Search
Close this search box.
ทำงานตอนกลางคืน

เตือน! มนุษย์ที่ชอบทำงานตอนกลางคืน
สมองแล่น
..แต่ซ่อนภัยร้ายแรง

  • เคยรู้สึกไหมว่า..ทำไมเวลาที่เราทำงานตอนกลางคืน สมองของเราถึงแล่นกว่าปกติ แถมไอเดียสร้างสรรค์มักจะชอบโผล่ ๆ มา ส่วนตอนกลางวันนั้นเราแทบจะคิดงานไม่ออกเลย แถมยังรู้สึกเชื่องช้า กระวนกระวาย เป็นแบบนี้แสดงว่าทำงานตอนกลางคืนนั้นดีกว่าใช่ไหม ?
  • ก็ดีนะ..แต่ไม่มากเท่าไร แถมผลเสียที่ตามมาทีหลังน่ากลัวกว่าที่คิด ซึ่งส่งผลในระยะยาวที่อาจทำให้กลับมาเหมือนเดิมได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิวพรรณ รูปร่าง และโรครุมเร้าต่าง ๆ
  • อย่าคิดว่าเรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้นแค่ตอนแก่นะ ลองสังเกตใบหน้า รูปร่าง ความจำของตัวเองดูว่าต่างจาก 3 ปีที่แล้วยังไง

สำหรับใครที่ติดนิสัยทำงานตอนกลางคืน คุณจะพบว่างานของคุณออกมามีคุณภาพมากกว่า หรือปิ๊งไอเดียเจ๋ง ๆ ออกมาได้ดีกว่าตอนทำงานในช่วงกลางวันใช่ไหม ซึ่งจากการทดสอบในต่างประเทศพบว่า…อากาศที่ร้อนส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง และนี่อาจเป็นหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคุณถึงไม่ชอบทำงานช่วงตอนกลางวัน เพราะทำกลางคืนอากาศเย็นกว่า แถมคิดงานได้ไวอีกต่างหาก

แต่หารู้ไม่ !!! ว่าการทำงานตอนกลางคืนซ่อนภัยร้ายแรงกว่าที่คิด แม้ว่างาน ๆ นั้นจะออกมาดี แต่ถ้าฝืนทำงานดึกต่อไป งานดี ๆ ก็อาจจะผลิตออกมาได้ไม่กี่ชิ้น…เพราะร่างกายคุณอาจไม่ไหวแล้ว

ผลเสียจากการชอบทำงานตอนกลางคืน

1. แก่ก่อนวัย

ทำงานตอนกลางคืน แก่ก่อนวัย

ผลเสียจากการทำงานตอนกลางคืนอย่างแรกที่หลาย ๆ คนคงไม่ค่อยพอใจเท่าไร โดยเฉพาะผู้หญิง นั่นก็คือเรื่องผิวพรรณ จากที่เคยสดใสกลับเริ่มมีริ้วรอย เริ่มหย่อนคล้อย รอยดำหายช้า ใบหน้าหมองคล้ำ ทำให้ดูโทรม แถมสิวยังขึ้นง่ายอีกด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลกระทบจากการทำงานดึกทั้งนั้น เนื่องจากร่างกายไม่ได้พักในช่วงที่ร่างกายปล่อยฮอร์โมนออกมาซ่อมแซม

2. อ้วนง่ายกว่าปกติ

ทำงานตอนกลางคืน อ้วนง่ายกว่าปกติ

ยิ่งดึกยิ่งหิว แถมยังต้องทำงานอีกด้วย ทีนี้ก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้น บ่อยครั้งจึงทำให้เราต้องทานอาหารในช่วงกลางคืน แน่นอนว่าถ้ากินดึกจะต้องอ้วนขึ้นอยู่แล้ว แต่ถึงไม่กินอะไรเลย คุณก็จะยังอ้วนง่ายอยู่ดี เพราะคนที่ชอบทำงานตอนกลางคืนส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องการนอนน้อย ซึ่งจากการทดลองให้ผู้ใหญ่ 16 คน นอนแค่วันละ 5 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 คืนเต็ม ทุกวันน้ำหนักจะขึ้นเฉลี่ยคนละเกือบ 1 กิโลกรัมเลย

