รู้จัก “กราฟฟิตี้” (Graffiti)
ศิลปะตีแผ่ความจริงบนกำแพง
หากคุณเดินไปตามถนนแล้วเห็นสเปรย์พ่นเป็นคำสบถหรือชื่อแก๊งบนกำแพง คุณอาจคิดว่าเขาคือพวกมือบอน ถ้าพ่นออกมาสวย ๆ คุณจะบอกว่ามันคือศิลปะ ซึ่งบางอันถูกยกให้เป็น Art Street แต่ทั้งสองอย่างนั้นเราเรียกมันว่า “กราฟฟิตี้” และกราฟฟิตี้ก็ไม่เหมือนกับ Art Street อย่างที่เราเข้าใจ มันมีเส้นเบลอ ๆ คั่นอยู่ ยังไง ? มาดูกัน
กราฟฟิตี้คืออะไร
กราฟฟิตี้ (Graffiti) คือ ภาพที่เกิดจากการขีดเขียนลงบนผนังหรือกำแพง
นอกจากนี้หนังสือ Freight Train Graffiti ได้นิยามคำว่ากราฟฟิตี้ว่า “กราฟฟิตี้เป็นวัฒนธรรมนอกกระแสที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของความเป็นขบถ ราวกับว่ามันก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซ่าน เป็นสุข เวลาที่ศิลปินกราฟฟิตี้ได้ท้าทายต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามกีดกันและกำจัดกราฟฟิตี้ให้หมดไป”
กว่าจะเป็นกราฟฟิตี้
กราฟฟิตี้ (Graffiti) มาจากภาษากรีกคือ Grafito แปลว่าการขีดเขียนภาพลงบนผนังในสมัยโบราณ ซึ่งสมัยนั้นเป็นแค่เป็นรอยจารึกหรือรอยขีดข่วน จนกระทั่งเป็นอักษรเฮียโลกลิฟิก ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ ถือว่าเป็นกราฟฟิตี้ในยุคนั้น
กราฟฟิตี้ได้เริ่มต้นอีกครั้งที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา สาเหตุมาจากการเหยียดสีผิวที่สร้างความเป็นอื่นในสังคม จนทำให้พวกเขาออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านกราฟฟิตี้และแร็ปที่เต็มไปด้วยคำด่าทอ
ทศวรรษที่ 60 กราฟฟิตี้ได้แพร่ไปที่นิวยอร์กโดย JULIO204 ไรเตอร์จากสลัมย่านบรองซ์ และในปี 1969 “ทากิ” เจ้าของกราฟฟิตี้ TAKI 183 ผู้เป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นยุคสมัยของนักเขียนกราฟฟิตี้ก็ถูกสัมภาษณ์และตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส จนคำว่า TAKI 183 เริ่มปรากฏตามสถานที่สำคัญ เช่น รถไฟใต้ดิน บอร์ดเวย์ สนามบินเคนเนดี สร้างแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นเริ่มออกมาเขียนชื่อตัวเองตามที่สาธารณะและได้รับความนิยมต่อมาเรื่อย ๆ เริ่มมีคนไปเขียนตามโบกี้รถไฟ ตู้คอนเทนเนอร์
กระทั่งปี 1972 TOPCAT ได้นำเทคนิคการเขียนใหม่มาใช้ นั่นก็คือตัวอักษรที่เขียนต่อกันเป็นแถวยาว ๆ ซ้อนทับกัน กลายเป็นที่ฮอตฮิตในหมู่ไรเตอร์นิวยอร์ก พวกเขาเรียกมันว่า “Broadway Elegant”
ปี 1963 เริ่มเห็นว่าวัยรุ่นไม่ทำอะไรนอกจากหาพื้นที่พ่นกราฟฟิตี้ จึงจัดให้มี “ทากิอวอร์ด” เพื่อคัดเลือกกราฟฟิตี้ที่ดีที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงที่คนหลงใหลกราฟฟิตี้มากไม่ต่างจากหลงใหลดนตรีร็อกแอนด์โรลเลย หลังจากนั้นก็เริ่มแพร่ไปยุโรป นิวยอร์กเองก็ยังคงจัดกิจกรรมเกี่ยวกับกราฟฟิตี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำกราฟฟิตี้เข้าสู่พื้นที่จัดวางอย่างเป็นระบบ
