Search
Close this search box.
วิธีอาบน้ำแมว

วิธีอาบน้ำแมว
| เจ้าเหมียวไม่ดิ้น มนุษย์ก็สิ้นรอยแผล

  • ทาสแมวทั้งหลายที่กำลังหาวิธีอาบน้ำแมว เราอยากให้คุณทำความเข้าใจว่า จริง ๆ แล้ว แมวจะใช้เวลาประมาณ 30% ของมันไปกับการดูแลตัวเอง จึงไม่ควรต้องอาบน้ำเกินปีละ 1-2 ครั้ง นอกจากว่ามันสกปรกมากจริง ๆ
  • และสำหรับใครที่คิดว่าเจ้าเหมียวของตัวเองจำเป็นต้องอาบน้ำ จะไม่อาบไม่ได้! เช่น ขนยาว ชอบเกลือกกลิ้งกับฝุ่น จนเราเริ่มมีอาการแพ้ขนแมว การอาบน้ำแมวถือเป็นสิ่งที่ควรทำ
  • หากเลี้ยงแมวแล้วคิดจะอาบน้ำให้มันตลอด ควรเริ่มตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป เพื่อเป็นการฝึกให้เขาคุ้นชินกับการอาบน้ำ และไม่ควรอาบเกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ทาสจะต้องใจเย็นเสมอ ไม่ดุ ตี และจับหนังคอ (หากไม่รู้ตำแหน่งที่ถูกต้อง อย่าทำมันเด็ดขาด แมวอาจหายใจไม่ออกได้) 

สำหรับใครที่เลี้ยงเจ้าเหมียวแล้วกำลังหาวิธีอาบน้ำแมว เราขอเดาเลยว่าคุณน่าเคยประสบพบเจอกับปัญหาแมวจับอาบน้ำยากแน่ ๆ หรือไม่ก็เคยได้ยินมาว่าเจ้าเหมียวจะดิ้นสุดฤทธิ์เวลาที่มันโดนน้ำ ข่วนไม่ยั้ง ร้องโหยหวนไม่หยุด เราจะช่วยคุณเองกับวิธีอาบน้ำแมวที่อ่อนโยนต่อเจ้าเหมียวของเรามากที่สุด แต่ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าต้องเตรียมอะไรกันบ้าง  

เตรียมอุปกรณ์ ก่อนอาบน้ำแมว

การเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนลงมืออาบน้ำแมวเป็นเรื่องที่ทาสทั้งหลายควรทำ เพราะการอาบน้ำแมวบางตัวไม่ใช่เรื่องง่าย หากต้องมาหยิบโน่นนี่นั่นทีละอย่าง มีหวังแมววิ่งหนีไปก่อน ดังนั้น ของที่จำเป็นสำหรับอาบน้ำแมวที่ต้องเตรียมทั้ง 6 อย่างคือ

อุปกรณ์อาบน้ำแมว

1. แชมพู  ควรใช้แชมพูอาบน้ำสำหรับแมวโดยเฉพาะ ห้ามใช้ยาสระผมหรือครีมอาบน้ำของคนเด็ดขาด รวมถึงแชมพูสุนัขก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะมันจะทำให้ผิวของแมวแห้งและอาจเป็นพิษได้

2. ถุงอาบน้ำแมว  เอาไว้ใส่กันแมวดิ้นหรือข่วน บ้านไหนเจ้าเหมียวดุหรือดีดขาแรงตอนอาบน้ำ ควรมี! แต่ก็ต้องยอมรับว่าความสะอาดในการอาบน้ำอาจไม่เท่ากับการถูหรือนวดขนที่ตัวน้องโดยตรง

3. อ่างอาบน้ำ  ควรใส่น้ำอุ่นไว้ในอ่างให้เรียบร้อย (ไม่เย็นเจี๊ยบหรือร้อนจี๋) เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเปิดน้ำอีกในระหว่างที่อาบน้ำให้น้อง เพราะแมวบางตัวจะตกใจเสียงก๊อกน้ำหรือฝักบัว อาจกระโดดหนีได้ (ไม่ควรใช้สายยาง ฝักบัว และก๊อกน้ำฉีดราดตัวแมวโดยตรง)

ป.ล. แมวบางตัวก็ชอบอาบน้ำด้วยฝักบัวนะ แต่แรงดันควรอยู่ในระดับที่พอดี เพราะน้องอาจจะสะดุ้งหรือเจ็บผิวหนังได้

 4. เสื้อผ้าหนา ๆ  เอาไว้ใส่เพื่อป้องกันการโดนข่วน ควรใส่เป็นเสื้อผ้าที่แขนขายาว และเปียกน้ำหรือเลอะเทอะได้โดยที่เราไม่เสียดาย

5. ผ้าเช็ดตัวสำหรับแมว  เอาไว้ห่อและเช็ดตัวแมวเมื่ออาบน้ำเสร็จ ควรมีมากกว่า 1 ผืน

6. หวีแปรง  เอาไว้หวีขนน้องที่ติดเป็นก้อน (สักแป๊บคลาย)

