Search
Close this search box.
Gap Year คือ

Gap Year คือทางออกในวันที่ Midlife Crisis มาถึงจริงหรือไม่?

  • Gap Year คือแนวคิดการหยุดพักที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่ต้องการค้นหาตัวตน การใช้ Gap Year เพื่อเยียวยาจิตใจ ออกสำรวจโลกกว้าง และเรียนรู้ทักษะใหม่ในชีวิต จึงกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าวัยรุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 จนถึงปัจจุบัน
  • แม้จะคุ้นเคยกันดีว่า Gap Year คือช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวตนของหนุ่มสาว แต่จริง ๆ แล้ว เราสามารถใช้เวลาหยุดพักได้ทุกเมื่อ หากรู้สึกท้อแท้หรือหมดไฟ โดยเฉพาะในช่วง Midlife Crisis ที่ชีวิตต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง การใช้เวลาหยุดคิด พักผ่อนเพื่อรีเซ็ตร่างกาย ก็เป็นอะไรที่กลุ่มวัยกลางคนต้องการเช่นกัน
  • ก่อนเริ่มทำ Gap Year ควรวางแผนให้รัดกุม คำนึงถึงรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้น และตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ว่า “อยากจะหยุดพักเพื่ออะไร?” ไม่อย่างนั้น อาจเป็นการเสียเวลาเป็นปีไปโดยเปล่าประโยชน์
  • ระยะเวลาการหยุดพัก อาจขึ้นอยู่กับภาระของแต่ละคน การใช้เวลา Gap Year จึงเปลี่ยนเป็น Gap Month, Gap Day หรือ Gap Time ได้ ตามเงื่อนไข และความพึงพอใจของเรา
Gap Year คือ

“เราใช้ชีวิตเร่งรีบเกินไปหรือเปล่า?” ไม่ว่าใครที่กำลังมีคำถามนี้ดังขึ้นในหัวก็ตาม… ห้ามพลาดบทความนี้! เพราะวิถี Gap Year คือคำตอบที่เป็นตัวช่วยให้ชีวิตของคุณได้! เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา บางทีการหยุดพัก เว้นช่องว่างให้ใจได้ขบคิดบ้างอาจเป็นทางที่เวิร์กกว่า ลองออกไปสำรวจโลกกว้าง ค้นหาตัวตนด้วยการมอบช่วง Gap Year (การหยุดพัก 1 ปี) ให้ชีวิตได้พักผ่อน เติมไฟให้กลับมาลุกโชน พร้อมหาเป้าหมายต่อไปในชีวิตว่า “เราต้องการอะไรกันแน่” ไปพร้อมกันกับ Short Recap

ทำความรู้จัก Gap Year คืออะไร

Gap Year คือ

Gap Year คือ ช่วงเวลาการหยุดพักเพื่อค้นหาตัวตน สำหรับช่วงรอยต่อหลังเรียนจบ หรือก่อนจะเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ โดยเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1960 ยุคที่คนหนุ่มสาวรุ่น Baby Boomers เบื่อหน่ายกับภาวะสงคราม การออกไปท่องโลกกว้าง พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมต่างแดน จึงเป็นทางเลือกที่จะหลีกหนีสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ และสิ่งที่ได้กลับมาคือประสบการณ์ล้ำค่า และมุมมองใหม่ ๆ ในชีวิต ส่งผลให้ Gap Year เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น จนกลายเป็นธรรมเนียมของเด็กจบใหม่นับแต่นั้นมา

Gap Year คือการรีเซ็ตใจในวันที่เหนื่อยล้า

Gap Year คือ

แม้ว่า Gap Year จะเริ่มมาจากการเป็นช่วงเวลาของหนุ่มสาว แต่จริง ๆ แล้ว Gap Year คือการค้นหาตัวตนที่เหมาะสำหรับคนทุกวัย อ้างอิงข้อมูลจาก หน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา (Peace Corp.) เผยว่า อาสาสมัครในโครงการช่วง Gap Year กว่า 4% เป็นกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยหลายคนรู้สึกว่า การได้หยุดพักและทำกิจกรรมอาสาสมัคร ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น รวมถึงช่วยคลายความกังวลยามเกิดวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) อีกด้วย

การมอบช่วง Gap Year ให้ชีวิตจึงใช้ได้กับทุกวัย และสามารถหยุดพักได้ทุกเมื่อ หากรู้สึกเหนื่อยล้า หรือต้องการเติมไฟให้ชีวิต โดย อีธาน ไนท์ ผู้บริหารสมาคม Gap Year (GYA) กล่าวว่า “คนวัยทำงานก็ต้องการช่วงเวลาหยุดพัก เพื่อค้นหาแรงผลักดันในชีวิตไม่ต่างจากวัยรุ่น” เพราะเมื่อ Midlife Crisis มาถึง ร่างกายและจิตใจก็ต้องการเวลา เพื่อเยียวยาชีวิตและค้นหาเส้นทางที่จะก้าวเดินต่อไปเช่นเดียวกัน

Gap Year คือ คำตอบที่ทุกคนตามหาจริงไหม?

