Search
Close this search box.
ไม่จ่ายหนี้ กยศ. จะโดนอะไรบ้าง

มาดู! ไม่จ่ายหนี้ กยศ.
จะโดนอะไรบ้าง ? (2021)

เห็นว่าหนี้ กยศ. ดอกเบี้ยต่ำ จ่ายไม่ตรงเวลาคงไม่เป็นไรหรอก อย่าชะล่าใจเชียวล่ะ ใครไม่จ่ายหนี้ กยศ. อาจโดนสิ่งนี้!

ไม่จ่ายหนี้ กยศ. จะเสียค่าปรับ 7.5%

1. เสียค่าปรับและค่าธรรมเนียม

หากไม่จ่ายหนี้ กยศ. ตามกำหนด ตามปกติลูกหนี้ทุกคนจะต้องเสียค่าปรับ 7.5% ต่อปีของเงินต้นงวดที่ค้างชำระ เช่น ปีนี้ต้องจ่าย 10,000 บาท เบี้ยปรับ 7.5% เท่ากับว่าต้องเสียค่าปรับวันละ 2.05 บาท นับแต่วันที่ผิดชำระหนี้

(10,000 x 7.5%) ÷ 365 = 2.05

ข่าวดี! ทาง กยศ. ช่วยเหลือผู้กู้ยืมช่วงโควิด ลดอัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้เหลือ 0.5% ต่อปี ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

2. ถูกฟ้องร้อง

หากไม่จ่ายหนี้ กยศ. เป็นเวลา 4 ปี 5 งวด (1,460 วัน) ผู้กู้จะถูกฟ้องร้อง ต้องไปขึ้นศาลขอไกล่เกลี่ย ถ้าจะให้ถอนฟ้องก็ต้องปิดหนี้ทั้งหมดพร้อมจ่ายค่าทนาย 5,500 บาทด้วย

กรณีไม่ขอถอนฟ้อง แต่ไปตามที่ศาลนัดหมาย สามารถขอผ่อนชำระหนี้ได้ให้เสร็จสิ้นภายใน 9-10 ปี หากไม่ไปตามนัด ศาลจะสั่งพิพากษาชำระหนี้ทั้งจำนวน และบังคับให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันชำระภายใน 30 วัน หลังจากได้รับคำสั่งศาล

3. ยึดทรัพย์

หากผู้กู้ยืมไม่ทำตามคำสั่งศาลและจ่ายหนี้ กยศ. ให้เรียบร้อย กองทุนจะไปสืบทรัพย์ของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน จากนั้นจะยึดทรัพย์และนำไปขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำหนี้ แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ให้ยึดจะถูกอายัดทรัพย์ โดยการหักหนี้ กยศ. จากเงินเดือน

ข้อห้าม

ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันที่ถูกศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว หรืออยู่ระหว่างการสืบทรัพย์ บังคับคดี ห้ามผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกัน ยักย้ายถ่ายเททรัพย์ หรือโอนทรัพย์ให้บุคคลอื่น เข้าข่ายความผิดทางอาญา ฐานโกงเจ้าหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข่าวดี! งดขายทอดตลาด สำหรับทรัพย์สินของผู้กู้และผู้ค้ำประกันจนถึงสิ้นปี 2564 และจะชะลอการบังคับคดีสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564

4. ติดเครดิตบูโร

ในอนาคตถ้าไม่จ่ายหนี้ กยศ. มีแววที่จะติดเครดิตบูโรนะ เพราะตอนนี้ทาง กยศ. เตรียมไปพูดคุยเรื่องระบบข้อมูลกลางสำหรับตรวจสอบเครดิตผู้กู้ยืม แต่จะทำเฉพาะของ กยศ. เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันเงิน เพราะเขายังไม่อยากให้ลูกหนี้เสียเครดิต โดยเครดิตบูโรที่ว่านี้จะทำให้พี่ น้อง ลูก หลาน ของผู้กู้ไม่สามารถขอกู้ กยศ. ได้ในอนาคต    

ไม่อยากถูกฟ้อง ต้องประนอมหนี้ กยศ.

เงื่อนไขในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

1. ต้องยินยอมให้คิดหนี้เต็มจำนวนทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ

2. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วจะลดเบี้ยปรับให้ 75% ของของเบี้ยปรับที่มีอยู่

3. หากผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป จะนำส่วนลดเบี้ยปรับกลับเข้ามาเป็นหนี้ทันที และต้องเสียเบี้ยปรับ 5% ต่อปีของเงินงวดที่ผิดนัด

4. คิดดอกเบี้ย 1% ของเงินที่ค้างชำระ

5. ขยายเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 15 ปี แบ่งตามทุนทรัพย์ดังนี้

– ทุนทรัพย์ไม่เกิน 250,000 บาท ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 9 ปี

– ทุนทรัพย์มากกว่า 250,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 12 ปี 

– ทุนทรัพย์มากกว่า 400,000 บาทขึ้นไป ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 15 ปี

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line@กยศ.คดีและบังคับคดี หรือโทร 02-016-4888

อนาคต! หักหนี้จากเงินเดือน ป้องกันคนไม่จ่ายหนี้ กยศ.

เพื่อป้องกันคนเบี้ยวหนี้ อีกไม่นานกองทุนจะเริ่มหักหนี้ กยศ.จากเงินเดือน แต่ไม่ต้องตกใจไปว่าเขาจะหักเลยโดยไม่บอก เพราะจะมีเอกสารส่งมาแจ้งเราล่วงหน้าก่อน 60 วัน (ส่งไปที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน) จากนั้นทางกองทุนจะส่งหนังสือไปที่นายจ้างให้ทราบล่วงหน้าประมาณ 30 วัน เพื่อให้นายจ้างหักเงินตามที่ กยศ. แจ้ง

*การหักเงินเดือนจะเริ่มก็ต่อเมื่อแจ้งให้นายจ้างทราบอย่างเป็นทางการแล้วเท่านั้น!

กรณีบริษัทยังไม่มีการหัก กยศ. จากเงินเดือน : ผู้กู้สามารถติดต่อยื่นความประสงค์มาที่กองทุนฯ โดยส่งเลขที่ผู้เสียภาษีของบริษัท เพื่อให้กองทุนฯ ประสานงานไปยังนายจ้างได้

กรณีย้ายที่ทำงาน : กองทุนจะตรวจสอบเองว่าเราทำงานที่ไหน และจะส่งหนังสือไปที่นายจ้างเพื่อหักหนี้ กยศ.

กรณีประกอบอาชีพอิสระ : ต้องจ่ายหนี้วิธีการหรือช่องทางเดิม แต่เมื่อไหร่เปลี่ยนงานและมีนายจ้างจะต้องถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ กยศ.

อย่าผิดนัดหนี้ถ้าไม่อยากให้หนี้ยังบานปลาย ขึ้นโรงขึ้นศาล และโดนยึดทรัพย์ พยายามจ่ายหนี้ กยศ. ภายใน 5 กรกฎาคมของทุกปี ยิ่งปิดหนี้เร็วเท่าไหร่ เราจะเสียดอกเบี้ยน้อยลงด้วย

SHARE

RELATED POSTS