‘พลาสติกชีวภาพ’ นวัตกรรมสาย Eco-Friendly
ดีจริง! จนต้องรีบบอกต่อ
- พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) คือพลาสติกที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ภายใน 6 เดือน และใช้ทดแทนพลาสติกแบบดั้งเดิมได้
- World Economic Forum เลือกพลาสติกชีวภาพเป็นนวัตกรรมมาแรงในปี 2019 และจะส่งผลชัดเจนต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกในอนาคต
- ปัจจุบันมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น แต่ยังพบจุดอ่อนตรงวิธีจัดการขยะจากพลาสติกชีวภาพ ที่ต้องมีระบบชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะล้นโลกในภายหลัง
โลกใบกลมๆ นี้เคยขับเคลื่อนด้วย ‘พลาสติก’
ราว 150 ปีก่อน มนุษย์คิดค้นพลาสติกเซลลูลอยด์’ (Celluliod) ซึ่งถือว่าเป็นพลาสติกรุ่นบุกเบิกที่ใช้ผลิตลูบิลเลียดและคีย์เปียโนแทนการใช้งาช้างแอฟริกา ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 20 เริ่มพัฒนาสู่พลาสติกสังเคราะห์เบเคอไลด์ (Bakelite) ที่มีองค์ประกอบหลักคือ ‘ปิโตเลียม’ ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่สามารถผลิตทดแทนได้ และนี่แหละคือจุดเริ่มต้นขอผลิตภัณฑ์พลาสติกหลากหลายชนิดที่เราใช้งานจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากคุณสมบัติที่แข็งแรง ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา กันน้ำ และทนต่อสารเคมีหลายชนิด ทั้งยังใช้ระยะเวลาการผลิตไม่นานและมีต้นทุนไม่สูง เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมแห่งโลกที่อำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์อย่างแท้จริง
แม้ว่าจะจัดเต็มทั้งประโยชน์ใช้สอยและประโยชน์ใช้สวยสักเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการผลิตพลาสติกเท่ากับเป็นการสร้างขยะบนโลกนั่นเอง จากผลสำรวจพบว่าอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลกมีกำลังผลิตจำนวนหลายล้านเมตริกต่อปี แต่กลับนำมารีไซเคิลเพียงแค่ 15% จากจำนวนทั้งหมดเท่านั้น ส่วนพลาสติกที่เหลือก็ถูกกำจัดด้วยวิธีเผาขยะ ฝังกลบ และรอย่อยสลายอีกหลายร้อยปี ซึ่งนี่แหละ! ที่กลายเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมโลก จึงนำมาสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เรียกว่า ‘พลาสติกชีวภาพ’ (Bioplastics) ในที่สุด
‘พลาสติกชีวภาพ’ ทางเลือกใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) คือ พลาสติกที่ผลิตจากการนำวัสดุธรรมชาติ อย่างเช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย มาสังเคราะห์ร่วมด้วย ทำให้ได้พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพภายใน 6 เดือน และมีประสิทธิภาพใช้งานเทียบเท่ากับพลาสติกทั่วไป
‘พลาสติกชีวภาพ’ บนเวทีเศรษฐกิจโลก
ปัจจุบันตลาดธุรกิจพลาสติกชีวภาพทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า 600% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2030 ตลาดพลาสติกทั่วโลกจะมีผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้น 60% เพื่อกระตุ้นให้ประชากรโลกหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด World Economic Forum ยังเลือกพลาสติกชีวภาพให้เป็น 1 ใน 10 นวัตกรรมที่กำลังมาแรงในปี 2019 และจะส่งผลชัดเจนต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกในอนาคตอีกด้วย
ก้าวต่อไปของ ‘พลาสติกชีวภาพ’ บนโลกกลมๆ ใบนี้
แม้ว่าพลาสติกชีวภาพจะเป็นทางออกใหม่แห่งอนาคตแล้ว แต่ยังมีบางกระแสให้ข้อคิดเห็นว่านวัตกรรมช่วยโลกนี้ยังมีจุดอ่อนที่รอการพัฒนาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งระบบย่อยสลายขยะที่เกิดจากพลาสติกชีวภาพโดยเฉพาะ ไม่ควรทิ้งพลาสติกชีวภาพรวมกับพลาสติกแบบดั้งเดิม รวมทั้งประชาชนจะต้องมีความรู้เรื่องวัสดุทดแทนพร้อมทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า พลาสติกชีวภาพแต่ละชนิดใช้เวลาในการย่อยสลายไม่เท่ากันโดยมีสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ
นับว่าเป็นโชคดีที่เราได้มองเห็นจุดอ่อน-จุดแข็ง ของนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ เพราะจะได้มีเวลาสำหรับพัฒนาและปรับปรุงพลาสติกชีวภาพให้ตอบโจทย์การใช้งานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่าง 100% ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสการใช้งานวัสดุประเภท Eco-Friendly มากขึ้นในอนาคตอีกด้วย