Gap Year หรือการหยุดพักเป็นเวลา 1 ปี อาจไม่ใช่ภารกิจที่นึกอยากจะทำก็ทำได้ รวมถึงใช่ว่าใครจะทำก็ได้ด้วยเช่นกัน เพราะเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน ทั้งในด้านภาระที่ต้องดูแลและสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งความจริงแล้วเราสามารถปรับระยะเวลาจาก Gap Year เป็น Gap Month หรือ Gap Time ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคน เพราะการใช้เวลาสั้น ๆ ชาร์จแบตให้ตัวเอง ส่งผลดีต่อร่างกายกับจิตใจมากกว่าที่คิด แถมช่วยบรรเทาปัญหา Midlife Crisis ให้เบาบางลง แต่ก่อนที่จะตัดสินใจมอบช่วง Gap Year ให้ชีวิต มาลองแวะเช็กลิสต์ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ เพื่อประกอบการตัดสินใจกันก่อนดีกว่า

ข้อดี ข้อเสีย Gap Year คือ

ข้อดีของการมีเวลาพักใจ

  • ได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา

ช่วง Gap Year คือการหยุดพักเพื่อสงบจิตใจ ซึ่งเป็นเวลาที่จังหวะชีวิตจะช้าลง ทำให้เราสามารถพิจารณาสิ่งรอบข้าง และทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาได้ดียิ่งขึ้น

 

  • วางแผนชีวิตใหม่

เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นในช่วง Gap Year นอกจากจะได้ทบทวนชีวิตแล้ว ยังทำให้จัดระเบียบชีวิต วางแผนสำหรับอนาคต และเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองได้โดยไม่ต้องเร่งรีบ แถมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผ่านการตกตะกอนมาอย่างดีแล้ว

 

  • ทดลองทำกิจกรรมที่สนใจ เพิ่มประสบการณ์ชีวิต

ใครที่มีกิจกรรมในใจที่อยากลองทำมานานแล้ว สามารถใช้เวลานี้ลุยได้เลย ค้นหาตัวตนได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคอร์สเรียนทำอาหาร, จัดดอกไม้ หรือลองเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม ถือเป็นโอกาสดีในการเปิดประสบการณ์ใหม่และเพิ่มทักษะการใช้ชีวิต

 

  • พัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

เหนื่อยล้าจากการโหมทำงานมานาน อาจมีบ้างที่จะละเลยคนที่เป็นกำลังใจอยู่ข้าง ๆ ไป ช่วงเวลานี้เหมาะมากที่จะได้กลับมาสานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว, คนรัก และเพื่อนฝูง นอกจากจะได้รักษามิตรภาพแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตอีกด้วย

ข้อเสียของการหยุดพักเป็นเวลานาน

  • มีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายรับ

แม้ว่าระหว่าง Gap Year จะสามารถทำงานพิเศษหารายได้มาใช้ชีวิตได้ แต่ในความเป็นจริง… เราอาจจะไม่ได้มีรายรับมากเท่าตอนที่ทำงานประจำ ฉะนั้น ก่อนจะหยุดพักจึงควรวางแผนการเงินให้เรียบร้อย และจัดสรรให้พอดีกับช่วงเวลาที่ต้องการ

 

  • ก่อนกลับมาทำงานต้องปรับตัวใหม่

การเว้นช่วงนาน อาจทำให้สมองและร่างกายเคยชินกับการพักผ่อน เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

 

  • รู้สึกตามหลังคนรุ่นเดียวกัน

ความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นได้ในช่วง Gap Year เนื่องจากระหว่างที่หยุดพัก เพื่อนรุ่นเดียวกันอาจพัฒนาและเติบโตในเส้นทางชีวิตไปไกลแล้ว ทำให้เมื่อกลับเข้าสู่วงจรการทำงานอีกครั้ง อาจเกิดการเปรียบเทียบแล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นได้

 

  • ถ้าไม่มีแผนรองรับที่ดี อาจเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

Gap Year คือช่วงที่ชีวิตจะได้พักผ่อนตามที่ใจต้องการ แต่ในความเป็นจริงหากลุยอย่างกะทันหันไม่ทันได้วางแผนให้รอบคอบเสียก่อน การทำ Gap Year ก็อาจทำชีวิตพังได้เช่นกัน เพราะมันจะกลายเป็นแค่วันเวลาที่ว่างเปล่า รายรับก็น้อยลง แต่รายจ่ายมีมากขึ้น และที่สำคัญยังไม่ได้ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตัวเองอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกายกับสุขภาพจิตให้แย่ลง เพิ่มความกดดัน จนคิดฟุ้งซ่าน แบบนี้ต่อให้ทำ Gap Year ไปก็ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น

