Search
Close this search box.
startup กับ sme ต่างกันอย่างไร

เปรียบเทียบให้ชัด!
ทุกความแตกต่างระหว่าง “
SMEs กับ Startup”

  • SMEs คือ ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางที่ผลิตสินค้า บริการ รวมถึงธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก
  • Startup คือ ธุรกิจที่ต้องใช้ไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วย และต้องสร้างสินค้าที่คนส่วนใหญ่ต้องการหรือทำให้คนใช้ชีวิตง่ายขึ้น
  • SMEs กับ Startup จึงมีความแตกต่างกันตั้งแต่ขนาดธุรกิจ รูปแบบธุรกิจ แหล่งเงินทุน รูปแบบทรัพย์สิน การเติบโตของธุรกิจ เป็นต้น

สำหรับใครที่กำลังสับสนว่า SMEs กับ Startup แตกต่างกันอย่างไร วันนี้ Short Recap จะพาไปหาคำตอบ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจว่า SMEs กับ Startup คืออะไรกันแน่ พร้อมดูตัวอย่างธุรกิจไปด้วย จะได้เห็นภาพมากขึ้น แล้วค่อยไปดูขนาดธุรกิจ SMEs กับ Startup รูปแบบธุรกิจ รูปแบบทรัพย์สิน และการเติบโตว่าแตกต่างกันอย่างไร ทั้งสองมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง

SMEs และ Startup คืออะไร

SMEs และ Startup คืออะไร

SMEs คืออะไร

SMEs (Small and Medium Enterprises) คือ ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางที่ผลิตสินค้า บริการ รวมถึงธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีส่วนสำคัญคือช่วยให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งจะทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น ยกตัวอย่าง น้ำเต้าหู้ tofusan, ผู้ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ, เจ้าของที่พัก/ โรงแรม, ร้านอาหารคลีน เป็นต้น

Startup คืออะไร

Startup คือ ธุรกิจทั่วไป แต่จะเน้นการเติบโตแบบรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งธุรกิจของคุณต้องโต 1000% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น และต้องสร้างสินค้าที่คนส่วนใหญ่ต้องการ หรือทำให้คนใช้ชีวิตง่ายขึ้น มีความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงเพื่อเสนอขายบริการได้ ยกตัวอย่าง Facebook, Instagram, airbnb, Uber

ความแตกต่างของ SMEs กับ Startup

1. ขนาดธุรกิจ

SMEs : มีขนาดย่อม – ขนาดกลาง

SMEs ขนาดย่อม ด้านการผลิตสินค้าและบริการ จำนวนการจ้างงานต้องไม่เกิน 50 คน ขนาดกลางไม่เกิน 200 คน

SMEs ขนาดย่อม ด้านการค้าส่ง จำนวนการจ้างงานต้องไม่เกิน 25 คน ขนาดกลางไม่เกิน 50 คน

SMEs ขนาดย่อม ด้านการค้าปลีก จำนวนการจ้างงานต้องไม่เกิน 15 คน ขนาดกลางไม่เกิน 30 คน

Startup : ช่วงเริ่มต้นจะมีขนาดเล็กมาก แต่ถ้าสำเร็จยิ่งใหญ่มาก

2. รูปแบบธุรกิจ

SMEs : เป็นสินค้าหรือบริการที่มีอยู่แล้ว โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม แต่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น และสามารถช่วยให้กระบวนการผลิตหรือการบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น

Startup : เป็นการสร้างสิ่งใหม่เพื่อแก้ปัญหาบางอย่างหรือใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วย คอยปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น แอปพลิเคชัน Grab

3. แหล่งเงินทุนที่ใช้เริ่มต้นธุรกิจ

SMEs : เงินลงทุนมาจากเจ้าของกิจการเองหรือจากการกู้ยืม

Startup : อาศัยการลงทุนร่วม หากนักลงทุนมีความสนใจในตัวธุรกิจดังกล่าวก็จะลงทุนให้ก่อน เพื่อผลประโยชน์ในอนาคต

4. รูปแบบทรัพย์สิน

SMEs : สินทรัพย์ที่จับต้องได้

Startup : สินทรัพย์ทางปัญญา

5. การเติบโตของธุรกิจ

SMEs : เติบโตแบบคงที่ และอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสำเร็จ

Startup : เติบโตแบบก้าวกระโดด ภายในระยะเวลาอันสั้น

6. ใครกลัวขาดทุนมากกว่ากัน ?

