LGBT x ภาพยนตร์ไทย
เปลี่ยนแปลงหรือสะท้อนภาพลักษณ์เดิมที่อยู่สังคม
- ‘เพลงสุดท้าย’ เป็นภาพยนตร์ LGBT ไทยยุคบุกเบิก ที่ทำให้มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
- จักรวาลหอแต๋วแตก (รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของผู้กำกับคนเดียวกัน) ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชมว่าเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ให้สาวประเภทสอง (Transgender) คือเพศที่ตลกอยู่บ่อยครั้ง ครองพื้นที่สื่อในวงการภาพยนตร์ไทย แต่ก็เป็นเครื่องบันทึกกระแสสังคมได้เป็นอย่างดี
- พื้นที่ของภาพยนตร์ LGBT นอกกระแส + อัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศอื่นๆ แม้ถูกจำกัด แต่สามารถนำเสนอแง่มุมชีวิตที่หลากหลาย ในหลายเรื่องก้าวข้ามไปพูดถึงเรื่องสิทธิ์ ความเท่าเทียมและความเป็นมนุษย์ของ LGBT ที่ไกลกว่าเดิม
ภาพยนตร์ไทยกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในปัจจุบัน ได้รับเสียงตอบรับอย่างหลากหลายทั้งในกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบและเชิงบวก ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ภาพยนตร์ LGBT ไทยผ่านการทดลองและเรียนรู้มายาวนานนับหลายสิบปี และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้เราตั้งคำถามได้ว่า ภาพยนตร์กลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาหรือยังสะท้อนภาพลักษณ์เดิมๆ ที่อยู่ในสังคม คำตอบเป็นอย่างไร มาสำรวจเรื่องราวบนพื้นที่วงการภาพยนตร์ LGBT ไทยไปพร้อมกัน
‘เพลงสุดท้าย’ ภาพยนตร์ LGBT ไทยยุคบุกเบิก
เรียกน้ำตาให้คนทั้งประเทศ
‘เพลงสุดท้าย’ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่พูดถึงประเด็น LGBT โดยเริ่มต้นฉายในปี พ.ศ.2528 และถูกรีเมคในปี 2549 ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ สาวประเภทสอง (Transgender) ที่ผิดหวังในความรักจากชายหนุ่ม และเธอได้เลือกที่จะจบชีวิตลงบนเวทีที่ทำให้เธอเกิดในโลกของการแสดงด้วยบทเพลงสุดท้ายของชีวิต จากพล็อตสามารถสื่อให้เห็นถึง การไม่ยอมรับตัวตนของสาวประเภทสองในสภาพแวดล้อมของสังคมไทยในขณะนั้น แม้แต่กระทั่งเรื่องความรักก็ยังไม่มีทางสมหวัง แต่หลังจากเรื่องนี้ได้ฉายก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมอย่างมากมายทำให้คนไทยได้รู้จักตัวตนและความรู้สึกของ สาวประเภทสองมากขึ้น จึงนับว่ามีความสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้สร้างภาพยนตร์ LGBT ในยุคหลัง
2543-2550 ยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ LGBT ไทยในกระแสหลัก
ตั้งแต่ปี 2543 ภาพยนตร์ LGBT กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง ‘สตรีเหล็ก’ กำกับโดย ยงยุทธ ทองกองทุน ทำรายได้ไปถึง 99 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องราวของทีมวอลเล่ย์บอลชายประจำจังหวัดลำปางที่ไม่เคยรู้รสชาติของชัยชนะมาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว จนทำให้โค้ชต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะทำให้ทีมชนะให้ได้ จึงได้ชวนมลและจุงซึ่งเป็นนับตบมือฉมังเข้ามาร่วมทีม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทั้งสองเป็นสาวประเภทสอง ทำให้สมาชิกในทีมคนอื่นๆ ไม่เต็มใจเล่นด้วยและก็เกิดเรื่องราวต่างๆ ตามมา ทั้งเรื่องตัวตนของ สาวประเภทสอง มิตรภาพ น้ำใจนักกีฬา รวมไปถึงเรื่องความรัก
สตรีเหล็กสร้างปรากฎการณ์เป็นอย่างมากทั้งในวงการกีฬาและแวดวง LGBT ในยุคสมัยนั้น ทำให้เกิดภาพยนตร์ลักษณะนี้ออกมาอย่างแพร่หลาย ซึ่งในยุคนั้นถือว่าภาพยนตร์ลักษณะนี้ เต็มไปด้วยความแปลกใหม่และน่าติดตาม (ต่างจากภาพลักษณ์ของสาวประเภทสองที่ปรากฎอยู่บนจอเงินสมัยนั้น) ที่จะต้องเป็นคนที่ตลก สร้างเสียงรอยยิ้มให้ทุกคนได้เสมอและมักไม่สมหวังในเรื่องความรัก ทำให้นำมาสู่ค่านิยมบางอย่างที่ทำให้มีสังคมทัศนคติ ต่อคนกลุ่มนี้เหมือนกันตามไปด้วย
