแลต้นไม้ขาดโมลิบดินัม

5. ต้นไม้ขาดโมลิบดินัม (Mo)

อาการต้นไม้ขาดโมลิบดินัม คือ ใบจะผิดรูป ม้วนงอเข้าหากัน มีขนาดเล็กกว่าปกติ ขอบใบจะเหลืองซีด มีจุดด่างกระจายอยู่ทั่วใบ ถ้าในใบอ่อนจะมีลักษณะเรียวยาว ต้นจะแคระแกร็น ติดดอกเล็ก ถ้าติดผล ผลก็จะร่วงอย่างรวดเร็ว

หากเป็นกะหล่ำดอก ดอกจะหลวม ไม่แน่น ถ้าเป็นผลไม้รสหวานจะไม่ค่อยหวาน และยังสุกช้ากว่าปกติ (ขาดโมลิบดินัมพืชจะไม่กินปุ๋ยไนโตรเจน แม้ใส่ปุ๋ยก็จะแสดงอาการขาดปุ๋ยเช่นเดิม)

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดโมลิบดินัม (Mo)

การดูแลต้นไม้เมื่อขาดโมลิบดินัมแก้ไขโดยการพ่นซิลิโคเทรซ หรือใช้ซิลิโคเทรซผสมปุ๋ยละลายช้าก็ได้

ดูแลต้นไม้ขาดสังกะสี

6. ต้นไม้ขาดสังกะสี (Zn)

อาการต้นไม้ขาดสังกะสีใบจะมีจุดสีเหลือง ๆ ล้อมรอบจุดสีน้ำตาลคล้ายราสนิม หากมีอาการแบบนี้พืชจะดูดซับออกซิเจนน้อยลง ทำให้เติบโตช้า ลำต้นป้อม ไม่ค่อยออกดอก ถ้ามีผลจะสีซีด เปลือกหนา และมีน้ำน้อย

อาการพืชขาดสังกะสี หากเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอย่างข้าวโพด ใบจะมีสีเหลืองเป็นทางตามเส้นกลางใบ แต่บริเวณรอบนอกจะยังคงเขียวอยู่ ส่วนใบที่อ่อนสุดจะเหลืองและขาว หรือเรียกกันว่า “ตาขาว” นั่นเอง

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดสังกะสี (Zn)

อาการต้นไม้ขาดธาตุสังกะสี มักเกิดขึ้นในสภาพอากาศที่ชื้นและเย็น หากเป็นต้นไม้ปลูกในบ้านให้เลี่ยงการโดนแอร์ และบำรุงด้วยปุ๋ยที่มีแร่ธาตุ Zn เป็นส่วนประกอบ

ดูแลต้นไม้ขาดทองแดง

7. ต้นไม้ขาดทองแดง (Cu)

อาการต้นไม้ขาดทองแดงมักพบในสภาพปัญหาดินเปรี้ยว ใบพืชจะมีสีเขียวจัด แต่ต่อมาจะกลายเป็นสีเหลือง ในพืชผักบางชนิดแผ่นใบจะยาวผิดปกติ (หากพืชขาดทองแดงจะทำให้ขาดธาตุอาหารอื่น ๆ ด้วย)

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดทองแดง (Cu)

ทองแดงเป็นธาตุที่พืชต้องการน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้ การดูแลต้นไม้ที่ขาดทองแดงจึงสามารถแก้ได้ด้วยการใช้ธาตุอาหารเสริมที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ อาจจะใช้วิธีฉีดพ่นทางใบ เพื่อให้ทองแดงไปกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ

*ทองแดงเป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนย้ายจากใบแก่ไปสู่ใบอ่อนที่แตกออกมาใหม่ ดังนั้นต้องฉีดพ่นให้อยู่เสมอเมื่อมีใบอ่อนออกมา