SMEs : กลัวการขาดทุน เพราะธนาคารหรือเจ้าหนี้จะมาเป็นคนคอยควบคุมการทำธุรกิจ หากไม่สามารถทำกำไรได้ก็อาจไม่ได้เงินทุนสนับสนุน

Startup : ไม่ค่อยกลัวการขาดทุน เพราะแหล่งเงินทุนนั้นไม่ได้มาจากธนาคาร แต่มาจากนักลงทุน

ข้อดี ข้อเสีย ของ SMEs กับ Startup

ข้อดี ข้อเสีย ของ SMEs

ข้อดีของ SMEs

1. ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น แหล่งเงินกู้ สิทธิประโยชน์ทางภาษี และความรู้ในการประกอบธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจด้านการค้า (DBD) สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เป็นต้น

2. ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากบริษัทเอกชนชั้นนำ เช่น นโยบายเพื่อสังคมและชุมชนของแบรนด์ใหญ่

3. ปรับตัว ปรับปรุงได้รวดเร็วกว่าองค์กรใหญ่ เพราะโครงสร้างองค์กรไม่ซับซ้อนมากนัก สื่อสารกันได้ง่าย

ข้อเสียของ SMEs

1. SMEs ส่วนใหญ่ถูกต่อยอดมาจากธุรกิจครอบครัว ระบบการจัดการจึงมีน้อย หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอาจถูกธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีระบบการจัดการที่ดีแซงได้

2. มีโอกาสขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะเงินหมุนเวียนไม่พอกับรายจ่าย

3. อาจเสียภาษีมากขึ้น เนื่องจากรายการบัญชีอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะยังไม่มีระบบบริหารจัดการเอกสารและฐานข้อมูล ซึ่งมีโอกาสที่จะโดนเรียกเก็บภาษีแบบเหมาจ่าย แทนที่จะต้องจ่ายตามจริง

ข้อดีของ Startup

1. ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาล ได้แก่ สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกรมสรรพากร การสนับสนุนกิจการหรืออุตสาหกรรมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และดิจิทัล เป็นต้น

2. การสนับสนุนสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรม เช่น การวางมาตรฐานและกฎเกณฑ์ที่จำเป็น ความปลอดภัยจากการคุกคามโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ Startup Thailand

3. การสนับสนุนสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมจากภาคเอกชน เช่น True Digital Park, 500TukTuks, KBTG, InVent by Intouch เป็นต้น

4. ไม่ต้องใช้เงินทุนของตัวเองมากนัก เพราะมีนักลงทุนลงทุนให้ก่อน

5. อาจมีธุรกิจ Startup ที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ทำให้เติบโตง่ายและเร็วขึ้น เช่น Wongnai กับ LINE MAN

ข้อเสียของ Startup

1. มีความเสี่ยงด้านการเงิน ด้วยความเป็นธุรกิจใหม่ จึงต้องใช้เงินในการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์และเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน อีกทั้งยังมีการแย่งฐานผู้ใช้งานระหว่างกันอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงขาดทุน

2. เสี่ยงไม่ประสบความสำเร็จสูงมาก เนื่องจากไอเดียใหม่ ๆ บางอย่างอาจไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเท่าที่ควร

3. ไม่มีทรัพย์สินถาวร หากไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่สามารถนำทรัพย์สินอื่น ๆ ไปขายทอดตลาดได้เหมือนกับ SMEs เรียกได้ว่าไม่มีมูลค่าทางธุรกิจแล้วนั่นเอง

รู้ความแตกต่างของ SMEs กับ Startup แล้ว หากใครอยากสร้างธุรกิจของตัวเอง ก็อย่าลืมศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเองให้ดี และต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมีข้อดี ข้อเสียเสมอ เพียงแต่เราต้องรู้ว่าจะจัดการยังไงให้ไปรอดเท่านั้นเอง 

SHARE

RELATED POSTS