วิธีอาบน้ำแมว

ขั้นตอนและวิธีอาบน้ำแมว

1. แปรงขนแมว เพื่อเอาขนที่พันกันเป็นก้อนหรือขนที่หลุดตามตัวออกก่อน

——————————–

2. ค่อย ๆ จับแมวลงอ่างอาบน้ำ ถ้าน้องมีอาการกลัว อาจจะเริ่มจุ่มแค่ขาก่อน แล้วให้น้องเอามือข้างหน้าเกาะขอบอ่างเอาไว้ (ถ้าน้องใจเย็น น้องจะเกาะนิ่งตลอด เราจะอาบน้ำได้ง่ายขึ้น) จากนั้นค่อย ๆ เอามือวักน้ำลงบนตัวแมวให้เปียกทั่วตัว

แต่ถ้าน้องดิ้น! จับใส่ถุงห่อตัวแมว แล้วถ้าต้านแรงน้องไม่ไหวจริง ๆ ให้หยุดอาบน้ำแมวไปก่อน

——————————–

3. ผสมแชมพูกับน้ำ ค่อย ๆ วักน้ำไปถูและนวดเบา ๆ ที่ตัวน้องให้เขาผ่อนคลาย หรืออาจจะเทลงบนฝ่ามือแล้วลูบไล้ไปตามตัวน้องก็ได้ แต่ไม่ควรชโลมแชมพูที่ตัวน้องโดยตรง! เพราะจะทำความสะอาดได้ไม่ทั่วตัว ทำให้ต้องบีบแชมพูมากขึ้น แถมบริเวณที่ชโลมแชมพูยังเข้มข้นมาก ทำให้ล้างออกยาก

(*หากน้องมีหมัดให้เริ่มล้างบริเวณรอบ ๆ คอก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อกันไม่ให้เห็บวิ่งไปยังบริเวณหัว ซึ่งมีโอกาสที่เราจะเอามือไปจับตัวหมัดที่หน้าน้อง อาจทำให้แชมพูเข้าตาได้)

——————————–

4. ล้างหน้าแมวด้วยน้ำเปล่าหรือผ้าชุบน้ำหมาด อย่าเอาฝักบัวฉีดหรือวักน้ำราดบนหน้าแมวเด็ดขาด เพราะน้ำอาจเข้าตาและจมูกได้ ให้ค่อย ๆ เอามือที่เปียกลูบหน้าน้องไปตามเส้นขน หากมีขี้ตาหรือคราบดำ ๆ ที่จมูก ค่อยใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดออกทีหลังได้

——————————–

5. เช็ดตัวแมวให้แห้ง โดยหลีกเลี่ยงการใช้ไอร้อนจากไดร์เป่าผม ซึ่งอาจจะลวกผิวน้องและเกิดแผลได้ แต่ถ้าแมวกลัวไดร์เป่าผม คุณสามารถใช้เครื่องอบแห้งที่ตั้งค่าให้อุ่น เพื่อทำให้ตัวแมวแห้งด้วยไอร้อนจากระยะไกล

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการอาบน้ำแมว!

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการอาบน้ำแมว
  1. การอาบน้ำแมวควรฝึกตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เขาคุ้นชิน โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป
  2. ไม่ควรอาบน้ำแมวบ่อย เพราะน้ำมันที่เคลือบขนที่หายไปจะทำให้ขนอ่อนแอลง
  3. หากจำเป็นต้องอาบน้ำแมว ควรจะอาบทุก ๆ 1-3 เดือน
  4. อากาศที่ชื้นและเย็นไม่เหมาะแก่การอาบน้ำให้แมว
  5. อาจใช้ทิชชูเปียกสำหรับสัตว์เลี้ยงเช็ดตัวแมวหรือใช้แชมพูแห้งแทนการอาบน้ำได้
  6. ควรตัดเล็บแมวก่อนอาบน้ำ เพื่อป้องกันบาดแผลลึกจากการโดนข่วน แต่ถ้ายากเกินไปอาจใช้ถุงห่อตัวแมวมาช่วยเสริมก็ได้
  7. ถ้าน้องทนไม่ไหวให้หยุดอาบน้ำทันที! อย่าฝืนต่อเพราะอาจเจ็บตัวได้ แถมน้องแมวก็จะเครียดและจำฝังใจเมื่อต้องโดนจับไปที่ห้องน้ำอีกด้วย
  8. อย่าจับหนังคอ หากไม่รู้ตำแหน่งที่ถูกต้อง เพราะแมวอาจหายใจไม่ออกได้
  9. อย่าตีน้อง หากเขาทำตัวไม่น่ารัก

อย่าลืมดูความพร้อมของร่างกายน้องเหมียวของเราด้วยนะ เพราะแมวแต่ละตัวก็แข็งแรงไม่เท่ากัน แล้วถ้าจับอาบน้ำเองไม่ได้จริง ๆ ทางเลือกสุดท้ายคือไปหาร้านอาบน้ำสัตว์เลี้ยงให้เขาช่วยจัดการให้ดีกว่า เพราะเขาจะรู้จักวิธีรับมือได้ดีกว่าเรา และที่แน่ ๆ คือเราไม่ต้องเจ็บตัวด้วย

SHARE

RELATED POSTS