*ดินที่มีอินทรียวัตถุสูงและดินทรายจะไม่ยึดเกาะทองแดงไว้

8. ต้นไม้ขาดแมงกานีส (Mn)

อาการพืชขาดแมงกานีส ลักษณะของใบจะดูไม่สมบูรณ์และบางกว่าปกติ สีของใบจะออกเหลืองตามบริเวณสองข้างของเส้นใบ ถ้าเป็นใบอ่อนอาจมีจุดสีขาวหรือจุดสีเหลือง ส่วนลำต้นจะเล็กและผอม พุ่มต้นโปร่ง โตช้า ไม่ค่อยมีผล หากขาดแมงกานีสในหัวหอมจะทำให้หัวหอมอ่อนนุ่ม เปลือกบาง สีขาวซีด ถ้าเป็นมะนาวจะมีรสจืด

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดแมงกานีส (Mn)

การดูแลต้นไม้เมื่อขาดแมงกานีสทำได้โดยแก้ไขได้โดยการให้ปุ๋ยทางใบ ที่มีองค์ประกอบของแร่ธาตุแมงกานีส หรือให้แมงกานีสในรูปของเกลืออนินทรีย์ ได้แก่ แมงกานีสซัลเฟต (MnSO4)  หรือแมงกานีสออกไซด์ (MnO)

ดูแลต้นไม้ขาดธาตุเหล็ก

9. ต้นไม้ขาดธาตุเหล็ก (Fe)

หากต้นไม้ขาดธาตุเหล็ก ยอดอ่อนจะเติบโตช้ากว่าปกติ ใบมีขนาดเล็กมาก และมีสีเหลือง ยกเว้นเส้นใบยังคงเขียวอยู่ ถ้าขาดมากเส้นใบจะเหลืองตาม แล้วใบจะเปลี่ยนเป็นสีซีด ปลายกิ่งเริ่มแห้งตาย ให้ผลลดลง และผลมีขนาดเล็ก เนื้อไม่ฟูแน่น ผิวสากไม่สวย

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดธาตุเหล็ก (Fe)

การดูแลต้นไม้เมื่อขาดธาตุเหล็ก สามารถใช้ปุ๋ยหรือธาตุอาหารเสริมทางใบที่มีส่วนประกอบเกลืออนินทรีย์ของเหล็กหรือเหล็กซัลเฟต (FeSO4) และอย่าลืมปรับความเป็นกรด-ด่างของดินให้เหมาะสม

ดูแลต้นไม้ขาดกำมะถัน (ซัลเฟอร์)

10. ต้นไม้ขาดกำมะถัน (S)

หากต้นไม้ขาดกำมะถัน จะมีอาการคล้ายกับขาดไนโตรเจน คือ ใบจะมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน และมีขนาดเล็กลง ส่วนใบล่างยังปกติดี แต่จะต่างกันตรงที่ต้นไม้จะหยุดการเติบโต หากขาดกำมะถันมาก ๆ ใบล่างก็จะเหลืองด้วยเช่นกัน ส่วนลำต้นและกิ่งก้านจะเล็ก  

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดกำมะถัน (S)

อาการต้นไม้ขาดกำมะถันมักพบในดินทราย เนื่องจากอินทรียวัตถุน้อย หากต้นไม้ไม่ได้เหมาะกับดินทรายควรเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยที่มีอินทรียวัตถุมากขึ้น

ดูแลต้นไม้ขาดแคลเซียม

11. ต้นไม้ขาดแคลเซียม (Ca)

อาการต้นไม้ขาดแคลเซียม คือ ใบอ่อนจะม้วนงอไปข้างหน้า ไม่คลี่ออกจากกัน และยังมีลักษณะบิดเบี้ยว ขาดเป็นริ้ว ๆ บางครั้งใบเหลืองและขอบใบหยักเป็นคลื่น อาจมีจุดประขาวตามยอดใบทำให้ดูเหมือนใบด่าง นอกจากนี้ ดอกยังร่วงเร็ว รากไม่สมบูรณ์อีกด้วย ถ้าเป็นมะเขือเทศจะมีจุดสีดำที่ก้นผล เรียกว่า “โรคไส้ดำ”

