จัดระเบียบชีวิต ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ด้วย
“บันทึกแบบบูโจ”
บูโจ (Bullet Journal) คือ วิธีจดบันทึกที่ออกแบบเองได้ เป็นทั้ง Planer, To do list, Diary หรือจะเขียนอะไรก็ได้ที่เราอยากเขียน
แนวคิดการทำบูโจเริ่มมาจากนักเขียนชาวอเมริกัน “ไรเดอร์ แคร์โรล” (Ryder Carroll) เขาเป็นโรคสมาธิสั้น จึงหาวิธีที่ทำให้ตัวเองมีสมาธิและจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้นานขึ้น เลยเลือกการจดบันทึกลงสมุด โดยออกแบบตามสไตล์ตัวเอง เมื่อไปเล่าให้เพื่อนฟัง วิธีการจดของเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
การทำบูโจเหมาะกับคนที่อยากจัดระเบียบชีวิตตัวเอง แต่ไม่ชอบใช้มือถือหรือแท็บเล็ต อยาก Productive แต่ก็อยากมีระบบของตัวเองแบบไม่เครียด รวมถึงคนที่อยากปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและคนที่อยากรู้ว่าที่ผ่านมาทำอะไรบ้าง ตัวเองเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน
หากชีวิตยุ่งเหยิง สับสนจนไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน Short Recap อยากแนะนำให้รู้จัก “บันทึกแบบบูโจ” ที่ช่วยให้เราจัดระเบียบชีวิตได้ดีขึ้น แถมยังจดจำสิ่งที่ต้องทำได้อย่างแม่นยำ แค่ 20 นาทีต่อวันที่เราใช้เวลากับตัวเอง ปลีกตัวจากโซเชียลและความวุ่นวายต่าง ๆ มาทำบูโจ แล้วจะรู้ว่าชีวิตของคุณนั้นเปลี่ยนไป
บูโจ คืออะไร ?
บูโจ ย่อมาจาก “Bullet Journal” คือวิธีการจดบันทึกที่เราสามารถออกแบบเองได้ เป็นได้ทั้ง Planer, To do list, Diary หรือจะเขียนอะไรก็ได้ที่เราอยากเขียน เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เราได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ความรู้สึก แถมยังทำให้เราอยากทำตามแพลนที่วางไว้มากขึ้นอีกด้วย
ที่มาของ “บูโจ”
การทำสมุดบูโจเริ่มมาจากแนวคิดของ “ไรเดอร์ แคร์โรล” (Ryder Carroll) นักเขียนชาวอเมริกันที่เป็นโรคสมาธิสั้น จึงหาวิธีที่ทำให้ตัวเองมีสมาธิและจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้นานขึ้น เลยเลือกการจดบันทึกลงสมุด และได้ออกแบบการจัดระเบียบชีวิตของตัวเองจนทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป แถมยังทำงานได้ดีขึ้น
วันหนึ่งเขาได้นำวิธีนี้ไปเล่าให้เพื่อนฟัง ซึ่งเพื่อนชอบมาก ถึงขั้นบอกว่า “โลกต้องรู้เรื่องนี้” หลังจากนั้นมาวิธีทำบูโจก็ถูกแชร์ลงเว็บไซต์จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ใครบ้างที่ควรใช้บูโจ ?
- คนที่อยากจัดระเบียบชีวิตตัวเอง แต่ไม่ชอบใช้มือถือหรือแท็บเล็ต
- คนที่อยาก Productive แต่อยากมีระบบของตัวเองแบบไม่เครียด
- คนที่อยากรู้ว่าที่ผ่านมาทำอะไรบ้าง เราแตกต่างหรือดีขึ้นจากเมื่อก่อนยังไง
- คนที่อยากปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง แต่ไม่อยากระบายลงโซเชียล
ทำบูโจแล้วดียังไง ?
- ช่วยเตือนความจำ ทำให้เรามีสมาธิ ไม่ต้องว้าวุ่นว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง
- ฝึกให้เป็นคนมีระเบียบ มีวินัยกับตัวเอง
- ได้จัดระเบียบความคิดของตัวเองก่อนเขียนลงสมุด
- ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และได้ทำตามใจชอบ
วิธีทำบูโจ
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าบูโจคือการที่เราจะทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำ ใครจะแต่งเติมสีสันหรือตัดแปะก็ทำได้หมดเลย ดังนั้นพวกวัสดุหรืออุปกรณ์จึงไม่ตายตัวนะ ขอแค่มีสมุดหนึ่งเล่ม คราวนี้เรามาดูวิธีเขียนบูโจคร่าว ๆ กัน
2- 4 หน้าแรกเป็นสารบัญ (Index)
ให้เราเว้นไว้เลย เวลาเขียนอะไรลงไปในสมุดก็ค่อยมาใส่หัวข้อกับเลขหน้าที่สารบัญ จะได้ไม่ต้องเปิดหาว่าอะไรอยู่หน้าไหน
สัญลักษณ์แสดงสถานะ
ในหนังสือแนะนำให้ใช้ “จุด” เพราะจุดสามารถแปลงเป็นอย่างอื่นได้ง่าย จริง ๆ เราจะใช้สัญลักษณ์ที่ตัวเองเข้าใจก็ได้
การใช้สัญลักษณ์ * ควรใช้เฉพาะส่วนที่สำคัญจริง ๆ อย่าใช้พร่ำเพรื่อ เพราะเราจะโฟกัสไม่ถูก
Future log
เขียนงานหรือวันสำคัญในอนาคต ว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคมในปีนี้ต้องทำอะไรบ้าง
Monthly log
ส่วนนี้เราจะเขียนใหม่กันทุกเดือน ทำเป็น Calendar เขียนวันที่ 1 ถึงวันสุดท้ายของเดือน แล้วใส่ task ที่ต้องทำในวันนั้น ๆ (อย่าลืมกลับไปดู Future log แล้วนำมาใส่)
Weekly log
เขียนว่าใน 1 สัปดาห์เราจะทำอะไรบ้าง
เขียนอะไรก็ได้ที่เราอยากเขียน
– ไดอารี
– ไอเดีย/ ความรู้
– ลิสต์หนังที่ดูแล้ว
– เพลงที่ชอบ
– หนังสือที่อ่าน
– เป้าหมายที่ต้องการ
ทริคการทำบูโจ
– การจดควรใช้คำที่กระชับและเราเข้าใจ
– ได้ไอเดียอะไรมาให้รีบจดทันที (ความคิดแรกสำคัญ เก็บไว้ต่อยอดได้)
– ควรเลือกสมุดที่ถูกใจ ทนทาน เพราะเราจะอยู่กับมันทั้งปี
อยากรู้วิธีทำบูโจแบบละเอียด แนะนำ The Bullet Journal Method วิถีบันทึกแบบบูโจ หนังสือที่จะทำให้คุณจัดระเบียบชีวิตได้ดีขึ้น เป็นคนที่ Productive กว่าเดิม
ลองนำวิธีการจดบันทึกแบบบูโจไปใช้กันนะ มาจัดระเบียบตัวเอง ปลดปล่อยอารมณ์กับความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองให้เต็มที่กันเถอะ Short Recap บอกเลยว่ามันดีจริง ๆ