ในช่วงปี 2550 ก็เกิดทิศทางของภาพยนตร์ไทยที่มีตัวละครที่เป็นเกย์ขึ้น โดยเรื่องแรกๆ คือ เพื่อนกูรักมึงว่ะ กำกับโดยพจน์ อานนท์ และในปีเดียวกันก็มีภาพยนตร์ที่สร้างปรากฎการณ์และตั้งคำถามต่อประเด็นทางเพศ (เกย์) และครอบครัว ซึ่งก็คือเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ กำกับโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ทั้งสองเรื่องนี้ทำให้สังคมเข้าใจความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น โดยก้าวข้ามการเล่าเรื่องราวของสาวประเภทสองไปสู่การเล่ารูปแบบความสัมพันธ์ในแบบชายรักชาย (เกย์) และทั้งสองเรื่องไม่ได้ทำตัวละครให้ตลกแต่ยังเล่าเรื่องราวที่เป็นชีวิตจริงๆ มีมิติในตัวละครมากขึ้น เล่าเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ของ LGBT ต่อครอบครัวหรือบุคคลอื่นๆ ตามเนื้อเรื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ภาพยนตร์ในกระแสหลักกลับไม่ได้นำเสนอรูปแบบนี้เท่าไหร่นัก
สู่จักรวาล…หอแต๋วแตก
หลังจากที่พจน์ อานนท์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำภาพยนตร์เรื่องปล้นนะยะและหอแต๋วแตก ทำให้เขานำเสนอเรื่องในทิศทางเดียวกันมาอีกหลายเรื่องเช่น หอแต๋วแตกแหกกระเจิง หอแต๋วแตกแหวกชิมิ หอแต๋วแตกแหกมว๊ากก หอแต๋วแตก แหกนะคะ หอแต๋วแตก แหกต่อไม่รอแล้วนะ และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ใช้ตัวละครหลักเป็นสาวประเภทสอง เป็นตัวเดินเรื่องและตอกย้ำภาพลักษณ์ให้สาวประเภทสองเป็นกลุ่มคนที่เน้นความตลกโปกฮาเหมือนกับเรื่องก่อนๆ ดังในยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ LGBT เมื่อช่วงปี 2543-2550 ได้นำเสนอไว้
แม้สังคมจะตั้งคำถามกับการเล่าเรื่อง การแสดงออกของตัวละครในภาพยนตร์ของเขา แต่ก็ยังคงทำรายได้อย่างต่อเนื่องจนครองพื้นที่วงการภาพยนตร์ไทย และสามารถสร้างเอกลักษณ์ด้วยการหยิบจับกระแสสังคมมาเป็นส่วนหนึ่งของบทภาพยนตร์ ซึ่งสามารถใส่เข้ามาได้ในทุกเรื่อง เช่น การนำคนที่กำลังเป็นกระแสอย่าง ปืนท้าต่อยตำรวจ หรือ สิตางศุ์ บัวทอง เจ้าของวลี สะบัดต่อไม่รอแล้วนะ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบทบาท สิ่งนี้เป็นการบันทึกกระแสสังคมผ่านภาพยนตร์ในรูปแบบหนึ่ง จักรวาลหอแต๋วแตกจึงไม่ใช่แค่รูปแบบภาพยนตร์ที่คนดูทั่วไปกล่าวว่าเป็นการตอกย้ำอัตลักษณ์ทางเพศที่ซ้ำซากและจำเจจนเกิดคำครหา ‘หนังไทยก็วนเวียนซ้ำๆ กะเทย พระ ผี ไร้สาระ’
อัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ ที่หายไป
และการเกิดขึ้นของภาพยนตร์ LGBT นอกกระแส
ในขณะที่ทุกคนกำลังบอกว่าภาพยนตร์ LGBT ของไทยในกระแสหลักวนเวียนแต่เรื่องเดิมๆ ยังมีภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ เกิดมาในแวดวงภาพยนตร์นอกกระแส เช่น แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insects in the backyard) เรื่องรักระหว่างเธอ (She) อนธการ (The Blue Hour) มะลิลา (Malila The Farewell Flower) ในแต่ละเรื่องนำเสนอชีวิตของ LGBT ได้อย่างน่าสนใจและเห็นถึงชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นจริงๆ ซึ่งในบางเรื่องก้าวข้ามรูปแบบทางเพศในแบบเดิมๆ อีกด้วย รวมไปถึงพูดเรื่องสิทธิ์ ความเท่าเทียมและความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็น LGBT แต่ปัญหาใหญ่ของภาพยนตร์กลุ่มนี้คือ ไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ฉายหรือผู้จัด ทำให้ไปไม่ถึงคนกลุ่มใหญ่จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทำให้ภาพยนตร์ LGBT ไทยในปัจจุบันไม่สามารถสร้างความหลากหลายได้เท่าในประเทศอื่นๆ ในหน้าม่านภาพยนตร์กระแสหลัก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ภาพยนตร์ไทยเองก็ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายของ LGBT มากขึ้น เห็นชีวิตมากขึ้นว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้พื้นที่ในการนำเสนอจะมีจำกัด สิ่งที่จะสนับสนุนให้มีความหลากหลายนี้ต่อไปได้ก็คือ ผู้ชมเองต้องร่วมกันสนับสนุนและผลักดันให้มีพื้นที่นำเสนอให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อผู้สร้างจะมีกำลังใจและนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจต่อไป
ที่มา :
https://www.youtube.com/watch?v=it9i_9KPoOk