Shellworks จากเปลือกกุ้งสู่พลาสติกชีวภาพ
นวัตกรรมแห่งยุครักษ์โลก
- 4 ดีไซเนอร์จากอังกฤษนำความรู้ด้านวิศวกรรมมาสร้าง ‘Shellworks’
- ‘Shellworks’ มี 5 เครื่องจักรที่จะเปลี่ยนเปลือกกุ้งเป็นพลาสติกชีวภาพ
- ทำให้ได้วัตถุที่ปลอดเชื้อรา สามารถผลิตถุงใส่อาหาร กระถางต้นไม้
- ทั้งยังย่อยสลายพลาสติกชีวภาพเป็นของเหลว เพื่อเป็นปุ๋ยธรรมชาติต่อไป
ข้าวของเครื่องใช้ที่ผลิตจาก ‘พลาสติก’ เปรียบเสมือนรสชาติหวานอมขมที่เคียงคู่กับมนุษย์มาช้านาน ด้วยประโยชน์ใช้สอยที่ทนทาน ราคาไม่แพง สามารถเปลี่ยนเป็นรูปทรงได้หลากหลายตามการใช้งาน ทำให้ครั้งหนึ่งพลาสติกเคยเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมและถูกใจมนุษย์ไม่น้อยเลยทีเดียว ทว่าเมื่อโลกต้องสะสมขยะเพื่อรอวันย่อยสลายเรื่อยๆ ทำให้ขณะนี้เราทุกคนต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติขยะพลาสติกล้นโลกอันนำมาสู่การหาทางออกอย่างจริงจัง เพื่อให้มนุษย์หันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติทดแทนและลดการสร้างขยะเพิ่มขึ้น
ส่องไอเดีย Shellworks เครื่องจักรกลแห่งยุคอนุรักษ์
4 ดีไซเนอร์ ‘นักคิด’ จาก The Shellworks บริษัทสตาร์ทอัพ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผุดไอเดียอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการนำเศษอาหารจาก ‘เปลือกกุ้ง’ มารีไซเคิลเป็น ‘พลาสติกชีวภาพ’ (Bioplastic) ด้วยการผสมผสานกับแนวคิดทางวิศวกรรมศาสตร์จนได้นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อว่า ‘Shellworks’ เครื่องจักรกลแห่งยุคอนุรักษ์จำนวน 5 เครื่องกับการเปลี่ยนสภาพเปลือกกุ้งที่เป็นขยะให้กลายเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้
ตามมาดูการทำงานของเครื่องจักรทั้งห้าจาก Shellworks พร้อมด้วยผลงานเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ทำจากพลาสติกชีวภาพ แน่นอนว่าสามารถใช้งานได้จริงเทียบเท่ากับพลาสติกทั่วๆ ไปเลยทีเดียว
Step1 : Shelly
เครื่องจักรขนาดเล็ก มีหน้าที่แปรสภาพเปลือกกุ้งให้เป็นพลาสติกชีวภาพด้วยการสกัดไคโตซานให้เป็นผงแป้ง จากนั้นนำมาผสมกับเปลือกกุ้งอีกครั้ง พร้อมใส่น้ำส้มสายชูเพื่อเตรียมเปลี่ยนสภาพเป็นพลาสติก ซึ่งขั้นตอนนี้เราจะได้ของเหลวเหนียว สีส้มขุ่น
Step2 : Sheety
ถัดมาเป็นเครื่องจักรที่คอยนำของเหลวจากขั้นตอนแรกมารีดจนได้พลาสติกชีวภาพที่มีลักษณะเป็นแผ่นขนาดเล็กและบาง ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตกระเป๋าหรือถุงพลาสติกได้
Step3 : Vaccy
เครื่องจักรชนิดนี้จะทำหน้าที่เคลือบแผ่นพลาสติกชีวภาพและขึ้นรูปไอน้ำสุญญากาศ ทำให้แผ่นพลาสติกสามารถเปลี่ยนลักษณะได้ตามวัสดุที่วางไว้ ซึ่งเราสามารถนำพลาสติกชีวภาพแผ่นบางนี้ไปเคลือบคลุมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเป็นการดูแลรักษา คล้ายกับการใช้ฟิล์มถนอมอาหารนั่นเอง
Step4 : Dippy
เครื่องหล่อที่นำโลหะอุณหภูมิสูงมาชุบกับพลาสติกชีวภาพทำให้เกิดวัสดุขึ้นเป็นรูปทรงสามมิติ เมื่อปล่อยให้แห้งจะได้วัตถุคล้ายกับกระถางต้นไม้หรือแก้วซึ่งสามารถนำมาใช้งานได้ทันที
Step5 : Drippy
เครื่องจักรที่จะเปลี่ยนพลาสติกชีวภาพซึ่งผ่านการแปรรูปมาแล้วให้เป็นของเหลวดังเดิม ด้วยการหยดสารละลายของเหลวและน้ำส้มสายชูลงในถ้วยที่ทำจากเศษพลาสติกชีวภาพแห้ง จากนั้นจึงนำไปเข้ากระบวนการของเครื่องจักร วัตถุนั้นจึงจะค่อยๆ เปลี่ยนกลับเป็นของเหลวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
วิธีคิดอย่างเชื่อมโยงเพื่อสิ่งแวดล้อม
โดยพลาสติกชีวภาพจากเปลือกกุ้งยังมีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถต้านเชื้อราและแบคทีเรียได้ ดังนั้นจึงนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ชนิดต่างๆ อย่างเช่น ถุงใส่อาหาร ซองบรรจุยา และกระถางต้นไม้ได้อย่างปลอดภัย
จะเห็นได้ว่ากลไกการทำงานของ Shellworks นอกจากจะเปลี่ยนสภาพเปลือกกุ้งให้เป็นสิ่งของรีไซเคิลแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการเปลี่ยนสภาพพลาสติกชีวิภาพให้เป็นของเหลวที่สามารถเทสู่พื้นดินได้เหมือนกับปุ๋ยธรรมชาติ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมบนแน่นอน
นับว่าไอเดียลดขยะจาก The Shellworks เป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจและสามารถนำไปพัฒนาเพื่อใช้งานได้อย่างยั่งยืนในอนาคต แต่หากขณะนี้คุณยังไม่มีเครื่องใช้ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพเหมือนกับชาวลอนดอน วิธีการแปรสภาพพลาสติกธรรมดาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดขยะได้เช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น ทำยางมะตอยลาดถนน ทำอิฐบล็อกเป็นตัวหนอน นำเศษพลาสติกผสมกับขี้เลื่อยผลิตไม้เทียม หรือสามารถนำมาทำเป็นแท่งพลังงาน