3. ระบบย่อยมีปัญหา

ทำงานตอนกลางคืน ระบบย่อยมีปัญหา

สำหรับมนุษย์ชอบทำงานกลางคืน จงรู้ไว้เลยว่าระบบย่อยของคุณจะเริ่มผิดปกติ การหลั่งฮอร์โมนในทางเดินอาหารจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป ทำให้บางครั้งท้องผูก หรือบางรายอาจเป็นโรคกระเพาะ เพราะกรดหลั่งมากเกินไป แต่ไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย หนักไปกว่านั้นคือถุงน้ำดีทำงานบกพร่อง การจัดส่งน้ำดีไปเพื่อย่อยอาหารก็จะขาดสมดุล หากเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปสักระยะ อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้

4. อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย

คนที่ชอบทำงานตอนกลางคืนส่วนใหญ่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วมักจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิดระหว่างวันเมื่อเจออะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ อาการนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะเมลาโทนินหรือสารที่ช่วยให้หลับนั้นหลั่งน้อยลง ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ของเราด้วย โดยอาการเหล่านี้มักเกิดกับคนที่นอนไม่พอหรือหลับไม่สนิท เนื่องจากเวลานอนเหลือน้อย ซึ่งบางคนอาจจะพะวงว่าจะตื่นเช้ามาทำงานไม่ทัน

5. เสี่ยงเป็นโรครุมเร้า

ทำงานตอนกลางคืน เสี่ยงโรครุมเร้า

การทำงานตอนกลางคืน ดึก ๆ ดื่น ๆ ไม่ยอมนอนนั้นเสี่ยงเป็นโรคหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดัน มะเร็งลำไส้ รวมถึงโรคซึมเศร้า มาดูกันว่าทำไมการทำงานดึกถึงทำให้เราเกิดโรคเหล่านี้

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากสารโปรตีนเข้าไปอุดตันที่เส้นเลือด ทำให้ความดันสูงกว่าปกติ คนที่ชอบทำงานดึก ๆ อาจเสี่ยงเป็นโรคนี้มากถึง 2 เท่า
  • โรคเบาหวาน จากงานวิจัยพบว่าคนที่นอนน้อยหรือนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ อาจนำมาซึ่งโรคเบาหวานได้ เนื่องจากนาฬิกาชีวิตตามธรรมชาติรวน เลยทำให้ร่างกายมีค่าน้ำตาลในเลือดสูง แถมการตอบสนองต่อเซลล์ในตับอ่อน ซึ่งทำหน้าที่ผลิตอินซูลินเพื่อการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดยังผลิตได้ไม่เพียงพอ ทำให้เบาหวานขึ้นนั่นเอง
  • โรคมะเร็งลำไส้ ส่วนใหญ่คนที่ทำงานดึกมักจะตื่นสาย จนไม่มีเวลาทานอาหารเช้า หรืออาหารเช้านั้นไม่ค่อยมีประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบภายในร่างกายเสื่อม โดยเฉพาะลำไส้ที่อาจอักเสบและลุกลามจนเป็นมะเร็งในที่สุด
  • โรคซึมเศร้า หากทำงานดึกจนไม่มีเวลาพักผ่อน สมองจะเริ่มทำงานแย่ลงในระยะเวลา 2 ปี ทำให้ฮอร์โมนที่สร้างสารแห่งความสุขลดลงตามไปด้วย

