Search
Close this search box.
คาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิต กุญแจสู่โลกสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

  • คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือการรับรองปริมาณการลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งสามารถนำไปจำหน่ายในตลาดคาร์บอนได้
  • คาร์บอนเครดิตจึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะระดับองค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
  • โดยปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่กำกับดูแลการซื้อ-ขาย และรับรองคาร์บอนเครดิต เรียกว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

คาร์บอนเครดิต เป็นหนึ่งในมาตรการที่คิดค้นขึ้นเพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อม จึงกลายเป็นโอกาสของภาคธุรกิจที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย วันนี้ Short Recap จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) กันว่า คืออะไร และสำคัญอย่างไร

ทำความรู้จัก ‘คาร์บอนเครดิต’ คืออะไร

คาร์บอนเครดิต คือ

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ เป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะมีกำหนดว่าแต่ละองค์กรสามารถปล่อยได้เท่าไหร่ต่อปี แต่ถ้าหากปล่อยได้ต่ำกว่าที่กำหนดจะนำส่วน ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่เหลือไปขายให้กับองค์กรอื่น ๆ ผ่านตลาดคาร์บอนได้

ตลาดคาร์บอนเครดิตคืออะไร?

ตลาดคาร์บอนเครดิต

ตลาดคาร์บอนเครดิต คือ พื้นที่สำหรับภาคเอกชน องค์กร และภาครัฐ ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองการชดเชยคาร์บอนเพื่อนำไปใช้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดไว้ โดยตลาดคาร์บอนสามารถออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market)

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับจัดขึ้นตามข้อบังคับทางกฎหมาย โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ออกกฎหมายกำกับ และกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีรายละเอียดและข้อบังคับระบุชัดเจน ถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับหากบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบทางกฎหมาย

2. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจจัดตั้งขึ้นโดยไม่มีกฎหมายควบคุม และเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ และไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งสมาชิกสามารถกำหนดเป้าหมายได้ด้วยตนเอง จากนั้นสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ได้มาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจได้

คาร์บอนเครดิตสำคัญอย่างไร

ความสำคัญ คาร์บอนเครดิต

หลายคนอาจสงสัยว่าแท้จริงแล้วคาร์บอนเครดิตมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่ แต่เมื่อมองภาพรวม… คาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนในการร่วมกันลดผลกระทบ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

  • ด้านสิ่งแวดล้อม

คาร์บอนเครดิตเป็นทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้บุคคลและองค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง ด้วยการสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นให้แต่ละภาคส่วนเกิดการปรับตัวมาใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการหาทางออกอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม

  • ด้านเศรษฐกิจ

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ทั้งภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมลงทุนในตลาดคาร์บอน รวมถึงการใช้ช่องทางอื่น ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุตามเป้าหมาย เช่น การใช้เทคโนโลยีสะอาด การใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงการใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ

  • ด้านสังคม

คาร์บอนเครดิตเป็นนโยบายที่ช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ไปจนถึงระดับภาครัฐ เพื่อการรับมือเชิงรุก เช่น การกำหนดกฎหมายควบคุม การตั้งแผนพัฒนาประเทศ โดยในประเทศไทยได้ระบุในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ว่าคาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

  • ด้านเทคโนโลยี

คาร์บอนเครดิตกระตุ้นให้แต่ละหน่วยงานศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อม

สถานการณ์ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

ตามข้อตกลงในพิธีสารโตเกียวได้กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยคาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในกลไกที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อยับยั้งผลกระทบดังกล่าว

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประเทศไทยได้เข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ในฐานะผู้ผลิตคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization: TGO) ภายใต้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction (T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองเรียกว่า เครดิต TVERs รวมถึงมีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและการตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง โดยจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนคนกลางระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ

ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยได้รับความสนใจและมีปริมาณการซื้อขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2565 ราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยต่อตันพุ่งสูงถึง 108.22 บาท แสดงให้เห็นว่าผู้คนให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ T-VER เพื่อซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต

ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ T-VER เพื่อซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต

สำหรับบุคคล หรือองค์กรที่ต้องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย จะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  1. ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER
  2. รับคำขอ ตรวจสอบความครบถ้วนและความถูกต้องของคำขอ เอกสาร และหลักฐาน
  3. พิจารณากลั่นกรอง และทบทวนความถูกต้อง
  4. พิจารณาการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER
  5. แจ้งผลการพิจารณาขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER
  6. ออกหนังสือรับรอง (Certificate) การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER

หากได้อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงได้รู้กันแล้วว่าคาร์บอนเครดิตไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นแค่เรื่องขององค์ขนาดใหญ่เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วหากทุกคนร่วมมือกันคนละเล็กคนละน้อยก็สามารถสร้างพลังอันยิ่งใหญ่เพื่อช่วยรักษาโลกของเราไปพร้อมกัน

SHARE

RELATED POSTS