Search
Close this search box.
It's Okay to Not Be Okay

ไขปม 4 รูปแบบการเลี้ยงดูจากซีรีส์

It’s Okay to Not Be Okay

  • ซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay ได้เผยให้เห็นรูปแบบการเลี้ยงดูของ 4 ตัวละครสำคัญ ทั้งมุนซังแท โกมุนยอง มุนคังแท และควอนกีโด
  • การเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน ส่งผลให้บุคลิกและพฤติกรรมของแต่ละคนแตกต่างกันไปด้วย เพราะพ่อแม่คือคนที่ใกล้ชิดกับเราตอนเด็กมากที่สุด จึงเป็นเบ้าหลอมตัวตนของลูก
  • หากเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ เด็กก็จะมีพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม แต่ถ้าเลี้ยงดูแบบควบคุมมากเกินไป หรือเลี้ยงแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะเก็บกด ต่อต้านสังคม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ยาก

It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์เกาหลีที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างหนาหูถึงความน่ารักของตัวพระ-นาง ในขณะเดียวกันก็แฝงแง่คิดเกี่ยวกับการเลี้ยงดูของครอบครัวไปด้วย โดยเฉพาะตัวละครหลักอย่าง “โกมุนยอง” และ “มุนคังแท” ที่เติบโตมาแตกต่างจากเด็กคนอื่น ๆ เพราะมีรูปแบบการเลี้ยงดูที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ตัวละครสองตัวนี้มีปมในใจตลอดเวลา นำไปสู่การหาทางออกโดยการที่ทั้งคู่ต้องมาเติมเต็มกันและกัน

นอกจากนี้ “ควอนกีโด” ลูกชายของ ส.ส. ที่เป็นไบโพลาร์ ที่มาแสดงใน Ep.3 ยังมีปมที่มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูจากครอบครัวเหมือนกันอีกด้วย วันนี้เราเลยจะมาดูกันว่ารูปแบบการเลี้ยงดูอย่างไรที่ส่งผลให้เด็กคนนึงกลายเป็นคนแบบนี้ โดยอ้างอิงจากทฤษฎีของ Diana Baumrinds Parenting Styles ให้ดูกัน

Diana Baumrind’s Parenting Styles

แนวคิดการอบรมเลี้ยงดูของ Diana Baumrind (Diana Baumrind’s Parenting Styles) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้จัดรูปแบบการเลี้ยงดูไว้ 3 แบบ และต่อมา Maccoby and Martin ได้เพิ่มเติมรูปแบบที่ 4 ได้แก่

  1. การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่
  2. การเลี้ยงดูแบบควบคุม
  3. การเลี้ยงดูแบบตามใจ
  4. การเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง

4 รูปแบบการเลี้ยงดู กับ 4 ตัวละครใน It’s Okay to Not Be Okay

รูปแบบการเลี้ยงดู ตัวละคร It's Okay to Not Be Okay

1. มุนซังแท

สำหรับมุนซังแท ถูกจัดอยู่ในการเลี้ยงดูรูปแบบแรกคือ “การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (Authoritative Parenting Style)” แต่เป็นการใส่ใจมากเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นออทิสติก ถือว่าเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด แม้จะมีตั้งกฎระเบียบ แต่มุนซังแทก็ยังได้รับความอบอุ่น ความรัก และการสนับสนุนจากแม่

การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่จากแม่และน้องชาย ทำให้ซังแทสามารถปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีทักษะทางสังคม ให้ความร่วมมือกับผู้ใหญ่ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แม้ว่าเขาจะเป็นออทิสติก แต่เขาก็พยายามทำให้น้องชายเป็นห่วงน้อยที่สุด แต่ในบางครั้ง คังแทก็ยังเป็นห่วงพี่ชายมากเกินไป จนไม่ปล่อยให้เขาได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น การนั่งรถเมล์ไปทำงานที่คังแทมักจะนั่งไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ซังแทจำทางกับสายรถเมล์ได้ ซึ่งอาจทำให้มุนซังแทผู้เป็นพี่ชายคิดว่าตัวเองต้องมีน้องชายอยู่ด้วยไปตลอดชีวิต

โกมุนยอง It's Okay to Not Be Okay

2. โกมุนยอง

สำหรับโกมุนยอง การเลี้ยงดูของแม่เธอถูกจัดว่าเป็น “การเลี้ยงดูแบบควบคุม (Authoritarian Parenting Style)”  ซึ่งมีความเข้มงวดสูง มีการใช้อำนาจควบคุมโดยวิธีบังคับ และไม่ตอบสนองความต้องการของลูก เห็นได้จากการห้ามโกมุนยองคบเพื่อนหรือตัดผม ซึ่งเป็นการจำกัดความเป็นอิสระและความเป็นตัวตนของเด็ก หากไม่ทำตามก็จะถูกลงโทษ

ผลจากการเลี้ยงดูแบบควบคุมจึงทำให้โกมุนยองควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้หรือมีความฉลาดทางอารมณ์น้อย และวิตกกังวลสูงเมื่อเจอเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ อีกทั้งยังขาดความยืดหยุ่น เจ้าระเบียบจนเกินไป ซึ่งเห็นได้จากการที่เธอชอบควบคุมให้ผู้อื่นทำตามที่ตัวเองต้องการ และใครก็ห้ามทำให้เธอไม่พอใจ

