‘การล่าวาฬ’
วัฒนธรรม การค้า และการต่อสู้เชิงอนุรักษ์
การล่าวาฬ (แบบดั้งเดิม) เป็นมากกว่าการล่าเพื่อเลี้ยงชีพแต่ยังเป็นรากวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีพิธีกรรมที่น่าสนใจ
องค์กร International Whaling Commission (IWC) เกิดขึ้นมาเพื่อควบคุมปริมาณการล่าวาฬ
เพราะเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้ International Whaling Commission (IWC) ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด
การล่าสัตว์ทะเลหรือสัตว์ประเภทอื่นๆ เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ การล่าวาฬก็เช่นกัน โดยคาดว่าเป็นรูปแบบการดำรงชีวิตที่มีมาตั้งแต่ 3000 ปีก่อนคริสตกาล บริเวณแอตแลนติสเหนือและแปซิฟิกเหนือ ซึ่งผู้ล่ายุคแรกๆ คือชาวเอสกิโม แต่เดิมเป็นการล่าเพื่อหล่อเลี้ยงปากท้องของคนในชุมชน เนื่องจากวาฬเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ทำให้กินกันได้หลายมื้อและหลายคน อีกนัยหนึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมเพื่อเปลี่ยนผ่านช่วงวัย โดยใช้การล่าเพื่อส่งเสริมให้คนที่มีกำลังและอายุที่เหมาะสมแล้วหาเลี้ยงชีพต่อไป หรืออาจมีพิธีกรรมบางเพื่อแสดงอัตลักษณ์ในกลุ่มของตนเอง ซึ่งมีอยู่หลากหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งวาฬ ทำให้ปัจจุบันยังคงมีการล่าลักษณะนี้หลงเหลืออยู่บ้างในบางสังคม เช่น ชาวอินูเปียต (Inupiat) ในรัฐอลาสก้า เป็นต้น
แหล่งที่มา : http://www.rcinet.ca
‘การล่าวาฬของชาวอินูเปียต’ มากกว่าการเลี้ยงชีพแต่คือการสร้างวัฒนธรรม
ชาวอินูเปียตเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในรัฐอลาสก้า พวกเขาล่าวาฬหัวคันศรในบริเวณทะเลขั้วโลกเหนือ ปัจจุบันวาฬยังคงเป็นหัวใจสำคัญของวิถีชีวิตเเละวัฒนธรรมของคนที่นี่อยู่ แม้แต่ในเมืองที่อาศัยอยู่อย่างเมืองแบร์โรว์ (Barrow) ตราประจำเมือง ที่เรียกกันว่า อุทคีอาวิค (Utqiagvik ) ยังมีรูปปลาวาฬประกอบ
แหล่งที่มา : https://media.wired.com
ชาวอินูเปียตสอนการล่าวาฬกันตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ทุกคนมีพื้นฐานการล่าวาฬและสามารถทำกันต่อมาเรื่อยๆ จวบจนปัจจุบัน ซึ่งการล่าวาฬของพวกเขาเป็นสิ่งที่มากกว่าการหาเลี้ยงชีพ เพราะสามารถสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นมา เช่น งานเทศกาลนาลุคกาทัค (Nalukataq) เป็นงานที่ฉลองความสำเร็จของฤดูการล่าวาฬ งานนี้เริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ จากนั้นก็เริ่มรับประทานวาฬทั้งในส่วนเนื้อและไขมัน หลังจากที่รับประทานเสร็จก็จะมีการเฉลิมฉลองด้วยการร้องรำทำเพลงและกระโดดโลดเต้นบนแผ่นหนังแมวน้ำที่ขึงจนตึง และโยนขนมลูกอมให้กับเด็กไปพร้อมๆ กัน เรียกได้ว่าเป็นงานที่สำคัญมากสำหรับชาวอินูเปียต จนกระทั่งมาในยุคอุตสาหกรรม การล่าวาฬเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนนิยมกันทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา รวมไปถึงญี่ปุ่น ทำให้ประเพณีของชาวอินูเปียตได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากกลุ่มนักอนุรักษ์เข้ามาร้องขอให้หยุดการล่าวาฬไว้ ประเพณีนี้จึงเคยต้องหยุดไปช่วงหนึ่ง แต่ในปัจจุบันประเพณีของชาวอินูเปียตถูกอนุญาตให้ทำต่อแล้ว เนื่องจากไม่ได้ส่งผลกับธรรมชาติมากนัก
แหล่งที่มา : https://www.neweurope.eu
การล่าวาฬเชิงพาณิชย์และการเกิดขึ้นขององค์กร
International Whaling Commission (IWC)
เมื่อประชากรของโลกมีมากขึ้นรวมไปถึงการล่าวาฬได้รับความนิยมในหลายประเทศ การล่าวาฬจึงไม่จบแค่การล่าไม่กี่ตัวเพื่อเลี้ยงชุมชน แต่มันกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่วาฬนับพันนับหมื่นตัวต้องสังเวยชีวิตให้แก่มนุษย์ การล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นต้องออกล่าวาฬเพื่อเป็นอาหารหลัก ถึงขนาดช่วยดัดแปลงเรือเพื่อให้สามารถไปหาอาหารได้ไกลขึ้นกว่าเดิม วาฬจึงกลายมาเป็นอาหารที่ถูกรับประทานในวงกว้างในสังคมญี่ปุ่นช่วงฟื้นฟูประเทศ จึงทำให้คนญี่ปุ่นผูกพันกับการกินเนื้อวาฬ ทำให้จำนวนของวาฬลดน้อยลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ
ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดตั้งองค์กร International Whaling Commission (IWC) ขึ้น เพื่อออกกฎหมายและควบคุมการล่าวาฬ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการล่าวาฬ (International Convention for the Regulation of Whaling) โดยจะจำกัดจำนวนการล่าวาฬ ซึ่งเน้นการล่าเพื่อไว้ใช้ในวิจัยและทางวิทยาศาสตร์ มากกว่าการบริโภคหรือใช้ในการพาณิชย์ทั่วๆ ไป ปัจจุบันมีหลากหลายประเทศที่เข้าร่วมและยอมรับหน่วยงานนี้ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้หลายประเทศมีข้อพิพาทกับ IWC อยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งเม็ดเงินที่ได้จากอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ามหาศาล จึงไม่สามารถควบคุมการล่าวาฬได้อย่างเต็มที่
การล่าวาฬ : ควรหยุดไว้เท่านี้หรือเดินหน้าต่อไป
ปัจจุบันการล่าวาฬยังคงเป็นข้อถกเถียงต่อไปแม้จะมีองค์กรที่ดูแลในจุดนี้แล้ว แต่ทว่ายังไม่สามารถควบคุมและลดอัตราวัฒนธรรมนี้ได้เท่าที่ควร หากมองในเชิงอนุรักษ์ การล่าวาฬก็เป็นสิ่งที่กำลังทำลายธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นรากวัฒนธรรมของสังคม ตลอดจนช่วยพัฒนาและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในหลายประเทศ
ชวนให้ฉุกคิดตามเหลือเกินว่า วัฒนธรรมที่ถือกำเนิดมากว่า 3000 ปีนี้ ‘เหมาะสม’ หรือไม่ ?
แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยเหลือชะตากรรมของท้องทะเลได้ ด้วยการตระหนักถึง ‘การบริโภค’ และการเลือกสนับสนุนองค์กรที่อนุรักษ์หรือกำลังทำลายท้องทะเลนั่เอง