6. สมองเสื่อม

ทำงานตอนกลางคืน สมองเสื่อม

เมื่อเราทำงานดึกหรือนอนดึกบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ สมองของเราก็จะเริ่มประมวลผลช้าลง ระหว่างวันเริ่มมีอาการเบลอ ทำอะไรเชื่องช้า คิดอะไรไม่ออก แถมยังหลงลืมได้ง่าย ลองเทียบกับตอนมัธยมดู ตอนนั้นเราอ่านหนังสือหน้าห้องสอบไม่กี่นาที เรายังจำเนื้อหาได้ แต่พอมาอยู่มหาวิทยาลัย เราเริ่มนอนดึกขึ้น การจดจำเนื้อหาเพียงครั้งเดียวกลับไม่พอด้วยซ้ำ นั่นก็เพราะสมองของเราเริ่มเสื่อมจากการนอนดึกบ่อยนั่นเอง

ปรับนิสัยไม่ให้ทำงานตอนกลางคืน

แม้ว่าการทำงานตอนกลางคืนจะทำให้เราได้ไอเดียที่ดี ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่เห็นไหมครับว่าผลเสียของมันที่กล่าวมาไม่ใช่น้อยเลย และถ้าหากฝืนทำงานดึกต่อไปเรื่อย ๆ บอกไว้ก่อนเลยว่าไอเดียบรรเจิดที่ชอบมาตอนดึก ๆ ก็จะไม่ค่อยออกมาแล้วล่ะ เพราะฉะนั้น ต้องรีบปรับ! เริ่มจากสิ่งแรกคือ

          ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน  โดยการจัดโต๊ะให้โล่ง จะช่วยให้สมองปลอดโปร่งมากขึ้น คิดงานออก อย่าลืมควรให้ห้องมีลมเย็นพัดผ่านตลอดเวลา ถ้าเปิดแอร์ก็ต้องไม่หนาวจนเกินไป เอาที่เย็นสบายตัว

          – ฝืนตัวเองให้ทำงานตอนกลางวันให้ได้  ท่องไว้เสมอว่า “ฉันจะได้นอนเร็ว ๆ ตื่นมาสดชื่น หน้าเด็ก มีเวลาไปทำสิ่งที่ชอบได้เยอะขึ้น ไม่ต้องเครียดว่าจะต้องมาทำงานตอนดึกอีกแล้ว”

          กำหนดเดดไลน์  ตั้งเวลาไว้เลยว่างานชิ้นนี้จะเสร็จกี่โมง ถ้าไม่เสร็จให้ต่ออีก 1 ชั่วโมง อย่าหยุดไปทำอย่างอื่นก่อนแล้วกลับค่อยมาทำช่วงดึก ๆ เพราะมันอาจจะกินเวลานอนของเรา

          – เลี่ยงคาเฟอีนช่วงเย็น  บางคนติดนิสัยชอบทำงานดึกเลยต้องดื่มชา/ กาแฟ ซึ่งถ้าอยากจะแก้ปัญหาตรงนี้คงต้องงดคาเฟอีน ไม่อย่างนั้นคุณจะนอนหลับยาก ถึงแม้ว่าจะเลิกทำงานดึกแล้วก็ตาม

          – มีวินัย  ข้อนี้คือไม้ตาย! คุณต้องมีวินัยกับการทำทุกข้อที่กล่าวมา โดยเฉพาะวินัยในการงานและวินัยในการนอน ยืดหยุ่นได้ แต่อย่าบ่อย ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะกลับมาสู่วัฏจักรเดิม (อย่าลืมว่าร่างกายเราอ่อนแอลงทุกวัน ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคก็ยิ่งมากขึ้น)

สุดท้ายแล้ว…ถ้าคุณกลับมาทำงานตอนกลางคืนแบบเดิม เราก็ขอให้คุณนึกถึงสุขภาพตัวเองเอาไว้มาก ๆ นะครับ Short Recap เข้าใจว่าบางคนไม่ได้ตัวคนเดียว ยังมีครอบครัวที่ต้องดูแล และยังมีอีกหลายสิ่งที่อยากทำ ซึ่งถ้าไม่ได้ทำก็คงเสียดายแย่ แต่งานที่มีคุณภาพแต่ต้องแลกมาด้วยสุขภาพมันไม่ยั่งยืนเสมอไปหรอกครับ Short Recap ก็แอบบอกตัวเองอยู่เหมือนกัน

SHARE

RELATED POSTS