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดแคลเซียม (Ca)

อาการขาดแคลเซียมมักพบในดินที่เป็นกรด การดูแลจึงควรปรับสภาพดินให้ค่า pH เหมาะสม ให้อยู่ที่ประมาณ 5.5-7 โดยใช้ปูนขาว ซึ่งจะมีส่วนผสมของแคลเซียม ทั้งนี้อาจใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้ได้รับสารอาหารอื่น ๆ เท่าเทียมกัน

ดูแลต้นไม้ขาดโบรอน

12. ต้นไม้ขาดโบรอน (B)

อาการต้นไม้ขาดโบรอนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อดินแล้งหรือขาดน้ำมาก ๆ จนทำให้ใบอ่อนไหม้ บิดงอ โตช้า และหลุดร่วงง่าย เส้นกลางใบจะหนา ขอบใบเหลืองปนน้ำตาล หรืออีกอาการหนึ่งคือใบช้ำ ลำต้นแตกเปราะ มีสารเหนียว ๆ ออกมาตามเปลือกของลำต้น ผลมีขนาดเล็ก บิดเบี้ยว ผิวขรุขระ และแข็งผิดปกติ บางครั้งผลแตกหรือไส้กลวงได้

ส่วนใหญ่ผักที่มักขาดโบรอนจะเป็นกลุ่มผักสลัดและกลุ่มพืชหัว เช่น ผักกาดหัวใบจะเป็นจุด ๆ ในกะหล่ำดอกและบรอกโคลีดอกจะมีสีน้ำตาล ลำต้นหรือไส้จะกลวงดำ ถ้าเป็นต้นปาล์มใบจะขดเป็นคลื่น

วิธีดูแลต้นไม้เมื่อขาดโบรอน (B)

การดูแลต้นไม้เมื่อขาดโบรอนมีวิธีและข้อจำกัดอยู่มาก ได้แก่

– การใส่ปุ๋ยอินทรีย์

– การใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุโบรอน มีทั้งให้ทางดินและพ่นทางใบ

– ไม่ควรใส่โบรอนช่วงหน้าฝน ถ้าฝนตกลงมาจะชะล้างแร่ธาตุโดยที่ยังไม่ได้ดูดซึม ควรใส่หลังฝนตกเมื่อดินมีความชื้นพอสมควร

– หากสภาพแห้งแล้งเกินไปก็ไม่ควรใส่โบรอนเช่นกัน เพราะพืชจะไม่ดูดกิน เนื่องจากพืชดูดโบรอนผ่านการคายน้ำ หากแล้งมาก ๆ พืชจะก็จะหยุดคายน้ำออกมา

– ไม่ใส่โบรอนหลังใส่ปูนในดิน เพราะความเป็นด่างจะทำให้โบรอนไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช ควรทิ้งช่วง 30 วันขึ้นไป

จะเห็นว่าอาการต้นไม้ขาดธาตุอาหารจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้ขาดแค่แร่ธาตุใดแร่ธาตุหนึ่ง เพราะต้นไม้ก็เหมือนกับคน ที่ต้องการแร่ธาตุทุกชนิด แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ดังนั้น การดูแลต้นไม้เราจึงสามารถใช้ปุ๋ยที่มีแร่ธาตุหลาย ๆ ชนิดรวมกัน ไม่จำเป็นต้องเจาะจงแค่แร่ธาตุเดียว  

SHARE

RELATED POSTS

รวมทุนเรียนต่อต่างประเทศเต็มจำนวน โอกาสทองแบบไม่มีข้อผูกมัด หลายคนอาจมีความใฝ่ฝันที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ติดปัญหาที่การเงินไม่อำนวย…