‘สัตว์ตายเพราะกินพลาสติก’
การร้องขอชีวิตที่ไร้เสียง
- ไม่น่าเชื่อว่า…คนที่สะเทือนใจกับการเห็นภาพ “สัตว์ตายเพราะกินพลาสติก” เป็นคนเดียวกับคนที่ทำให้สัตว์เจ็บปวด นั่นก็คือ มนุษย์อย่างเรา
- ปัญหา “สัตว์กินพลาสติก” ถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มากในเวลานี้ หลายชีวิตต้องจบลงเพราะกินพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นพะยูนมาเรียม กวางที่เขาใหญ่ และเต่าทะเล
- ทั้ง ๆ ที่มีการรณรงค์ลดพลาสติกมานานแล้ว แต่ปัญหากลับไม่ลดลงเพราะเราอาจไม่ได้ตั้งใจช่วยอย่างจริงจัง และคิดว่าใช้นิดหน่อยคงไม่เป็นอะไร
- เพื่อพิสูจน์ว่าการตายของสัตว์เหล่านี้จะไม่สูญเปล่า และเพื่อต่อชีวิตให้กับสัตว์ที่ยังอยู่ การจัดการกับปัญหาคงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นหน้าที่ทุกคนที่ต้องช่วยกัน
เหตุการณ์ในปัจจุบันที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนบนโลกอย่างมากคงหนีไม่พ้นปัญหา “สัตว์ตายเพราะกินพลาสติก” ซึ่งข่าวล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้คือเหตุการณ์ที่เจ้าพะยูนน้อย “มาเรียม” ต้องจบชีวิตลงด้วยพลาสติกที่อยู่ในท้องโดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดจากสาเหตุนี้ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีข่าวทยอยออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นกวางที่เขาใหญ่มีพลาสติกเข้าไปอัดอยู่ในท้องถึง 3 กิโลกรัม หรือวิดีโออีกากำลังจิกกินถุงพลาสติก รวมถึงเต่าทะเลที่ตายเป็นตัวที่ 4 ใน อ.สัตหีบ เพราะกินเชือกอวนและพลาสติกเข้าไป ไม่รวมข่าวช่วงที่ผ่านมาที่มีหลอดพลาสติกเข้าไปติดในโพรงจมูกของเต่าทะเลอีกด้วย
“มนุษย์ได้ยินเสียงร้องขอชีวิตจากพวกเราไหม”
ภาพที่สัตว์กินหรือติดอยู่ในพลาสติกเหล่านี้ มันคือการร้องขอชีวิตโดยไร้เสียง เพื่อให้มนุษย์ทุกคนตระหนักว่าเรากำลังทำร้ายพวกเขาโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะขยะพวกนี้ก็มาจากพวกเราทั้งนั้น ถุงพลาสติกที่เราใช้หรือหลอดที่เราเผลอทำหล่นตามทางเดิน เราไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะไปที่ไหนต่อ มันอาจจะถูกลมพัดลงไปในคลอง แล้วไหลไปเรื่อย ๆ สู่ทะเล ที่แย่ไปกว่านั้นคือ การพาขยะไปให้พวกเขาถึงถิ่นที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นแคมป์ปิ้งบนเขาหรือปาร์ตี้ริมทะเล ซึ่งเราไม่รู้ว่ามีขยะกี่ชิ้นที่เป็นของเรา แล้วขยะชิ้นนั้นใช่ชิ้นที่ทำให้สัตว์ตายหรือเปล่า
“ไม่มีวันที่พลาสติกจะหมดโลก ตราบใดที่มนุษย์ยังใช้กันอยู่”
เราทุกคนต่างเข้าใจกันดี ไม่ว่ายังไงของบางอย่างก็ต้องใช้พลาสติก ในบางเวลาเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือต่อให้ในอนาคตจะไม่ใช้พลาสติกแล้ว ของเก่ากว่าจะย่อยสลายก็ตั้ง 450 ปี แม้ว่าจะเกิดใหม่อีกกี่รอบ พลาสติกก็ยังคงอยู่
แล้วจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ยังไง
หลายคนก็คงเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องการลดใช้พลาสติกกันมาซักพัก บางองค์กรเริ่มมีมาตรการงดแจกถุง และสถาบันการศึกษาหลายแห่งก็ออกมาวิจัยเรื่องวัสดุทดแทน รวมถึงรณรงค์ให้ช่วยกันลดพลาสติก ซึ่งก็มีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นใช้ถุงผ้า พกแก้วมากดน้ำเอง หรือใช้กล่องข้าวที่ทำจากชานอ้อย แต่ทว่าปัญหายังอยู่เท่าเดิม นั่นอาจเป็นเพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะช่วยโลกอย่างจริงจังหรือเปล่า ใช้นิดหน่อยคงไม่เป็นไร แต่นิดหน่อยหลายคนนี่สิที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ในทุกวันนี้
“เพราะสิ่งที่มนุษย์มีมากกว่าสัตว์คือเวลาที่เจ็บปวด มนุษย์ขอความช่วยเหลือได้ แต่เวลาที่สัตว์เจ็บปวด เราแทบไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้นเลย จนวินาทีสุดท้ายก็ยังไม่ได้ยิน”
เพื่อพิสูจน์ว่าการตายของสัตว์เหล่านี้จะไม่สูญเปล่า และเพื่อต่อชีวิตให้กับสัตว์ที่ยังอยู่ การจัดการกับปัญหาคงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกัน แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้เห็นผลในพริบตา แต่มันก็ยังดีกว่าไม่ช่วยอะไรเลย
“บางอย่างในอดีตเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนปัจจุบันเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิมได้”