ปี 1994 กราฟฟิตี้ก้าวไปสู่ระดับสากลโดยเว็บไซต์ Art Crimes ที่เป็นแหล่งรวมกราฟฟิตี้ โดยในปี 1999 เว็บไซต์ของเขามีภาพกราฟฟิตี้มากกว่า 3,000 ภาพจาก 205 เมืองใน 43 ประเทศทั่วโลก ทำให้นักกราฟฟิตี้หน้าใหม่โผล่มาเรื่อย ๆ นิตยสารกราฟฟิตี้ก็แพร่หลายมากขึ้นด้วย
ประเภทของกราฟฟิตี้
1. Tag การเซ็นชื่อหรือนามแฝง มักใช้สีเดียว และพ่นตัวเกี่ยว ๆ กันให้อ่านไม่ออกเพื่อให้สะดุดตา
2. Throw-ups การเขียนเร็ว ๆ มักใช้สีขาว-ดำ ตัดขอบให้ดูมีมิติ ไม่เน้นสวยและละเอียดเพราะต้องรีบเขียน
3. Bubble/ Block การเขียน Tag ให้มีมิติมากขึ้น เน้นสวยงาม ละเอียด ส่วนใหญ่ใช้ 3 สี
4. Character การพ่นเป็นรูปคน การ์ตูน ดารา นักร้อง หรือออกแบบเองเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว
5. Piece การพ่นที่เน้นรายละเอียดกว่าประเภทอื่น ใช้เวลานาน และเป็นผลงานของกราฟฟิตี้เพียงคนเดียว
6. Wildstyle/ Wickedstyle เน้นสวยงามเหมือนกับ Piece แต่ตัวอักษรจะละเอียดและซับซ้อนมากขึ้น อ่านยาก เป็นการโชว์เหนือหรือแสดงเอกลักษณ์ของตัวเอง
7. Production เป็นการรวมกราฟฟิตี้ทุกประเภทเข้าด้วยกัน โดยมีนักกราฟฟิตี้หลายคนช่วยกันสร้างสรรค์
กราฟฟิตี้ต่างจาก Art Street อย่างไร
Art Street จะรวมทุกเทคนิค ทั้งพ่น เพนต์ ปั้น เน้นความสวยงามมากกว่าเนื้อหาที่จะสื่อ การสร้างงานไม่ผิดกฎเหมือนกราฟฟิตี้ เพราะขออนุญาตก่อน
Graffiti มุ่งไปที่การสื่อความหมาย ปลดปล่อยความคิด ส่วนใหญ่จะเป็นการเสียดสีสังคม การเมือง
กราฟฟิตี้กับการตีแผ่ความจริงในสังคม
หากเป็นสมัยนี้ส่วนใหญ่การแสดงความคิดเห็นหรือภาพวาดเสียดสีสังคมคงอยู่บนโลกโซเชียล แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงอยู่ตามกำแพง เพราะเป็นพื้นที่เดียวที่คนสามารถแสดงความเห็นให้ผู้อื่นรับรู้ได้ ปัจจุบันก็ยังมีคนที่ใช้ศิลปะต่อสู้ทางการเมืองอยู่
ย้อนกลับไปจุดที่ทำให้กราฟฟิตี้กลายเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อตำรวจทำร้ายร่างกาย Michael Stewart จนเสียชีวิตขณะที่เขากำลังพ่นสีบนผนังในสถานีรถไฟ การสูญเสียในครั้งนี้ทำให้ชาวผิวสีในนิวยอร์กลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นจำนวนมาก ผู้คนเริ่มใช้กราฟฟิตี้เป็นอาวุธในการต่อสู้จนกลายเป็นภาพจำ โดยมีสื่อทำหน้าที่เผยแพร่ให้ทั่วโลกรับรู้ นับแต่นั้นมากราฟฟิตี้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อกระตุ้นให้คนที่ผ่านมาพบเห็นรับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่และลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยกัน
ตัวพ่อแห่งวงการกราฟฟิตี้
ถ้าคุณเคยเห็นภาพเสือดำบนกำแพง นาฬิกาที่มีใบหน้าบิ๊กป้อม หรือมิน อ่อง หล่าย กับประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คุณรู้ไว้เลยว่านี่คือผลงานของ Headache Stencil ศิลปินที่จิกกัดการเมืองไทยได้แสบสุด ๆ แม้ว่าจะโดนลบบ่อย แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งอุดมการณ์ของเขาได้
2. Omeka mek
ศิลปินเจ้าของผลงานกราฟฟิตี้ที่มีเอกลักษณ์คือ “หน้ากากหัวกะโหลก” เสมือนเกราะป้องกันตัวจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป มาพร้อมกับลายเซ็นกราฟฟิตี้ทั้งแบบ Tag และ Wildstyle ที่เป็นที่จดจำ ถือเป็นศิลปินในวงการกราฟฟิตี้ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งเลย
3. Blu
ศิลปินชาวอิตาเลียนที่สร้างผลงานกราฟฟิตี้สะท้อนสังคมได้อย่างแยบยล ภาพที่โด่งดังของเขาคือชายหนุ่มที่กำลังถูกโกนหัวเพื่อไปรับใช้ชาติ ซึ่งชายผู้นั้นไม่ได้ถูกล้างสมอง แต่ถูกเอาสมองออกไปจนไม่เหลือความคิดของตัวเอง หรือภาพมือถือหัวเมดูซาที่รู้ดีว่าจ้องตาเมื่อไรคือแข็งเป็นหินตาย แต่แทนที่เส้นผมของเธอจะเป็นหัวงู กลับกลายเป็นหัวจ่ายน้ำมัน สื่อถึงใครเติมก็ตายหมด เดาว่าราคาน้ำมันคงสูงน่าดู
4. Vhils
Vhils เป็นนามแฝงของศิลปินชาวโปรตุเกส ถูกยกย่องให้เป็นศิลปินกราฟฟิตี้ที่มีทักษะและสร้างสรรค์มากที่สุดในโลก ผลงานของเขาไม่ใช่แค่การใช้สีหรือวัสดุอื่น ๆ ทั่วไป แต่มีการใช้สิ่ว ค้อน สว่าน กรด และสารฟอกขาว เพื่อแกะสลักผนัง ผลงานของเขามีความหมายซับซ้อน ทะเยอทะยาน และมักสื่อถึงสามัญชนทั่วไป
5. Blek le Rat
Blek le Rat มาจากการ์ตูนเรื่อง Blek le Roc โดยคำว่า “Rat” (หนู) เป็นแอนนาแกรมของคำว่า “Art” (ศิลปะ) ซึ่งเขาถือว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและการแพร่กระจายของขบวนการศิลปะบนท้องถนน
Blek le Rat เป็นคนแรกที่วาดรูปภาพเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนวาดจริง เพราะเขาไม่อยากอยู่นาน กลัวโดนจับได้ และยังเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ที่คนรู้จักในนาม “father of stencil graffiti” ที่กราฟฟิตี้คนอื่น ๆ ให้การยอมรับ โดยเฉพาะ Banksy เจ้าพ่อกราฟฟิตี้อีกคน ที่มีผลงานโด่งดังคือ “balloon girl” เขาบอกว่าทุกครั้งที่ลงมือวาด เขาจะนึกว่า Blek le Rat กำลังวาดอยู่
ปัจจุบันกราฟฟิตี้ไม่ได้อยู่แค่บนกำแพงในที่สาธารณะเท่านั้น มันได้รับอนุญาตให้ไปอยู่ตามร้านอาหาร ผับ คาเฟ่ต่าง ๆ นอกจากความสวยงาม ความเท่ ยังเป็นข้อความที่เจ้าของร้านอยากสื่อให้ลูกค้ารับรู้ได้ด้วย