Search
Close this search box.
ทฤษฎี 21 วัน ใช้ได้จริงอย่างที่ใครว่าไว้หรือเปล่า?

“ทฤษฎี 21 วัน” ใช้ได้จริงอย่างที่ใครว่าไว้หรือเปล่า?

  • สำนวน “น้ำหยดลงหินทุกวัน หินยังกร่อน” ดู ๆ แล้วคงเข้ากับทฤษฎี 21 วัน หากคนที่เราชอบทักมาในวันที่ 22 หลังจากที่เราทักไป 21 วัน แล้วลองหายไปใช่ไหมล่ะ

  • จริง ๆ แล้ว การที่ใครจะชอบกันไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลา มันไม่ได้อยู่การทักไปหาอีกฝ่ายให้ครบ 21 วัน แล้วเขาจะชอบหรือสนใจในตัวเรา แต่อยู่ที่ระหว่างคุณสองคนคุยกัน เราทั้งคู่รู้สึกดีต่อกันไหมต่างหาก

  • เพราะงั้นถ้าคุณลองหายไปในวันที่ 22 แล้วไม่มี Action ใด ๆ จากอีกฝ่ายโต้ตอบกลับมา มันก็มีอยู่ 3 เหตุผล คือ 1. เขาไม่ได้สนใจในตัวคุณเลย 2. เขาแค่สงสัยว่าคุณหายไปไหน แต่ไม่ได้ทวงถาม 3. เขาอาจจะชอบก็ได้ แต่ไม่อยากทักก่อน

  • ทั้งนี้ Maltz ไม่เคยกล่าวว่า 21 วันจะเพียงพอที่จะเปลี่ยนนิสัยหรือการรับรู้ทุกครั้ง และเขาเองก็ยังไม่ได้ทำการศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นเพียงแค่ข้อสังเกตเท่านั้น!

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยิน “ทฤษฎี 21 วัน” กันมาบ้างแล้วล่ะ บางคนก็เคยใช้ทฤษฎีนี้ทักไปหาคนที่แอบชอบ บางคนใช้ทฤษฎีนี้ในการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือสอบ การทำงาน การออกกำลังกาย การฝึกฝนหรือทำสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อให้เกิดความเคยชิน แต่จริง ๆ แล้วทฤษฎี 21 วันนี้จะใช้ได้จริงอย่างที่ใครว่าไว้หรือเปล่า มาหาคำตอบไปพร้อมกัน!

ทฤษฎี 21 วัน มาจากไหน ?

ทฤษฎี 21 วันมาจากหนังสือ “Psycho-Cybernetics” ของ Dr. Maxwell Maltz จริง ๆ อาจยังไม่ถึงขั้นเป็นทฤษฎีสักเท่าไร เพราะเป็นเพียงแค่ข้อสังเกต ซึ่งยังไม่ได้ทำการศึกษาอย่างจริงจัง

ทฤษฎี 21 วัน กับการทดลองหายไป

สำหรับคนที่เคยทักไปหาคนที่ชอบ 21 วัน แล้ววันที่ 22 ลองหายไป เพื่อรอดูว่าเขาจะทักมาหาเราไหม จากการรวบรวมความคิดเห็น บางคนก็บอกว่าเขาทักมานะ แต่บางคนบอกว่าทำแล้วก็หายเงียบไปเลย!

ทำไมผลลัพธ์ถึงไม่เหมือนกัน ?

จริง ๆ แล้ว การที่ใครจะชอบกันนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลา บางคนคุยกันแค่แป๊บเดียว ถ้ารู้สึกคลิก ก็อาจจะทักมาถามไถ่ตอนที่อีกฝ่ายเงียบหายไป โดยไม่ต้องรอให้ถึง 21 วันก็ได้ บางคนคุยกันมาเป็นปี แล้วจู่ ๆ คนหนึ่งเงียบหายไป อีกฝ่ายไม่ทวงถามเลยก็มี  

ทำไมผลลัพธ์ของการใช้ทฤษฎี 21 วันถึงไม่เหมือนกัน

และการที่เราทักไปครบ 21 วัน เราเองนั่นแหละที่ติดเป็นนิสัย เพราะเราคือผู้กระทำ ซึ่งเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังทดสอบทฤษฎี 21 วันนี้กับเขา เพราะงั้นถ้าคุณลองหายไปในวันที่ 22 แล้วไม่มี Action ใด ๆ จากอีกฝ่ายโต้ตอบกลับมา มันก็มีอยู่ 3 เหตุผล คือ

1. เขาอาจไม่ได้สนใจในตัวคุณเลย
2. เขาแค่สงสัยว่าคุณหายไปไหน แต่ไม่ได้ทวงถาม
3. เขาอาจจะชอบก็ได้ แต่ไม่อยากทักก่อน

ทักไป 21 วัน แต่ไม่มีการตอบโต้ เป็นเพราะ?

