ปกป้องสูงวัยที่รัก…ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ | Advertorial
- การใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้นของสูงวัยก็ยิ่งเสี่ยงภัยออนไลน์ การสอดส่องดูแลและช่วยเหลือของลูกหลานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้งานได้อย่างปลอดภัย
- ปัจจุบันผู้สูงอายุต้องเผชิญกับภัยออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ทั้งข่าวปลอม และการหลอกลวงให้เปิดเผยข้อมูลจนต้องเสียทรัพย์สินและความรู้สึก
- ลูกหลานควรช่วยสอนวิธีการใช้งานโซเชียลอย่างเหมาะสมให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจากภัยออนไลน์ เช่น การสอนให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล การปกป้องข้อมูลส่วนตัว และการระวังตัวไม่ให้ความโลภครอบงำ
ในปัจจุบัน ผู้สูงอายุเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพื่อติดต่อสื่อสารกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง รวมถึง ใช้ในการติดตามข่าวสารหรือเพื่อความบันเทิง ในขณะเดียวกัน ภัยออนไลน์ก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ของเหล่ามิจฉาชีพ เนื่องจากมักจะขาดความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีอย่างถ่องแท้ ทำให้ตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ได้ง่าย ดังนั้น หน้าที่สำคัญของลูกหลานคือการเข้ามาช่วยเหลือสอดส่องพฤติกรรมการใช้งานของผู้สูงอายุ เพื่อให้ใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย
รวม 7 ภัยออนไลน์คุกคามสูงวัย
1. ข่าวปลอม
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตือนว่า ข่าวปลอมเป็นภัยออนไลน์ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้คนสามารถเผยแพร่ข้อมูลบนสื่อโซเชียลได้อย่างเสรี ทำให้มีทั้งข้อมูลจริงและเท็จปะปนกัน ผู้สูงอายุที่ขาดทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลจึงมักตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้ง่าย โดยเฉพาะข่าวที่ทำให้เกิดความตระหนกในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด จนเกิดคำว่า‘Infodemic’ ที่มาจากคำว่า information ที่แปลว่าข้อมูล และ Epidemic ที่แปลว่า การแพร่ระบาด รวมแล้วหมายถึงการแพร่ระบาดของข้อมูลที่หลากหลายคล้ายกับไวรัส
2. หลอกลวงซื้อสินค้า
การหลอกให้ผู้สูงอายุซื้อสินค้าเป็นภัยออนไลน์ที่พบได้บ่อย ๆ โดยมักเกิดกับผู้สูงอายุวัยหลังเกษียณที่มักใช้เวลาว่างในการไถฟีดบนสื่อต่าง ๆ ทำให้เจอกับโฆษณาสินค้าหรือบริการที่น่าสนใจ และตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้น แต่เมื่อจ่ายเงินไปแล้ว กลับไม่ได้รับสินค้าหรือได้สินค้าไม่ตรงปก รวมถึง บางครั้งอาจถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายเมื่อรับประทาน
3. หลอกให้โอนเงิน
ช่วงนี้ทุกคนอาจเห็นข่าวบ่อย ๆ ว่ามีผู้สูงอายุถูกแก๊งคอลเซนเตอร์แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือมีสวัสดิการผู้สูงอายุ เพื่อหลอกลวงให้โอนเงิน ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนที่ตามไม่ทันกลโกงเหล่านี้ ตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ได้ง่าย เนื่องจากมิจฉาชีพมักจะใช้วิธีการข่มขู่หรือทำให้กลัว จนผู้สูงอายุรีบโอนเงินให้ด้วยความหวาดกลัว รวมถึง บางครั้งอาจมีการหลอกขอข้อมูลส่วนตัว เพื่อเข้าถึงช่องทางการเงินหรือนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด
4. หลอกให้รัก
การหลอกให้ผู้สูงอายุเกิดความรักและความผูกพันผ่านโซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งภัยออนไลน์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพังหรือห่างไกลจากลูกหลาน เนื่องจากผู้สูงอายุบางรายต้องเผชิญกับความสูญเสียคนที่รักมาก่อนหรือรู้สึกเหงาหลังวัยเกษียณ จึงหวั่นไหวกับคนแปลกหน้าที่เข้ามาตีสนิทได้ง่าย และเมื่อผู้สูงอายุเกิดความไว้ใจก็มักจะหลอกลวงเอาทรัพย์สินไป