การเลี้ยงดูประเภทนี้ทำให้เธอไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ ในทางเดียวกันก็มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวร่วมด้วย  ซึ่งเป็นการเลี้ยงดูแบบควบคุมจากแม่ที่จิตไม่ปกติ ยิ่งทำให้สิ่งที่เธอได้รับในวัยเด็กสร้างบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder หรือ ASPD) รวมถึงเป็นโรคชอบหยิบฉวยของของคนอื่น (Kleptomania) ทั้งที่มีเงินซื้อของเหล่านั้นได้อย่างสบาย

มุนคังแท It's Okay to Not Be Okay

3. มุนคังแท

สำหรับมุนคังแทแล้ว แม้ว่าจะมาจากพ่อแม่เดียวกับมุนซังแท แต่การเลี้ยงดูของแม่เขาเข้าข่าย การเลี้ยงดูแบบควบคุม (Authoritarian) เสียมากกว่า เพราะเขาเป็นคนเดียวที่จะต้องดูแลพี่ชายในยามที่แม่ไม่อยู่แล้ว จึงถูกเลี้ยงมาให้โตเกินวัย และต้องคอยปกป้องพี่ชายอยู่เสมอ ไม่ได้มีความสุขเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน

แม้ว่าจะไม่ได้ควบคุมหนักเท่ากับโกมุนยอง แต่ผลจากการเลี้ยงดูก็ทำให้คังแทกลายเป็นคนที่ต้องเก็บซ่อนความรู้สึกของตัวเอง ต้องคอยอดทนอดกลั้นเพราะทำตามสิ่งที่ต้องการไม่ได้ รวมถึงคำพูดของแม่ที่บอกว่า “ลูกต้องอยู่ข้าง ๆ พี่เขาไปจนวันตายเลยนะ แม่คลอดลูกมาเพราะแบบนั้นแหละ” ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเขาเกิดมาเพราะความรักหรือเกิดมาเพราะมีประโยชน์กับพ่อแม่กันแน่

เพราะสำหรับคังแทแล้ว แม่มักจะรักและสนใจแต่พี่ชาย นอนกอดแต่ซังแท ส่วนเขาได้แต่ดึงเสื้อแม่เอาไว้จากด้านหลัง ความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้คังแทรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยได้รับความอบอุ่นจากแม่เลย แม้ว่าความจริงแล้วแม่จะให้ความรัก แต่ก็ไม่อาจเทียบกับความรักที่แม่มีต่อพี่ชายได้

ควอนกีโด It's Okay to Not Be Okay

4. ควอนกีโด

ใน EP.3 เป็นเรื่องราวของควอนกีโด ซึ่งเป็นลูก ส.ส. ที่ถูกจัดว่าเป็น การเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง (Uninvolved Parenting Style) ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาไม่เก่งเท่ากับพี่คนอื่น ๆ พ่อแม่จึงไม่ให้ความสนใจ ไม่ดูแลเอาใจใส่ และมักจะเพิกเฉยพอ ๆ กับไม่เรียกร้องหรือวางมาตรฐานใด ๆ ให้ปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นเพราะพ่อแม่ปฏิเสธเขาตั้งแต่แรก

การระบายความในใจของควอนกีโดที่พูดว่า

ทั้งพ่อ แม่ พี่ ๆ ลูกพี่ลูกน้อง จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโซลกันหมด มีแต่ผมที่โง่มาตั้งแต่เด็ก แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของผมสักหน่อย ผมแค่เกิดมาไม่เก่งเท่าคนอื่น แต่เขาเห็นว่าผมเรียนไม่เก่งเลยตบตี พอผมไม่เข้าใจอะไรก็ดูถูก ผมก่อเรื่องเลยจับขังไว้ ผมเองก็เป็นลูกเหมือนกันนะ แต่กลับทำเหมือนผมไร้ตัวตน ผมแค่อยากให้มองมาที่ผมบ้าง

การกระทำของครอบครัวต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ควอนกีโดรู้สึกกดดัน มีความเครียดสูง บวกกับความห่างเหินจากครอบครัวทำให้เขาต้องเรียกร้องความสนใจด้วยการทำอะไรบ้า ๆ เพื่อให้คนรอบข้างหันมามอง จนตัวเองกลายเป็นโรคไบโพลาร์ไปแล้วจริง ๆ

จากงานวิจัยยังพบว่าการอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง ส่งผลให้เด็กมีลักษณะต่อต้านสังคม มีความบกพร่องทางสังคมและการเรียน จนกลายเป็นเด็กที่มีปัญหา จึงไม่แปลกที่เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสติดยาเสพติด ทำผิดกฎหมาย หรือเป็นเด็กแว้น เพราะมันคือวิธีที่จะเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้างได้

ใครที่มีโอกาสได้ดูซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay จะเห็นว่าการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวเป็นตัวกำหนดว่าเด็กจะเป็นคนแบบไหนเมื่อเติบโตขึ้น ซึ่งมันยากที่จะเปลี่ยนหากพฤติกรรมหรือความคิดนั้นคือสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เป็น อาจจะด้วยระยะเวลาที่ยาวนานทำให้มันฝังลึกลงไปเรื่อย ๆ จนยากที่จะแก้ไข เพราะฉะนั้น หันมาใส่ใจดูแลลูกและคนรอบข้าง เพื่อให้เขาเติบโตมาเป็นเด็กที่ไม่มีปัญหาและรู้สึกโชคดีที่มีเราเป็นพ่อแม่ดีกว่านะ ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดู ต้องรีบไปตามไปดูแล้วนะ ตอนนี้กระแสมาแรงมาก ๆ

SHARE

RELATED POSTS