Generation Gap ดูแลสุขภาพจิตผู้สูงวัย ให้เข้าใจแม้วัยต่างกัน
- Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัย คือความแตกต่างผู้คนในแง่ของความคิด และมุมมอง เนื่องจากการเติบโตในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน
- บ่อยครั้งที่ Generation Gap ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีวัยหลากหลาย เนื่องจากขาดความเข้าใจในธรรมชาติของคนแต่ละรุ่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาว
- การเอาชนะ Generation Gap ทั้งผู้สูงวัย และบุตรหลาน จำเป็นต้องร่วมมือกันในการยอมรับความแตกต่าง และปรับตัวเข้าหากันและกัน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
เคยไหมเมื่อคุยกับคนต่างวัยแล้วรู้สึกว่าทำไมพูดอะไรก็ไม่เข้าใจ จะทำอะไรก็ไม่เข้าตา นี่อาจเป็นหลุมพรางที่เรียกว่า Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัย เนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้คนที่เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีชุดความคิดต่อสิ่งรอบข้างต่างกันออกไป
นอกจากนี้ จากข้อมูลในคู่มือ ‘ThaiHealth Watch 2023 : สังคมปรับ ชีวิตเปลี่ยน’ ยังเผยอีกว่าในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society) เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปริมาณมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความท้าทายใหม่ ๆ อันเกิดจาก Generation Gap โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวหลากหลายช่วงวัย
วันนี้ Short Recap จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Generation Gap เพื่อทำความเข้าใจกันว่าทำไมแต่ละวัยมีมุมมองที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งวิธีข้ามผ่านช่องว่างระหว่างวัย เพื่อช่วยป้องกันการเกิดความขัดแย้งและปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเป็นหนึ่งในมิติสุขภาพที่ทุกคนควรให้ความสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย
Generation Gap คืออะไร
Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัย ไม่ใช่เพียงแค่ความต่างของอายุ แต่เป็นความแตกต่างด้านค่านิยม แนวคิด และลักษณะ เนื่องจากการเติบโตในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน และถึงแม้ว่าหลายสิ่งในสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่หลายคนก็ยังคงใช้ชุดความคิดเดิมในการมองสิ่งต่าง ๆ จึงมีบ่อยครั้งที่ Generation Gap ส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกัน และกระทบต่อความสัมพันธ์ โดย สสส. ได้อธิบายลักษณะของคนในแต่ละเจเนอเรชันไว้ ดังนี้
Generation B หรือ Baby Boomer
Generation Baby Boomer คือคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2489 – 2507 เป็นยุคที่ประสบกับสงครามเย็น และเผด็จการทหาร รวมถึง เริ่มมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 จึงทำให้มีลักษณะอนุรักษนิยมกึ่งสมัยใหม่ มีความมานะ อดทน ทุ่มเท ภักดีต่อองค์กร ทำงานหนัก ชอบความมั่นคง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และนิยมมีลูกหลายคนเพื่อสร้างแรงงานทดแทนผู้เสียชีวิตจากสงคราม
Generation X หรือ Yuppie
Generation X คือคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2508 – 2522 โดยชื่อ X มาจากเครื่องหมายกากบาท ซึ่งสะท้อนว่า พ่อแม่ของคนยุคนี้มีลูกน้อย เนื่องจาก เป็นช่วงที่โลกมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูง จึงทำให้พ่อแม่อย่าง Generation Baby Boomer ทำงานหนักและออกไปทำงานทั้งคู่ นอกจากนี้ ยังเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล จึงทำให้คน Generation X สามารถเข้าถึงความรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ส่งผลให้มีความมั่นใจในตนเองสูง ชอบการทำงานอย่างชาญฉลาด แทนที่จะทำงานหนักแบบ Generation Baby Boomer และชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่อยู่นิ่ง เนื่องจากเป็นยุคที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
Generation Y หรือ Millennial
Generation Y คือคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2524-2540 เป็นยุคที่เทคโนโลยีมีความรวดเร็ว สะดวกสบาย และสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีความเป็นสากล และเปิดรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม จึงทำให้คนยุคนี้ชอบความรวดเร็ว ไม่ชอบการรอคอย มีความยืดหยุ่น สร้างสรรค์ และชัดเจนต่อสิ่งที่ตนเองต้องการ
Generation Z หรือ Silent Generation
Generation Z คือคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2540 – 2552 เป็นยุคที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี และโซเชียลมีเดีย จึงทำให้มีความเข้าใจในเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก และเรียนรู้ได้ไว นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจในความหลากหลาย จึงทำให้มีการปรับตัวเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ได้ดี
- Generation Alpha
Generation Alpha คือคนที่เกิดหลังจาก พ.ศ. 2553 ขึ้นไป ซึ่งถือเป็นรุ่นลูกของ Gen Y และ Gen Z คนเจนนี้เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง AI จึงมักมองหาทางลัดสู่ความสำเร็จ
Generation Gap ต้นตอบั่นทอนสุขภาพจิตสูงวัย
จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันจะเป็นประชากร Baby Boomer หรือ Generation X ช่วงต้น ในขณะที่บุตรหลานส่วนใหญ่จะเป็นเจเนอเรชัน X หรือ Y เป็นต้นไป ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี Generation Gap จึงส่งผลให้บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุ และบุตรหลานไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งหากสูงวัยและบุตรหลานไม่สามารถยอมรับความแตกต่างนี้ได้ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้
ความเหงา
เนื่องจากวัยสูงอายุจะต้องเปลี่ยนจากวัยทำงาน สู่วัยเกษียณอย่างเต็มตัว จึงทำให้มีเวลาว่างมากยิ่งขึ้น บวกกับการห่างไกลจากคนใกล้ชิดที่มักได้เจอเป็นประจำ และร่างกายที่เสื่อมถอย ทำให้ผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรม ทั้งที่มีเวลาว่างมากมาย ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกงาน จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า เบื่ออาหาร หรือเจ็บป่วยได้
ความเศร้าจากการพลัดพราก
การสูญเสียคนที่รัก เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุทุกคนต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการสูญเสียนี้อาจก่อตัวเป็นอารมณ์หรือความรู้สึกเชิงลบมากมาย จนทำให้ผู้สูงวัยจากโลกนี้ตามไปในเวลาไม่นาน เนื่องจากมีความผูกพันสูง
โกรธ ฉุนเฉียว
ความขัดแย้งกับลูกหลาน เนื่องจากความเห็นที่ไม่ตรงกัน ผสมกับอารมณ์ที่เปราะบางตามธรรมชาติ อาจทำให้บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุเลือกแสดงความรู้สึกออกมาด้วยอารมณ์โกรธ
น้อยใจ
ด้วยสมรรถภาพที่เสื่อมถอยตามธรรมชาติ ทำให้ผู้สูงอายุดูแลตนเองได้น้อยลง และจำเป็นต้องพึ่งพาบุตรหลานขึ้น รวมถึง บุตรหลานที่เป็นเสาหลักของครอบครัวส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และไม่ค่อยมีเวลาให้ จึงทำให้ผู้สูงอายุคิดว่าตนเองไร้ค่า และไม่ได้รับความสำคัญ
โหยหาอดีต
บางครั้งผู้สูงอายุอาจจะนั่งคิดถึงวันวาน หรือแวะยังสถานที่ที่คุ้นเคย เพื่อรำลึกถึงอดีต และคิดว่าที่ผ่านมาสมหวังหรือไม่ ซึ่งบางครั้งอาจรู้สึกไม่พึงพอใจและเกิดความคับแค้นได้ แต่หากผู้สูงอายุพอใจกับอดีต ก็จะช่วยให้พวกท่านเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและสามารถมีความสุขตามวัยได้
วิตกกังวล
การพึ่งพาลูกหลานนอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกด้อยค่าแล้ว ยังทำให้รู้สึกกลัว ขาดความมั่นใจ หรือกลัวการไม่ได้รับการเอาใจใส่ได้อีกด้วย และนี่อาจทำให้ผู้สูงอายุอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หายใจไม่ออก และเป็นลมได้ง่าย
กลัวถูกทอดทิ้ง
บางครั้งการพึ่งพาบุตรหลานมากขึ้น เนื่องจากช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง สูงวัยอาจคิดว่าตนเองเป็นภาระ และกลัวการถูกทอดทิ้ง
ขี้หงุดหงิด ขี้บ่น
เมื่อสูงวัยสามารถทำอะไรด้วยตนเองได้น้อยลง และไม่พอใจกับสิ่งที่ลูกหลานทำให้ ผู้สูงอายุอาจกลายเป็นคนจู้จี้ ขี้บ่น
วิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของสูงวัย พิชิต Generation Gap
สิ่งสำคัญในการก้าวผ่าน Generation Gap เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ คือความเข้าใจของลูกหลานต่อชุดความคิดและค่านิยมที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งให้การสนับสนุน และช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ผู้สูงอายุก็ควรมีการปรับตัวและยอมรับความเปลี่ยนแปลง หากทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะร่วมมือกันก็จะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้
วิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตสำหรับสูงวัย
- มีความยืดหยุ่น และรับฟังความคิดเห็นของลูกหลาน
- ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และมองว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติ
- มองโลกในแง่ดี และภูมิใจที่เป็นที่พึ่งพิงให้แก่บุตรหลานได้
- พูดคุยหรือระบายกับคนใกล้ชิด เมื่อมีเรื่องกังวล หรือไม่สบายใจ
- หากิจกรรม หรืองานอดิเรก เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ และสร้างคุณค่าทางจิตใจ
- หาที่พึ่งทางใจ เช่น เข้าวัด ทำบุญ นั่งสมาธิ เพื่อให้จิตใจผ่อนคลาย
- ทำใจให้เบิกบานแจ่มใส ไม่เครียด หรือหงุดหงิดง่าย
วิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตสำหรับบุตรหลาน
- การรับฟังผู้สูงอายุอย่างให้เกียรติ และให้ความสำคัญผู้สูงอายุอยู่เสมอ เช่น ชวนคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ
- หากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ หรือคอยสังเกตสิ่งที่ท่านสนใจ รวมถึงมีกิจกรรมร่วมกันบ่อย ๆ
- ไม่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเป็นภาระ
- สังเกตความผิดปกติ และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความกังวล พร้อมทั้งหาวิธีแก้ไขร่วมกัน ไม่ปล่อยให้สูงวัยเผชิญปัญหาเพียงลำพัง
- ชวนผู้สูงอายุไปทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ เล่นโยคะ
ท่ามกลางสังคมที่คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ต้องอยู่ร่วมกัน ความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะเอาชนะ Generation Gap ได้ ทั้งนี้ การปรับตัวเข้าหากันไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ห่างไกลปัญหาสุขภาพจิต