5. หลอกลงทุน
ภัยออนไลน์ที่มิจฉาชีพหลอกลวงให้ผู้สูงอายุลงทุนเป็นปัญหาที่เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินก้อนหลังเกษียณ จึงต้องการลงทุนเพื่อเพิ่มพูนมูลค่าเงินที่มีให้งอกเงย จะได้ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานมากเกินไป มิจฉาชีพมักจะใช้วิธีการเสนอการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อและนำเงินไปลงทุนในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง จนท้ายที่สุดต้องสูญเงินทั้งหมดที่มี
6. พนันออนไลน์
นอกเหนือจากการหลอกลวงให้ลงทุนกับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง พนันออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของภัยออนไลน์ที่พบได้บ่อย มิจฉาชีพจะใช้การโฆษณาชวนเชื่อว่าพนันออนไลน์สามารถสร้างรายได้ได้เร็วและไม่ต้องออกแรงมาก เมื่อผู้สูงอายุรู้สึกเหงาและอยากหารายได้เสริมจึงหลงเชื่อได้ง่าย จนเสียเงินจำนวนมากโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากระบบที่ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้งานเสพติดและลงเงินเล่นพนันอย่างต่อเนื่อง
7. หลอกขายประกัน
การหลอกลวงให้ผู้สูงอายุซื้อประกันสุขภาพเป็นอีกหนึ่งภัยออนไลน์ที่เป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ เมื่อมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนจากบริษัทประกัน พร้อมเสนอแผนประกันที่ดูน่าเชื่อถือหรือขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อดำเนินการซื้อประกันที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อได้ง่าย และสุดท้ายอาจสูญเสียทั้งเงินและข้อมูลส่วนตัว
ช่วยสูงวัยรู้ทันป้องกันภัยออนไลน์
ในยุคดิจิทัลที่ภัยออนไลน์คุกคามหลากหลายรูปแบบและซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ บทบาทของลูกหลานในการเป็นเกราะป้องกันให้กับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการป้องกันภัยออนไลน์ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจากอุบายในยุคดิจิทัล ดังนี้
- จงจำไว้ว่าของฟรีไม่มีในโลก ควรระวังเมื่อได้รับข้อความหรือข่าวสารที่ดึงดูดด้วยคำว่า ‘ฟรี’ และมาพร้อมลิงก์ให้คลิก เพราะนำไปสู่การขโมยข้อมูลส่วนตัว ต้นเหตุหลักของภัยออนไลน์
- ไม่ให้ข้อมูลกับใครง่าย ๆ หากมีคนแอบอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ให้บริการ แล้วขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อทำการตรวจสอบ เพราะอาจเสี่ยงต่อภัยออนไลน์จากการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ดี
- ตรวจสอบแหล่งข้อมูลก่อนช่วยเหลือ อย่าปล่อยให้ความใจดีทำให้รีบร้อนจนต้องเผชิญภัยออนไลน์ เมื่อได้รับการขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเมื่อมีการแอบอ้างว่าลูกหลานเดือดร้อน และขอให้ช่วยโอนเงินหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายได้
- ไม่มีการลงทุนไหนที่ง่ายและได้กำไรดีโดยไม่มีความเสี่ยง ดังนั้น หากมีใครมาชักชวนให้ลงทุนและอ้างว่ารายได้ดี อย่าหลงเชื่อภัยออนไลน์ที่ล่อใจและโอนเงินโดยไม่ตรวจสอบก่อนให้ดี
- อย่ารีบร้อนส่งต่อข้อมูล เมื่อได้รับข้อมูลหรือข่าวสารควรตรวจสอบเนื้อหาและแหล่งที่มาด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันการส่งต่อข้อมูลเท็จและก่อให้เกิดภัยออนไลน์ต่อผู้อื่นต่อไป
การดูแลผู้สูงอายุให้ใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัยไม่ใช่แค่การป้องกันภัยออนไลน์ แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พวกท่านได้เชื่อมต่อกับข่าวสารและโลกภายนอก เพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ความเหงาที่น้อยลง แล้วอย่าลืมหาเวลาว่างไปเยี่ยมเยียนและช่วยสอนเทคนิคการใช้โซเชียลให้ปลอดภัยพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในยุคดิจิทัล