วางแผนเกษียณอย่างไร
ให้มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต
การวางแผนเกษียณควรเริ่มตั้งแต่คุณยังเป็นหนุ่มเป็นสาว เพราะกว่าจะเก็บเงินให้ได้ก้อนใหญ่ ต้องใช้เวลานาน และไม่ง่ายที่จะเก็บได้ตามจำนวนเงินที่คำนวณไว้
การจะรอให้ลูกหลานมาเลี้ยงดู หรือรอรับสวัสดิการสูงอายุถือว่าเสี่ยงมาก เพราะเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ยิ่งช่วง Covid-19 เศรษฐกิจตกต่ำลง แต่ละคนก็ต้องเอาตัวรอด เพราะฉะนั้น พึ่งพาตัวเองดีที่สุด
จำนวนเงินที่ควรมีหลังเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเกษียณ x จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
การวางแผนเกษียณคุณจะพึ่งแค่การออมด้วยตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการลงทุนอื่น ๆ เพิ่ม
ทำไมต้องวางแผนเกษียณให้เร็วที่สุด
สิ่งที่คุณต้องเจอเมื่อ “เกษียณอายุ” คือ “คุณจะหยุดทำงานประจำ” และ “ไม่มีรายได้หลักอีกต่อไป” ซึ่งในวัย 55-60 ปี เราเดินทางมาแค่ครึ่ง แต่ยังไม่ถึงค่อนชีวิตเลยด้วยซ้ำ แล้วชีวิตที่เหลืออยู่อีก 20-30 ปี ยังต้องกินต้องใช้ หากไม่มีการวางแผนเก็บเงินไว้ช่วงเกษียณ บอกเลยว่าลำบากแน่นอน
ถ้าจะออมตอนใกล้ ๆ เกษียณ จำนวนเงินที่ออมก็ต้องเยอะมากถึงจะพอใช้ทั้งชีวิต ซึ่งโอกาสเป็นไปได้น้อย เพราะยิ่งอายุเพิ่มขึ้น ความรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงขึ้น และช่วงวัยนี้บางคนก็มีครอบครัวกันเกือบหมดแล้ว เตรียมวางแผนเกษียณไว้แต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า
“อย่ารอให้ลูกหลานเลี้ยง”
___________________
การจะรอให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูหรือรอรับสวัสดิการสูงอายุถือว่าเสี่ยงมาก เพราะเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ยิ่งช่วง Covid-19 เศรษฐกิจก็ยิ่งตกต่ำลง แต่ละคนก็ต้องเอาตัวรอด เพราะฉะนั้น พึ่งพาตัวเองดีที่สุด วางแผนเกษียณไว้ตั้งแต่ตอนนี้ จะได้ไม่ต้องกังวลว่าในอนาคตชีวิตจะมีเงินใช้ถึงบั้นปลายหรือเปล่า
วางแผนเกษียณให้มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต
1. กำหนดอายุที่ต้องการเกษียณ
ขั้นแรกของการวางแผนเกษียณ คือคุณต้องรู้ว่าตัวเองจะเกษียณตอนไหน จะ 60 ปี หรือ 55 ปี หรือ Early retire ตอน 45 เพื่อให้ตัวเองมีเวลาเตรียมตัวว่าจะเริ่มเก็บเงินเท่าไร หรือไปลงทุนที่ไหน ที่ให้ผลตอบแทนดีไปตลอดจนหลังเราเกษียณ
2. คำนวณช่วงเวลาที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
ขั้นนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าอยากใช้ชีวิตหลังเกษียณกี่ปี อาจจะ 20 หรือ 30 ปี แต่ความจริงแล้วก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราจะมีชีวิตอยู่อีกกี่ปี เอาเป็นว่าอย่าประมาท ตั้งจำนวนปีไว้ประมาณนี้น่าจะพอเหมาะพอดีที่สุด เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ปัญหาสุขภาพก็ตามมาด้วย จะได้มีเงินสำรองเตรียมไว้ ไม่ต้องเดือดร้อนลูกหลาน
3. คำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
การวางแผนเกษียณในขั้นนี้ คุณต้องประเมินจากไลฟ์สไตล์ของตัวเอง บางคนชอบท่องเที่ยว ชอบชอปปิง บางคนอาจมีค่ารักษาโรคเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้น กำหนดไปเลยว่าแต่ละเดือนคุณจะใช้จ่ายเท่าไร แล้วคูณ 12 เดือน เพื่อให้ตัวเองรู้ว่าแต่ละปีคุณจะใช้เงินประมาณเท่านี้นะ เช่น คุณจะใช้เดือนละ 20,000 บาท ใน 1 ปี ค่าใช้จ่ายของคุณก็จะเท่ากับ 240,000 บาท
จำนวนเงินที่ควรมีหลังเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเกษียณ x จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
4,800,000 = 240,000 x 20
เท่ากับว่าชีวิตหลังเกษียณต้องมีเงินถึง 4,800,000 บาทเลยทีเดียว
ปัญหาคือ ถ้าเกิดเงินเฟ้อขึ้นมา เงิน 20,000 บาทต่อเดือนอาจจะไม่พอ เพราะฉะนั้น คิดเผื่อเงินเฟ้อไว้ด้วยก็ดี ปลอดภัยไว้ก่อน!
4. คำนวณรายได้จากกองทุนเพื่อการเกษียณ
การวางแผนเกษียณจะพึ่งแค่การออมด้วยตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ใครมีประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือการลงทุนอื่น ๆ ลองคำนวณไว้เลยว่าจำนวนเงินที่คุณจะได้ทั้งหมดมีกี่บาท
สำหรับใครที่ไม่มีหรือคิดว่ากองทุนเดียวไม่น่าจะพอ เราอยากให้คุณลองหากองทุน แล้วไปลงทุนเพิ่ม เพราะพวกนี้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก
สำหรับคนที่ประกอบอาชีพอิสระ เรามีทางเลือกให้คุณคือกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นกองทุนสำหรับคนประกอบอาชีพอิสระโดยเฉพาะ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ตอบทุกคำถาม เคลียร์ทุกข้อสงสัยกับ “กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)”
ส่วนใครอยากเริ่มลงทุนง่าย ๆ แนะนำ “กองทุนรวม” ทางเลือกของคนที่อยากเริ่มลงทุน เลือกระดับความเสี่ยงได้
อยากให้คนข้างหลังสบาย ได้ทั้งประกันชีวิตและลงทุนไปด้วย แนะนำ รู้จักกับ ‘ประกันชีวิตควบการลงทุน’ จ่าย 1 ได้มากกว่า 2
5. อย่าลืมวางแผนการออมในปัจจุบัน
จากการประมาณค่าใช้จ่ายและเงินจากกองทุนต่าง ๆ ข้างต้น เราก็จะรู้แล้วว่าควรออมเงินเพิ่มอีกเท่าไร แนะนำว่าให้ฝากประจำแบบหักเข้าบัญชีอัตโนมัติ จะได้ไม่ลืมออมเงินทุก ๆ เดือน และไม่ดึงเงินออกมาใช้ก่อน ถ้าจะให้ดีควรแบ่งเงินส่วนที่ออมให้เหมาะสม อย่าหักดิบตัวเองด้วยการออมมาก ๆ จนไม่มีเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ใครที่รู้สึกว่าการเก็บเงินเป็นเรื่องยาก แถมทุกวันนี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง แนะนำ 5 วิธีหยุดปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ แถมมีไว้ให้เก็บ
วางแผนเกษียณไม่ใช่เรื่องยากใช่ไหมล่ะ แค่คำนวณค่าใช้จ่ายต่อปีกับจำนวนปีที่จะใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ ก็รู้แล้วว่าต้องมีเงินเท่าไร แต่เพราะว่ามันไม่ยากนี่แหละ หลายคนก็เลยชะล่าใจ และไม่เริ่มวางแผนเก็บเงินสักที มารู้เอาทีหลังก็ตอนใกล้จะเกษียณ ว่ากว่าจะมีเงินให้ได้เยอะขนาดนั้นมันไม่ง่ายเลย เริ่มวางแผนตั้งแต่วันที่เรายังเป็นหนุ่มเป็นสาวจะดีที่สุด