เพราะที่ผ่านมาคุณเป็นฝ่ายเริ่มก่อนตลอด ซึ่งเขาเป็นฝ่ายที่โดนจีบ สำหรับบางคน 21 วันมันก็วัดไม่ได้หรอกว่าคุณจริงจังไหม (ต้องเข้าใจว่าบางคนฟอร์มเยอะ ชอบรอให้อีกฝ่าย Take action ก่อน) แล้วจู่ ๆ ดันหายไป เขาก็อาจจะคิดว่า “ไม่จริงจังหรือเปล่า” หรือ “อาจจะไม่ได้ชอบเราจริง ๆ ก็ได้” สุดท้ายจุดจบก็คือเงียบหายไป… นอกเสียจากคุณทนไม่ไหวแล้วทักไปหาเขานั่นแหละ “อย่าใช้ทฤษฎี 21 วัน ทดสอบความสำคัญ” เผลอ ๆ จะเป็นตัวคุณเองที่กระวนกระวาย เพราะเขาไม่ทักมา

ทดสอบทฤษฎี 21 วัน

แต่สำหรับคนที่มี Action กลับมา ก็ไม่ได้หมายความว่าเขารู้สึกดีหรือมีใจให้เราเสมอไปนะ บางคนแค่อยากหาคนคุยแก้เหงา ต้องดูพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เซนส์ของมนุษย์ย่อมดูออกอยู่แล้วว่าใครรู้สึกยังไง บางคนเหมือนกำลังจะไปได้สวย แต่สุดท้ายจบด้วย “ไปได้ดี” ก็มีถมเถไป    

“ในเรื่องของความสัมพันธ์ ทฤษฎี 21 วันไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน บางคนเขาอาจจะชอบคุณจริง ๆ ก็ได้ แต่ก็เลือกที่จะไม่ทักก่อน บางคนอาจจะไม่ได้ชอบ แต่ก็ทักมาเพราะหาคนคุยด้วย อย่าเอาเลข 21 มาเป็นตัวชี้วัดว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบคุณ”  

ทฤษฎี 21 วัน ใช้ได้ผลกับทุกเรื่องจริงไหม

ทฤษฎี 21 วัน ใช้ได้ผลกับทุกเรื่องจริงไหม ?

ความจริงแล้ว Maltz ไม่เคยบอกว่า 21 วันนั้นเพียงพอที่จะเปลี่ยนนิสัยหรือการรับรู้ได้ทุกอย่าง อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าเขาเองก็ยังไม่ได้ทำการศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นเพียงแค่ข้อสังเกตเท่านั้น! แต่วลี “21 วันเพื่อสร้างนิสัย” ดันแพร่กระจายไปในระยะเวลาอันสั้น ทำให้คนตื่นเต้นและเริ่มเชื่อ ในไม่ช้าเรื่องนี้ก็ปรากฏขึ้นในหนังสือและงานสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง แล้วผู้คนก็พากันเชื่อไปเสียอย่างนั้น

คำตอบ: “แล้วแต่ความแตกต่างของคน

เราทุกคนมีความแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเกิดจากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลให้บุคลิกภาพของเรานั้นแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะทำอะไรให้ติดเป็นนิสัยได้ภายใน 21 วัน

Phillippa Lally ได้ทำการศึกษาที่ University College London ในปี 2009 เพื่อค้นหาว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการสร้างนิสัย เธอพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนเราใช้เวลา 66 วันในการสร้างนิสัย ซึ่งช่วงระหว่างการตอบสนองนั้นกว้างมาก จาก 18 วันถึง 254 วันเลยทีเดียว นั่นจึงเป็นความหลากหลายที่สามารถบอกได้ว่าทำไมเวลาในการเปลี่ยนแปลงนิสัยของแต่ละคนถึงไม่เท่ากัน บางคนก็น้อย บางคนก็มากเป็นพิเศษ

พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมว่าทำไมบางคนลองทักไปหาคนที่ชอบ 21 วันแล้วทำไมเขาไม่ตอบกลับมา หรือบางคนเปลี่ยนแปลงตัวเองไป 21 วันแล้ว แต่ก็ยังต้องฝืนอยู่ดี ไม่ได้ติดเป็นนิสัยอย่างที่ใคร ๆ เขาว่ากัน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเอาทฤษฎี 21 วันไปใช้กับเรื่องใด ๆ ก็ตาม ถ้าไม่ได้ผล ก็ขอให้เขาใจว่า “ทุกคนมีความแตกต่าง” ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ก็อย่าเอาทฤษฎี 21 วันนี้เป็นตัววัด เพราะถ้ามันใช่ ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 21 วัน

SHARE

RELATED POSTS