Gap Year คือการหยุดพัก แต่ยังต้องมีแผน

Gap Year คือ

ตัวเลือก Gap Year ในชีวิตสำหรับในประเทศไทย อาจไม่ใช่เรื่องที่นิยมนัก เพราะรูปแบบสังคมตะวันออก ค่านิยมการทำงานหนักยังเป็นสิ่งที่ชาวเอเชียคำนึงถึงอยู่เสมอ และระบบการศึกษาไทยก็ยังไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้ทำ Gap Year เสียเท่าไหร่ แนวคิดเรื่อง Gap Year จึงถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และอาจถูกต่อต้านจากคนรอบข้าง รวมกับข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ คนไทยจึงใช้เวลาในช่วง Gap Year น้อยกว่าประเทศอื่น แล้วถ้าเราอยากลองหยุดพักจะทำยังไงได้บ้าง? แม้เป็นไปได้ยาก แต่ถ้ามีแผนที่ชัดเจน และเตรียมความพร้อมเพียงพอ ไม่ว่าจะ Gap Year, Gap Month หรือ Gap Time ก็สามารถเกิดขึ้นได้จริง!

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น Gap Year จะมีประสิทธิภาพในรูปแบบไหน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน หากต้องการแค่หยุดพัก การไม่ทำกิจกรรมอะไรเลยก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าต้องการประสบการณ์ใหม่ จะออกผจญภัยทั่วโลกก็ได้เช่นกัน แต่ก่อนจะเริ่มทำ Gap Year ควรร่างแผนคร่าว ๆ หรืออย่างน้อยควรมีเป้าหมายว่า “เราจะหยุดพักเพื่ออะไร?” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้ตรงจุด จากนั้นจะพักใจในวันที่ท้อแท้ หรือออกไปผจญภัยในโลกกว้างก็ลุยได้เลย!

หลังจากมีแผนแล้วก็ต้องมีอะไรให้ทำ มาดูกิจกรรมที่น่าสนใจในช่วง Gap Year เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตกันดีกว่า

ใช้เวลาช่วง Gap Year ยังไงให้มีประสิทธิภาพ

แนะนำกิจกรรม Gap Year คือ
  • ออกเดินทาง ศึกษาวัฒนธรรมในต่างแดน

ลองเก็บกระเป๋าเดินทางไปต่างประเทศ เรียนรู้วัฒนธรรม ศึกษาความเป็นอยู่ของผู้คน เพื่อเปิดมุมมองใหม่ให้ชีวิต

 

  • ลงคอร์สเรียนภาษา หรือกิจกรรมที่สนใจ

พัฒนาทักษะทางภาษา อัปสกิลให้พร้อมสำหรับกลับไปเริ่มทำงานใหม่ หรือจะทดลองทำกิจกรรมที่สนใจ พร้อมค้นหาสิ่งที่ชอบ และเพิ่มงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจในอนาคต

 

  • เป็นอาสาสมัคร

มีโครงการอาสาสมัครมากมายที่น่าสนใจ เช่น WWOOF (Worldwide Opportunities on Organic Farms) ที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้การทำงานเกี่ยวกับฟาร์มในต่างแดน หรือ Helpx โครงการอาสาสมัคร แลกอาหารและที่พักกับการทำงาน ค่าสมัครสมาชิกไม่แพง แถมได้เดินทางไปหลากหลายประเทศ

 

  • ทดลองทำ Part-time ในงานที่สนใจ

นอกจากจะได้ประสบการณ์ และสร้างรายได้ในช่วง Gap Year แล้ว การทำงาน Part-time ยังทำให้ได้รู้จักกับคนใหม่ ๆ เสริมสร้าง Connection ที่อาจเป็นตัวช่วยในอนาคต พร้อมหาคำตอบให้ตัวเองว่า งานที่ทำอยู่ตอนนี้ ตอบโจทย์ชีวิตแค่ไหน

หลังจากรู้เรื่องราวของการหยุดพัก เพื่อค้นหาตัวตนในเวลา 1 ปีแล้ว Gap Year คือคำตอบของทุกคนไหม? ไม่ว่าจะใช่ หรือไม่ใช่ การหาเวลาเพื่อพักผ่อนก็เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ถ้ารู้สึกว่าชีวิตเร่งรีบเกินไป ลองปรับจังหวะลงสักนิด สงบจิตใจ และหมั่นเติมไฟให้ตัวเองอยู่เสมอ หากท้อแท้ก็แค่พัก พร้อมเมื่อไหร่ค่อยกลับไปสู้ต่อก็ไม่สาย

SHARE

RELATED POSTS